ก๊าซพม่าอาจซ้ำรอยเอราวัณ

โลกกลม-โลกแบน ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก หรือโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ศาลศาสนา-กาลิเลโอ ความเชื่อกับวิทยาศาสตร์ และกร่อนเซาะ บ่อนทำลาย...


โลกกลม-โลกแบน ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก หรือโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ศาลศาสนา-กาลิเลโอ ความเชื่อกับวิทยาศาสตร์ และกร่อนเซาะ บ่อนทำลาย…

ผมก็ว่า การเมืองบ้านเรา กำลังเล่นบททำลายล้างกันอีกแล้วล่ะครับ ในขณะที่ปัญหาของบ้านเมืองที่สะสมมานาน ไม่ได้รับการชำระสะสางแต่ประการใดเลย

ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งก็คือ ราคาก๊าซธรรมชาติอันเป็นต้นทุนใหญ่ของการผลิตไฟฟ้า ซึ่งหากต้นทุนมาแพงก็แน่นอนว่า ประชาชนก็ต้องแบกรับภาระค่าไฟที่แพงขึ้น

ก๊าซธรรมชาติมีราคาแตกต่างกันตามแหล่งที่มา ก๊าซอ่าวไทย หรือ “Gulf Gas” ราคาต่ำสุดที่ 206.39 บาท/ล้านบีทียู ก๊าซพม่าจากแหล่งเยตากุน ราคา 329.60 บาท ส่วน LNG ก๊าซธรรมชาติเหลวนำเข้า ราคาแพงสุดที่ 542.51 บาท

อัตราส่วนการใช้ก๊าซจากแหล่งผลิตในประเทศอยู่ที่ 55% และนำเข้า 45% (LNG 33%+ก๊าซพม่า 12%) แสดงว่า ยิ่งพึ่งพาการนำเข้ามากขึ้นเท่าไหร่ ค่าไฟก็ยิ่งแพงขึ้นเท่านั้น

ในขณะเดียวกันหากผลิตก๊าซจากแหล่งในประเทศและแหล่งจากพม่าได้น้อยลง โครงสร้างค่าไฟก็จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก

กรณีเช่นนี้ เกิดขึ้นกับการผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณในยุคเชฟรอนเป็นเจ้าของสัมปทานเมื่อปี 2563 เคยผลิตได้ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

แต่เมื่อเปลี่ยนมือมาสู่ปตท.สผ. ผลจากการเข้าพื้นที่ล่าช้าไป 2 ปี ทำให้กำลังผลิตเหลือแค่ 200 ล้านลบ.ฟุต และค่อยขยับขึ้นมาเป็น 400, 600 และจะเป็น 800 ล้านลบ.ฟุตในเดือน เมย.ที่จะถึงนี้ตามลำดับ

ส่งผลค่าไฟขยับจากระดับ 3 บาทมาเป็น 4 บาท และหากไม่มีรายการ “ต๊ะหนี้กฟผ.” และการผสมสูตร (พิสดาร) กัลฟ์ แก๊สใหม่ ค่าไฟก็คงจะระเบิดเถิดเทิงไปกว่า 5 บาทแล้ว

กรณีก๊าซพม่าจากแหล่งยาดานาที่มีกำลังผลิต 500 ล้านลบ.ฟุตและส่งเข้าไทยวันละ 350 ล้านลบ.ฟุตก็เช่นกัน อย่านึกว่าจะได้ใช้ก๊าซราคาถูกในระดับปริมาณนี้ตลอดไป เนื่องเพราะสัมปทานเดิมกำลังจะสิ้นสุดในปี 2571 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า

ผู้ถือหุ้นใหญ่ 41.1% คือเชฟรอน สหรัฐฯ ก็ยังไม่แสดงท่าทีแน่ชัดว่าจะพัฒนาพื้นที่แหล่งนี้ต่อไปหรือไม่ ผู้ถือหุ้นอันดับ 2 (37.1%) คือปตท.สผ.ก็ไม่สามารถขยับอะไรได้ แนวโน้มพื้นที่นี้จะหยุดการพัฒนาเสียมากกว่า และก่อนหมดสัญญา ปริมาณก๊าซที่ขุดได้ก็คงจะลดลงไปเรื่อย ๆ

จากกำลังผลิต 500 ล้านลบ.ฟุต/วัน นำเข้าไทยถึง 70% นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าถึง 12 แห่ง อาจจะผลิตได้ลดลงในช่วง 3 ปีสุดท้าย (ปี 69-71) เหลือเพียง 350-400 ล้านลบ.ฟุต และเหลือส่งมาไทยเพียงแค่ 250-300 ล้านลบ.ฟุตเท่านั้น

ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับกำลังผลิตเชฟรอนในแหล่งสัมปทานเอราวัณเสียนี่กระไร ส่วนที่ขาดหายไปของก๊าซแหล่งยาดานา ก็ต้องไปเพิ่มสัดส่วนนำเข้า LNG ยิ่งจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างราคาค่าไฟเข้าไปอีก

การแก้ปัญหาก๊าซพม่าคงไม่หมู และก็คงไม่ง่ายเหมือนการปรับสูตร (พิสดาร) ราคากัลฟ์ แก๊สเพื่อลดค่าไฟของรมต.พีระพันธุ์

Back to top button