ก.ล.ต.อุดรอยรั่วผิดนัดหนี้หุ้นกู้

ก.ล.ต.ยังคงเดินหน้าอย่างเข้มข้นในการเร่งแก้ไขปัญหาการผิดนัดชำระหุ้นกู้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ทำให้ตลาดทุนไทยขาดความเชื่อมั่นในขณะนี้


เส้นทางนักลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังคงเดินหน้าอย่างเข้มข้นในการเร่งแก้ไขปัญหาการผิดนัดชำระหุ้นกู้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ทำให้ตลาดทุนไทยขาดความเชื่อมั่นในขณะนี้

โดยล่าสุดก.ล.ต.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ออกและเสนอขายตราสารหนี้ และการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้หลักเกณฑ์มีความเหมาะสม รวมถึงผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและทันต่อเหตุการณ์ในการตัดสินใจลงทุน

ในปัจจุบันมีผู้ออกตราสารหนี้จำนวนหนึ่งที่ประสบปัญหามีการผิดนัดชำระหนี้หรือมีเหตุที่ทำให้ต้องขอขยายอายุตราสารหนี้ออกไป ซึ่งแม้ว่าจำนวนบริษัทที่ประสบปัญหา หรือมีเหตุดังกล่าวยังเป็นสัดส่วนที่น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ออกตราสารหนี้และมูลค่าการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด

แต่การผิดนัดชำระหนี้หรือการขอขยายอายุตราสารหนี้ออกไป นับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนตราสารหนี้ หากจะยกตัวอย่างของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ หรือมีเหตุที่ทำให้ต้องขอขยายอายุตราสารหนี้ออกไปและเป็นปมร้อนอยู่ในขณะนี้ เช่น

หุ้นกู้ของบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD จำนวน 5 รุ่น รวมเป็นวงเงิน 14,455 ล้านบาท ซึ่งขอขยายเวลาในการชำระหนี้ออกไปอีก 2 ปี ภายใต้เงื่อนไขจะจ่ายอัตราดอกเบี้ยเพิ่มให้อีก 0.25% ต่อปี โดยในปีแรกที่ขยายเวลา และเพิ่มอีก 0.50% ต่อปี ในปีถัดไป ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดจะจ่ายเพียงครั้งเดียว ในวันครบกำหนดไถ่ถอนใหม่ ทั้งนี้ ITD มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปี 2567 นี้ 3 รุ่น และอีก 2 รุ่น จะครบกำหนดในปี 2568

ส่วนบมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ หรือ CGD ได้ขอผู้ถือหุ้นกู้ชุด CGD213A ขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนออกไปอีก 1 ปี จากเดิม 23 มีนาคม 2567 เป็น 23 มีนาคม 2568 และจะแบ่งชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้บางส่วนให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ CGD มียอดหุ้นกู้คงค้างรวม 4 ชุด คิดเป็นเงินต้นรวม 2,141.03 ล้านบาท มีจำนวน 3 ชุด ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 อีก 1 ชุด ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2568

จากข้อมูลของสมาคมตราสารหนี้ไทย (Thai BMA) พบว่า ในปี 2566 มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 16.5 ล้านล้านบาท ขยายตัว 5.4% จากปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลและภาคเอกชนเป็นสำคัญ ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 1,018,690 ล้านบาท เป็นปีที่ 4 ที่ยอดการออกเกิน 1 ล้านล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ มีหุ้นกู้ที่มีปัญหาการผิดนัดชำระไม่น้อยกว่า 7-10 บริษัท คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 3 หมื่นล้านบาท หลัก ๆ คือ หุ้นกู้บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น หรือ STARK จำนวน 5 ชุด มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 9 พันล้านบาท

Thai BMA ประมาณการยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวในปี 2567 ราว 9 แสนล้านบาท ถึง 1 ล้านล้านบาท เป็นหุ้นกู้ออกใหม่ 4-4.5 แสนล้านบาท และเป็นหุ้นกู้ Roll over ราว 5-5.5 แสนล้านบาท โดยมีหุ้นกู้ยาวที่จะครบกำหนดชำระมูลค่าเกือบ 9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ 90% เป็นหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade เรตติ้ง BBB- ไปจนถึง AAA ส่วนอีก 10% เป็นหุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ (High yield) ซึ่งมีทั้งที่มีเรตติ้งและไม่มีเรตติ้ง ส่วนใหญ่ผู้ออกหุ้นกู้จะเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ดังนั้น คณะกรรมการกำกับตลาดทุนจึงได้มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ออกและเสนอขายตราสารหนี้ และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

ในด้านหลักเกณฑ์การอนุญาต

  1. ปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับผู้ออกตราสารหนี้ (issuer) ที่มีพันธบัตรหรือหุ้นกู้รุ่นเดิมที่อยู่ระหว่างการขยายอายุหรือมีการเลื่อนการชำระหนี้ หรืออยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ โดยสามารถออกและเสนอขายตราสารหนี้รุ่นใหม่ได้เฉพาะหุ้นกู้ด้อยสิทธิเท่านั้น และต้องระบุชื่อหุ้นกู้ให้ชัดเจนว่า issuer อยู่ระหว่างการเลื่อนการชำระหนี้หรือขยายอายุ หรืออยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรหรือหุ้นกู้
  2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทำงบการเงินในกรณีการขออนุญาตออกและเสนอขายตราสารหนี้ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth) หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) โดยต้องจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (มาตรฐาน PAE)
  3. ปรับปรุงการตั้งชื่อสำหรับตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยกำหนดให้ต้องมีคำว่า “พันธบัตรเสี่ยงสูง” หรือ “หุ้นกู้เสี่ยงสูง” อยู่ในชื่อของตราสารอย่างชัดเจน

ในด้านหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล

  1. ปรับปรุงการเปิดเผยวัตถุประสงค์การใช้เงิน และรายงานการใช้เงินที่ได้จากการเสนอขายตราสารหนี้ โดยเพิ่มประเภทของวัตถุประสงค์การใช้เงินให้ครอบคลุมมากขึ้น และกำหนดให้รายงานการใช้เงินทุกรอบ 6 เดือน
  2. กำหนดหน้าที่เพิ่มเติมให้ issuer รายงานการฝ่าฝืน financial covenants ตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิต่อก.ล.ต.
  3. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยอัตราส่วนทางการเงิน ข้อมูลทางการเงินที่สำคัญ และข้อกำหนดด้านการเงิน ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (แบบ filing) และแบบสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (แบบ factsheet)
  4. ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลสำหรับตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ให้มีคำเตือนผู้ลงทุนถึงความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าว และ 5.ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและอาจส่งผลกระทบกับการตัดสินใจของผู้ลงทุน เช่น รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักประกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้เผยแพร่เอกสารรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวที่เว็บไซต์ ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ หรือทาง e-mail: [email protected] จนถึงวันที่ 11 เมษายน 2567 นี้

Back to top button