การเมืองแบบผีเข้าผีออก

สำหรับคนที่สนใจการเมืองในฐานะของคนดู ขอให้แยกแยะตัวแปรทางการเมืองในสังคมไทยให้แม่นยำก่อนที่จะเชื่อคำพูดของผู้เขียน


สำหรับคนที่สนใจการเมืองในฐานะของคนดู หรือกองเชียร์หรือกองแช่งหรือนักวิเคราะห์ทางด้านประวัติศาสตร์เชิงอำนาจ ขอให้แยกแยะตัวแปรทางการเมืองในสังคมไทยให้แม่นยำก่อนที่จะเชื่อคำพูดของผู้เขียน ที่สรุปว่าการเมืองไทยยามนี้มีลักษณะผีเข้าและผีออกจากข่าวที่ปรากฏบนสื่อทางโทรทัศน์และออนไลน์เป็นหลัก

ที่ว่าผีเข้าก็เพราะมีคนที่ส่วนใหญ่ตั้งตัวเป็นกูรูจอมปลอมทางการเมืองที่เพียรใช้วาทกรรมทางการเมืองด้วยภาษาแรงชนิดจัดหนัก ตัวอย่างที่เด่นชัดสุดคือนายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งออกมาประกาศว่าจะมีรัฐประหารโดยให้จับตาดูหลังวันที่ 10 เมษายน โดยอ้างถึงสัญญาปีศาจของผู้บริหารพรรคเพื่อไทย ว่าจะเป็นประเด็นทำให้กองทัพออกมายึดอำนาจ

นายจตุพรไม่ได้บอกว่าสัญญาปีศาจคืออะไร เพียงแต่บอกว่าสัญญาปีศาจนั้นทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับผลประโยชน์เพียงพรรคเดียว แม้ประเด็นการรัฐประหารในสังคมไทยจะเป็นเรื่องธรรมดาแต่ข้ออ้างของนายจตุพรดูไม่สมเหตุสมผล เพราะการที่กองทัพออกมายึดอำนาจจะต้องมีเหตุปัจจัยสำคัญ นั่นคือรัฐบาลพลเรือนเสียความชอบธรรมจากการกระทำให้เกิดเศรษฐกิจวุ่นวาย หรือออกมาปกป้องสถาบันกษัตริย์

การที่กองทัพจะจู่ ๆ ยกออกมายึดอำนาจโดยที่รัฐบาลไม่มีความผิดอย่างชัดเจน และสถาบันกษัตริย์ยังคงแข็งแกร่งไม่ได้เผชิญกับการถูกคุกคาม อาจจะทำให้กองทัพขาดความชอบธรรมทางการเมืองได้ง่ายดังที่เคยเกิดปรากฏการณ์กบฏ 26 มีนาคม 2520 และกบฏ 4 เมษายน 2524 และกบฏไม่มาตามนัด 9 กันยายน 2528 ที่ล้มเหลว เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนให้เห็นมาแล้ว

แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่ได้มีความชอบธรรมมากเพียงพอ แต่ก็ยังไม่มีเหตุสำคัญให้ยกมากล่าวอ้างเพื่อทำลายล้างด้วยการทำรัฐประหาร ซึ่งทำให้เหตุผลของนายจตุพรเบาโหวงเกินไป

ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งของคนในเครื่องแบบสีกากีระหว่างบิ๊กโจ๊กหรือพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล กับนายตำรวจกระแสหลักก็เป็นเพียงแค่พายุในถ้วยชาธรรมดา ไม่น่าจะเป็นสาเหตุให้กองทัพยกมาอ้างเพื่อล้มล้างรัฐบาล

คำพูดของนายจตุพรเปรียบได้กับคำพูดในนิยายกำลังภายในรุ่นเก่าที่บอกว่า “ผายลมมารดาท่าน”

ภาวะการเมืองแบบนี้จึงเข้าข่ายผีเข้าผีออกธรรมดา หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่คงไม่ได้ ยิ่งมาดูจากปูมหลังของนายจตุพรที่มักทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้ทักษิณและพวกมาอย่างยาวนาน ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าการยกประเด็นทำรัฐประหาร มีไว้เพื่อสกัดการเคลื่อนไหวของกองทัพมากกว่าเป็นการวิเคราะห์โดยสุจริตใจ

Back to top button