ส่องทิศทางธนาคารพาณิชย์ไทย

งานนี้ต้องเรียกว่ากำไรเป็นเหตุสังเกตได้ หลังกลุ่มธนาคารพาณิชย์รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 มีกำไรสุทธิรวมกัน 6.39 หมื่นล้านบาท


เส้นทางนักลงทุน

งานนี้ต้องเรียกว่ากำไรเป็นเหตุสังเกตได้ เพราะภายหลังกลุ่มธนาคารพาณิชย์ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ประจำปี 2567 มีกำไรสุทธิรวมกัน 6.39 หมื่นล้านบาท (11 แห่ง) เพิ่มขึ้น 26.35% จากไตรมาส 4 ปี 2566 ที่มีกำไร 5.05 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้น 4.70% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

4 ตัวแทนภาคธนาคารทั้งจากธนาคารรัฐและธนาคารเอกชน ก็ได้รับเชิญจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “เศรษฐา ทวีสิน” ให้เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล (23 เมษายน 2567) ในทันที โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอความร่วมมือให้ธนาคารพิจารณาช่วยเหลือลูกหนี้

การพุ่งเป้ายิงตรงไปยังธนาคารเนื่องจากประเมินแล้วว่าน่าจะเห็นผลในทางปฏิบัติมากกว่าการฝากความหวังไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายหลังจากส่งเสียงร้องขอไปยังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 2-3 รอบแล้วก็ยังไม่ตอบสนอง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมธนาคารไทยตอบสนองนโยบายรัฐทันควัน โดยมีมติให้ปรับลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและเอสเอ็มอี (SMEs) ในระหว่างที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และจะเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด

ภาคธนาคารมองว่าควรเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่มีทั้งมาตรการระยะสั้นรองรับการเปลี่ยนผ่าน และมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว

ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการการแก้หนี้อย่างยั่งยืน และการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

และเห็นว่าการช่วยเหลือลูกค้า ประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อย ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการระยาวในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างรายได้ที่พอเพียงและยั่งยืน

สำหรับผลการดำเนินงานกลุ่มธนาคารงวดไตรมาส 1 ประจำปี 2567 ที่ออกมาดี มีกำไรสุทธิรวมกันถึง 6.39 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากอานิสงส์การปรับตัวลงของค่าใช้จ่ายในการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ขณะที่รายได้จากธุรกิจหลักยังคงฟื้นตัวได้ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด และเริ่มเห็นสัญญาณของการปรับตัวลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากผลของต้นทุนเงินฝากที่ทยอยไล่ตามมา ด้านคุณภาพหนี้ก็ยังระวังการปล่อยกู้

กลุ่มธนาคารมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ หรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) รวมอยู่ที่ 59,466 ล้านบาท ลดลง 13.84% หากเทียบกับ 69,019 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 13.19% จาก 52,538 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2566

ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมอยู่ที่ 530,386 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.50% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 2.62% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 517,435 ล้านบาท และ 510,400 ล้านบาท ตามลำดับ

จากผลการดำเนินงานในไตรมาสนี้ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีกำไรสูงสุดที่ 13,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.55% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 43.65% จากไตรมาสก่อน

รองลงมา บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) หรือธนาคารไทยพาณิชย์ กำไรสุทธิ 11,281 ล้านบาท และบมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) กำไรสุทธิ 11,079 ล้านบาท

ส่วนบมจ.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) มีกำไรสุทธิน้อยที่สุด อยู่ที่ 626 ล้านบาท ลดลง 24.6% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และลดลง 577.9% จากไตรมาสก่อน

เมื่อต้องสนองนโยบายภาครัฐ ปรับลดดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน จึงต้องจับตามองว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของธนาคารมากน้อยแค่ไหน???

ในมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ ระบุว่า การลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและ SMEs ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อกําไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์เพียงเล็กน้อย ราว 1-3% จากประมาณการกําไรปี 2567

โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบราว 1% ประกอบด้วย บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL), บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) และบมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO)

ส่วนกลุ่มที่คาดว่ากำไรจะได้รับผลกระทบราว 2% คือ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บมจ.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ขณะที่ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) จะได้รับผลกระทบราว 3%

คาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าเป็นการลดดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ทั้งหมดที่อยู่ภายใต้ดอกเบี้ย MRR แต่ในทางปฏิบัติธนาคารน่าจะปรับลดให้แก่ลูกหนี้เพียงบางราย ซึ่งจะทําให้ผลกระทบน้อยลงไปอีก

อย่างไรก็ตาม แนะนํากลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารในลักษณะ “Selective Buy” โดยเลือก BBL, KTB และ TISCO เพราะมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบต่อกำไรน้อยที่สุด

ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่ากำไรสุทธิงวดถัด ๆ ไปของกลุ่มแบงก์จะเป็นอย่างไรบ้าง

Back to top button