การเปลี่ยนแปลงที่ SCB

เรื่องการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม ของบริษัท รวมถึงตำแหน่ง อื่น ๆ ในกลุ่มเอสซีบี เอกซ์


เรื่องการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ประธานกรรมการ และประธานกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม ของบริษัท รวมถึงตำแหน่ง อื่น ๆ ในกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ โดยอ้างปัญหาสุขภาพ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 67 เป็นต้นไป  อาจจะดูเหมือนเป็นข่าวธรรมดาแต่จริง ๆ แล้วถือว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ธนาคารเพิ่งประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่โดย SCB ประกาศว่า จะขับเคลื่อนองค์กร ด้วยการเดินหน้าสู่การเป็น AI-First Bank เร่งพัฒนาบริการให้เป็นดิจิทัลแบงก์เต็มรูปแบบ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน

การลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวหลังจากที่ดำรงตำแหน่ง CEO มานานกว่า 25 ปี ถือได้ว่าเป็นการล้างมือในอ่างทองคำของผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของธนาคารที่มีสินทรัพย์เป็นอันดับ 4 แต่มีกำไรสูงสุดมาต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี

ดร.วิชิต เป็นลูกคนไทยเชื้อสายจีนที่มีประวัติการเรียนดีเด่น จบการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ แล้วเข้าทำงานที่แบงก์กรุงเทพในแผนกค้าเงินตราระหว่างประเทศและสร้างผลงานโดดเด่นจนได้รับเลือกเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 1 ของอาเซียนในยุคนั้น  แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งกะทันหันเมื่อกลางปี 2537 ด้วยข้ออ้างเรื่องสุขภาพ ก่อนที่จะเข้ารับงานข้ามฝากมากินตำแหน่ง CEO ของธนาคารไทยพาณิชย์จากสายสัมพันธ์เชิงลึกกับนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง CEO ไทยพาณิชย์ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของรัฐบาลชวน หลีกภัย สมัยแรก

ผลงานของดร.วิชิตในธนาคารไทยพาณิชย์คือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการออกนวัตกรรมทางการเงินต่าง ๆ เพื่อกอบกู้ฐานะของธนาคารในช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง และการดึงเอานักการตลาดชื่อดังอย่างนางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ จากค่ายยูนิลีเวอร์เข้ามาเป็นรองกรรมการผู้จัดการธนาคาร ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการธนาคาร จนกระทั่งธนาคารไทยพาณิชย์ประสบความสำเร็จสามารถทำกำไรขึ้นเป็นอันดับ 1  และเมื่อหมดยุคนางกรรณิการ์  ดร.วิชิตยังมีส่วนผลักดันให้ดึงตัวนายอาทิตย์ นันทวิทยา จากธนาคารอินโดสุเอซเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการไทยพาณิชย์ พร้อมกับผลักดันนโยบายธนาคารไอทีขึ้นมาเพื่อลดการพึ่งพาพนักงานที่เป็นบุคคล เปลี่ยนแปลงสถานะธนาคารจาก SCB เป็น SCBX ซึ่งเป็นโฮลดิ้งส์ทางการเงินขนาดใหญ่ที่มีฐานะใหญ่โตกว่าธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบเดิม ๆ จนกระทั่งมาถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดที่ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศปรับตัวเป็นธนาคารเอไอเต็มรูปเป็นธนาคารแรก

จะเห็นได้ว่าผลงานอันโดดเด่นของดร.วิชิตที่กระทำต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 25 ปี ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ถือเป็นการปฏิวัติวงการธนาคารพาณิชย์ของไทยอย่างมากมาย  การอำลาจากไปในขณะที่ประสบความสำเร็จจึงถือได้ว่าเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ของผู้บริหารมืออาชีพที่ไม่อาจปฏิเสธได้

วิษณุ โชลิตกุล

Back to top button