SABUY ในวันที่ต้อง “ขายทุกอย่าง”

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” เป็นกระแสร้อนแรง ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหนนักลงทุนก็ต้องพูดถึง คงหนีไม่พ้น SABUY


เส้นทางนักลงทุน

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” เป็นกระแสร้อนแรงไม่แพ้อากาศในเดือนเมษายน ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหนนักลงทุนก็ต้องพูดถึง คงหนีไม่พ้นบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ที่ราคาหุ้นดิ่งลง 2 วันติดต่อกัน 2 ฟลอร์ รวม 60.55% จาก 4.64 บาท มาอยู่ที่ 2.26 บาท (3-4 เมษายน 2567) และยังลงต่อในวันที่ 3 อีก 4.42% สู่ 2.16 บาท (5 เมษายน 2567)

แถมยังลากหุ้นนางงาม บริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MGI ของบิ๊กบอส “ณวัฒน์ อิสระไกรศีล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้ตกสวรรค์ไปด้วย เพราะราคาร่วงจาก 28.50 บาท มาอยู่ที่ 21.90 บาท ลงไป 24.68% ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่วันที่ 3 บวกได้ 2.74% ยืน 22.50 บาท

สาเหตุที่หุ้น SABUY ถูกกระหน่ำซัมเมอร์เซล เนื่องจากไปสร้างความเสียวให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นกู้ จากความวิตกกังวลว่าอาจไม่สามารถชำระคืนหุ้นกู้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีหุ้นกู้รวม 4 ชุด คิดเป็นวงเงินรวม 3,991.50 ล้านบาท หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนภายในปีนี้ (ชุด SABUY24DA) มีวงเงิน 1,500 ล้านบาท

ในสถานการณ์เช่นนี้ การออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อรองรับการไถ่ถอนหุ้นกู้ชุดเดิม หรือ Roll Over คงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับ SABUY ที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนสั่นคลอน ทำให้ทางเลือกของบริษัทจึงเหลือเพียงแนวทางเร่งดำเนินการหาพันธมิตร (Strategic Shareholder) เพื่อเปิดทางให้เข้าถือหุ้น, การขายสินทรัพย์บางส่วน, การขายเงินลงทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เป็นการหาเงินรองรับการชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในช่วงปลายปีนี้

SABUY เป็นหุ้นที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ไม่นาน เพียง 3 ปีกว่า นับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 แต่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมากมายกับบริษัทนี้

ย้อนไทม์ไลน์กลับไปในอดีต SABUY ถือเป็นหุ้นอีเวนต์ หุ้นหวือหวา เพราะมีกิจการหลากหลาย ภายใต้การบริหารงานของ “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” อดีตซีอีโอ เริ่มต้นจากการประกาศเข้าซื้อหุ้นบริษัททั้งในและนอกตลาดหุ้นหลายแห่ง เช่น บริษัท เธียรสุรัตน์ จำกัด (มหาชน) (TSR), บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (TKS) บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (AIT) และบริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (AS) หรือบริษัท แอสเฟียร์ อินโนเวชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกันก็ดูแลหุ้นผ่านโครงการซื้อหุ้น (Treasury Stock) เช่น ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566 ได้ดำเนินการซื้อหุ้นคืนรวมทั้งสิ้นจำนวน 87.2 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.98% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด มีมูลค่ารวม 1.04 พันล้านบาท ต้นทุนเฉลี่ยหุ้นละ 11.95 บาท

ต่อมาในช่วงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ได้ประกาศจัดสรรวงเงินอีก 617 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นคืนอีกครั้ง จำนวนไม่เกิน 95 ล้านหุ้น ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2566-21 มีนาคม 2567 ซึ่งในเดือนนี้ก็ได้ประกาศยกเลิกแผนการซื้อหุ้นบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGRE) เพิ่ม

เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2567 ได้เกิดปรากฏการณ์กลับด้าน SABUY เริ่มประกาศขายหุ้นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มออก เช่น หุ้นบริษัท ดับเบิ้ล เซเว่น จำกัด (DOU7) ให้กับบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) (COM7) ในลักษณะแลกหุ้น

สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนอย่างมากก็คือ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา SABUY แจ้งผลการดำเนินงานงวดปี 2566 พลิกเป็นขาดทุน 189.82 ล้านบาท ขณะที่ผู้บริหาร ซึ่งถือเป็นแกนนำหลักอย่าง “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้ “วิรัช มรกตกาล” นั่งเก้าอี้ซีอีโอ หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแทน

SABUY เริ่มทยอยยกเลิกดีลต่าง ๆ เช่น ยกเลิกเข้าซื้อและการเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นทั้งหมดของ AS โดยคงสัดส่วนการถือหุ้นเพียง 123.24 ล้านหุ้น หรือ 24.69% เท่านั้น เนื่องจากได้รับวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินไม่เพียงพอ

ในเดือนเมษายน 2567 SABUY สร้างกระแสฮือฮาให้กับแวดวงตลาดหุ้นอีกครั้ง เมื่อปรากฏข้อมูลบิ๊กบอส “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MGI ควักกระเป๋า 135 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้น SABUY ต่อจาก “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” จำนวน 30 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.70% ของทุนจดทะเบียนของ SABUY ราคาหุ้นละ 4.50 บาท แถมยังเข้ามานั่งเก้าอี้รองประธานกรรมการบริหาร มีผลตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 เรียกได้ว่ามีผลทันที

แต่ผ่านไปเพียง 3 วัน บิ๊กบอส “ณวัฒน์ อิสรไกรศีล” ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 4 เมษายน โดยส่งบุคคลอื่นเข้ามารับตำแหน่งแทน

SABUY กลายเป็นหุ้นที่ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งเตือนผู้ลงทุนขอให้ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ-ขายหลักทรัพย์ เนื่องจากสภาพการซื้อ-ขายปรับตัวลงมากในวันที่ 3 และ 4 เมษายน 2567

โดยสภาพการซื้อ-ขายปรับตัวลงมาก ราคาปรับตัวลดลงไปต่ำสุดของวัน (Floor) ต่อเนื่อง 2 วันทำการ (-51%) ณ วันที่ 4 เมษายน ราคาลดลงไปที่ฟลอร์จนไม่มีคำเสนอซื้อ (Bid) เหลืออยู่เลยตั้งแต่เปิดตลาด และทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงมาปิดภาคเช้าที่ 2.28 บาท ลดลง 29.63% ด้วยมูลค่าซื้อ-ขายที่ 90 ล้านบาท ในขณะที่ SET Index และ Sector Index (COMM) ติดลบ 0.29% และ บวก 0.12% ตามลำดับ

ผู้ขายส่วนมากกระจุกในบุคคลบางราย พบว่าผู้ขายส่วนมากโดยเฉพาะวันที่ 4 เมษายน ถึง 85% ของปริมาณการซื้อ-ขายรวม เป็นการขายของบุคคลที่ถูก Force Sell จากราคาที่ลดลงมากในวันก่อนหน้า ขณะที่ SABUY ชี้แจงข้อมูลว่า ไม่มีพัฒนาการใด ๆ ทางธุรกิจที่มีผลต่อราคาหลักทรัพย์แต่อย่างใด

สัดส่วนการ Short Selling ไม่มาก และเป็นการขายจากผู้ลงทุนรายย่อยที่ถูก Force Sell เป็นหลัก วันที่ 4 เมษายน 2567 ภาคเช้า ไม่มีรายการ Short Selling ขณะที่เมื่อวันที่ 3 เมษายน มีสัดส่วน Short Selling ที่ 0.20% ของปริมาณการซื้อ-ขาย ซึ่งการขายทั้งหมดเป็นรายย่อย

ณ สิ้นปี 2566 SABUY มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 284.75 ล้านบาท และมีเงินให้กู้ยืมระยะสั้นจำนวน 1,690.02 ล้านบาท และเงินลงทุนในตราสารทุนจำนวน 405.70 ล้านบาท และเงินลงทุนในบริษัทย่อยจำนวน 6,635.85 ล้านบาท และเงินลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 4,920.48 ล้านบาท และเงินลงทุนในกิจการร่วมค้าจำนวน 1,180.60 ล้านบาท

SABUY เคยเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง โดยในปี 2564 อยู่ที่ 2.97 หมื่นล้านบาท แต่มูลค่าไหลรูดลงเหลือ 1.82 หมื่นล้านบาท, 8.92 พันล้านบาท และปัจจุบันเหลือ 3.82 พันล้านบาท ตามลำดับ

เปิดมาสัปดาห์นี้ดีหน่อย หุ้น SABUY ปรับตัวดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง… SABUY เคยเป็น “นักซื้อ” “นักเทกโอเวอร์” แต่มาถึงวันนี้ SABUY ปรับเปลี่ยนเป็น “นักขาย” โดยจะขายทุกอย่างออกไปซะด้วยสิ

Back to top button