พาราสาวะถี

เป็นประเด็นร้อนอยู่ในเวลานี้ จากการที่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขึ้นเวทีกิจกรรม “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10”


เป็นประเด็นร้อนอยู่ในเวลานี้ จากการที่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ขึ้นเวทีกิจกรรม “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” พูดพาดพิงถึงธนาคารแห่งประเทศไทย โดยชี้ว่ากฎหมายพยายามจะให้แบงก์ชาติเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สูงขึ้นทุกปีจากการตั้งงบประมาณขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยแบงก์ชาติไม่ยอมเข้าใจและร่วมมือ ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานหนี้

แน่นอนว่าฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลย่อมหนุนในการเปิดศึก และปลายทางหนีไม่พ้นที่จะมีการขยับแก้กฎหมายว่าด้วยธนาคารกลางของประเทศ ซึ่งนั่นจะไปเข้าทางของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เห็นได้จากทันทีทันใดก็จะมีบรรดานักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ และนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามโต้กลับท่วงทำนองดังกล่าวของลูกสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร ในทันทีทันใด ทั้งที่กรณีนี้หากมองในมุมของการวิพากษ์วิจารณ์ถือว่าไม่ใช่เรื่องถูกผิด ทุกคน ทุกฝ่าย มีสิทธิ์จะมองในประเด็นที่ถือว่าเป็นปัญหาสำหรับประเทศชาติ

เพียงแต่ว่าเรื่องของแบงก์ชาตินั้น มันมีประเด็นความขัดแย้งที่ไปผูกกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลอย่างดิจิทัลวอลเล็ต โดย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ได้แสดงความเห็นคัดค้านมาตลอด แม้กระทั่งหลังจาก เศรษฐา ทวีสิน นั่งหัวโต๊ะเคาะเดินหน้าโครงการไปแล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ก็ยังมีหนังสือจากธนาคารกลางส่งไปเสนอแนะในเชิงตักเตือน นั่นย่อมทำให้เห็นว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้น มันยากที่จะประสานทำความเข้าใจ ผ่านการนั่งคุยแบบเผชิญหน้าเหมือนที่เศรษฐาเคยทำมาตลอด

จะเห็นได้ว่าการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่สองสามครั้งหลังสุด ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติส่งตัวแทนเข้าประชุมแทนทุกครั้ง การแสดงออกจึงเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ การกำหนดนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย หรือนโยบายการเงินที่สำคัญ ๆ อยู่ที่ว่า นักเศรษฐศาสตร์แบบไหนจะมอง ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าแทบไม่มีฝ่ายที่เป็นกลางซึ่งยึดโยงเอาผลประโยชน์ของประชาชนมาเป็นตัวตั้ง แล้ววิเคราะห์ แยกแยะให้เห็นถึงความจำเป็นที่ถูกต้องต่อนโยบายการเงินของประเทศ

นั่นเป็นเพราะบ้านเรามีนักเศรษฐศาสตร์หลัก ๆ อยู่ 3 ประเภทคือ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง นักเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ และนักเศรษฐศาสตร์อนุรักษนิยม ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในแบงก์ชาติ มุมมองที่ออกมาจึงเต็มไปด้วยผลประโยชน์แฝงตามหัวโขนของนักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้น พวกที่อยู่ฝ่ายการเมืองก็จะมองในแง่ของการสนองตอบต่อนโยบายโดยอ้างอิงประชาชนเป็นหลังพิง ทั้งที่ความจริงแล้วเป้าหมายคือหวังผลทางการเมืองแบบเต็ม ๆ

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ธุรกิจก็จะอิงแอบกับผลประโยชน์ขององค์กรหรือธุรกิจที่ตัวเองสังกัด เรียกได้ว่าหัวโขนที่สวมทับไว้อยู่นั้นอยู่ตรงไหน ก็จะวิจารณ์ วิเคราะห์ไปในทิศทางที่หวังให้เอื้อประโยชน์ต่อต้นสังกัดของตัวเองอย่างเต็มที่ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ในแบงก์ชาติก็จะยึดตามตำราเป็นหลัก ห่วงกังวลสารพัด พิจารณาและตัดสินบนความเชื่อขององค์ความรู้ และคำชี้แนะของนักวิชาการของตัวเอง โดยไม่ได้พิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่นเป็นส่วนประกอบสำคัญ

ดังนั้น กรณีการจุดประเด็นตำหนิแบงก์ชาติของอุ๊งอิ๊ง และมีการต่อยอดขยายผลกันไปต่าง ๆ นานา ปลายทางจึงไม่ใช่สิ่งที่มองเห็นมรรคผลอันจะเกิดประโยชน์กับประชาชน เป็นเพียงการหามุมที่จะนำไปสนับสนุนเป้าหมายที่แต่ละฝ่ายต้องการให้บรรลุเท่านั้น เมื่อเป็นไปในลักษณะของไก่เห็นตีนงู จึงจะไม่ถูกนำไปสร้างเป็นความขัดแย้งให้ลุกลามใหญ่โต ไม่ว่าฝ่ายไหนขยับต่อไม่หยุด ผลเสียไม่ได้เกิดกับฝ่ายที่จะถูกโจมตี แต่จะเกิดกับพวกที่เล่นไม่เลิกนั่นเอง

การขับเคลื่อนทางการเมืองในห้วงหลังการปรับ ครม.ที่มองเห็นแรงกระเพื่อมเล็ก ๆ จากกรณีการลาออกของ ปานปรีย์ พหิทธานุกร และการแสดงความไม่พอใจของ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นปัจจัยทำให้รัฐบาลที่เข้าไปทำหน้าที่แทน และคนที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาใหม่ ต้องเร่งสร้างผลงานทันทีที่รับตำแหน่ง รายของเศรษฐาก็จะเน้นการลงพื้นที่เป็นหลัก เนื่องจากสามารถยึดพื้นที่ข่าว เกิดเป็นกระแสต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะเรื่องความเอาใจใส่ เร่งแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน

ขณะเดียวกัน ก็จะใช้กระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติมาช่วยกลบกระแสด้านลบของฝั่งรัฐบาล ทั้งที่ช่วงนี้เป็นเวลาที่สภาเปิดสมัยประชุมไปแล้ว แต่ก็มีวาระสำคัญคือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่จำเป็นจะต้องมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ พิจารณากันเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากหากรอให้เปิดสภาปกติในเดือนกรกฎาคม จะทำให้การบริหารงานงบประมาณล่าช้า ไม่ต่อเนื่อง แม้ว่างบประมาณปี 2567 จะเพิ่งเริ่มใช้ แต่ก็มีกรอบการใช้จ่ายตามปฏิทินปีงบประมาณคือสิ้นสุดภายในเดือนกันยายนปีนี้

จึงจำเป็นต้องเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2568 โดยที่ฝ่ายค้านก็ไม่ได้เห็นแย้งแต่อย่างใด จึงรอเพียงว่าการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อใด ทางฝั่งวิปรัฐบาลเห็นว่าน่าจะเป็นต้นเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่ฝ่ายค้านไม่ได้ยึดติดกับกรอบเวลา ขอเพียงแค่รัฐบาลเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ ดังกล่าว แล้วส่งให้ สส.ได้มีระยะเวลาศึกษากันให้มากเพียงพอเท่านั้นก็ไม่เป็นปัญหา กรณีนี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลเศรษฐาเองก็มีเครื่องมือที่จะทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติพร้อมที่จะช่วยดึงความสนใจจากปมความไม่ลงรอยในการปรับ ครม.ได้ในระดับหนึ่ง

ต้องอย่าลืมว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไม่ได้มีความสำคัญในการเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลได้ใช้เพื่อสร้างผลงานเท่านั้น แต่ก็คือลมหายใจของนักเลือกตั้งไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม อย่างที่รู้กัน การเมืองล้วนมีต้นทุน ไม่มีใครหน้าไหนที่จะยอมควักกระเป๋าตัวเองแบบหมดเนื้อหมดตัวแน่นอน ส่วนการจัดการกับความรู้สึกของผู้ถูกปรับออกจากตำแหน่งเสนาบดีในส่วนของพรรคแกนนำรัฐบาลนั้น มีรายงานว่าทุกคนต่างได้การดูแลอย่างสมเกียรติ บทเรียนในอดีตว่าด้วยการเหลิงอำนาจมีให้เห็นแล้ว ผู้นำตัวจริงจะไม่มีวันโง่ซ้ำซากอีก

อรชุน

Back to top button