KTB ตั้งสำรองรายใหญ่ลดลง

KTB โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 1.สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 28.28% 2.สินเชื่อรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 16.19%


คุณค่าบริษัท

ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 1.สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 28.28% 2.สินเชื่อรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 16.19% 3.สินเชื่อธุรกิจ SME 10.94% 4.สินเชื่อรายย่อย 44.59% ภายใต้สินเชื่อรายย่อย 44.59% สามารถจำแนกต่อดังนี้ 1.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 18.57% 2.สินเชื่อบุคคล 23.25% 3.สินเชื่อบัตรเครดิต 2.63% 4.สินเชื่อเช่าซื้อ (Leasing) 0.13%

KTB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2567 มีกำไรสุทธิ 11,078.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.05% จากไตรมาส 1/2566 และเติบโต 81.29% จากไตรมาส 4/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 6,110.95 ล้านบาท กำไรไตรมาส 1 สูงกว่าคาดการณ์ของตลาด 6% โดยหลักเนื่องมาจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบีย (non-NII) สูงกว่าทีคาด จากหนี้เสียที่ได้รับคืนและรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิจากการขายประกันผ่านธนาคาร กำไรเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบไตรมาส 4/2566 เนื่องจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ลดลงอย่างมากถึง 39% จากไตรมาส 4/2566 เนื่องจากไม่มีการตั้งสำรองเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่รายหนึ่งที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4/2566 และรายได้อื่นที่สูงขึ้นจากหนี้เสียที่ได้รับคืน กำไรขยายตัวจากไตรมาส 1/2566 ได้แรงหนุนจากอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่สูงขึ้น 0.34% จากไตรมาส 1/2566 มาอยู่ที่ 3.24% จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และ non-NII ที่แข็งแกร่งขึ้น

กำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรอง (PPOP) อยู่ที่ 2.61 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาส 4/2566 และ 23% จากไตรมาส 1/2566 ซึ่งสูงกว่าที่บล.กสิกรไทย คาดไว้ 12% จาก non-NII ที่สูงกว่าคาด สินเชื่อรวมของ KTB เติบโตเล็กน้อย 2% จากไตรมาส 4/2566 และ 1% จากไตรมาส 1/2566 มาอยู่ที่ 2.62 ล้านล้านบาท เนื่องจากสินเชือรัฐบาลขยายตัว 12.2% จากไตรมาส 4/2566 มาที่ 4.24 แสนล้านบาท ส่งผลให้ NIM ลดลง 0.12% จากไตรมาส 4/2566 จากอัตราผลตอบแทนสินเชื่อที่ลดลง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อจากสินเชื่อภาครัฐสูงขึ้น อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้มีการควบคุมอย่างดีที่ 38% ทรงตัวจากไตรมาส 1/2566 และลดลง 4.0% จากไตรมาส 4/2566 รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (non-NII) เติบโตแข็งแกร่งที่ 17% เมื่อเทียบไตรมาส 4/2566 และไตรมาส 1/2566

NPL ratio อยู่ที่ 3.8% ลดลงเล็กน้อยจาก 3.9% ในไตรมาส 4/2566 จากการคำนวณของบล.กสิกรไทย พบว่าการก่อตัวของ NPL ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/2566 KTB ตั้งค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (credit cost) ที่ 1.24% ลดลงจาก 2.01% ในไตรมาส 4/2566 และคงอัตราสำรองต่อหนี้สูญ (coverage ratio) ที่ 175% บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า KTB ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR, MLR และ MOR 0.25% ช่วยลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งบุคคลและ SME รายย่อย ตามเงื่อนไขรวมกว่า 3 แสนบัญชี วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 2 แสนล้านบาท มีผล 16 พ.ค.-15 พ.ย. 2567 ทั้งนี้หากคำนวณดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% ของวงเงินรวมเป็นเวลา 6 เดือน จะอยู่ที่ราว 250 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.6% ของรายได้รวม KTB ตั้งเป้าปี 2567 สินเชื่อโต 3% และ NIM ที่ 3.0-3.3% และคุม NPL ให้ต่ำกว่า 3.25% KTB เชื่อว่าธปท.จะลดดอกเบี้ยช้ากว่าคาดการณ์เดิม เป็นบวกมากขึ้นและช่วยดัน NIM ตามเป้าได้

ข้อมูลจาก LSEG Consensus สำหรับ KTB ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2567 ที่ 154,044.02 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2567 ที่ 39,102.48 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 19.71 บาท จาก 20 โบรกเกอร์

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาด KTB จะมีกำไรสุทธิในปี 2567 ที่ 43,791 ล้านบาท โต 19.6% จากปี 2566 เด่นกว่าธนาคารใหญ่รายอื่น เนื่องจากไม่มีการตั้งสำรองของลูกหนี้รายใหญ่เข้ามารบกวนเหมือนกับช่วงไตรมาส 4/2566 และเป็นธนาคารที่จะได้รับอานิสงส์บวกมากที่สุดจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ ส่วนปี 2568 คาดกำไรสุทธิโต 5% จากปี 2567

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น KTB ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 20 พ.ค. 2567 ที่ 17.20 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 6.39 เท่า ต่ำกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 7.31 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น KTB อยู่ที่ 0.58 เท่า ต่ำกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.62 เท่า

Back to top button