HMPRO บนความคาดหวังนโยบายรัฐ

ผู้บริหารหลายธุรกิจยังแสดงความเป็นห่วงผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 อาจออกมาไม่ดีเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันปีก่อน หนึ่งในนั้นคือ HMPRO


เส้นทางนักลงทุน

ผู้บริหารหลายธุรกิจยังแสดงความเป็นห่วงผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2 ของปี 2567 นี้ ว่าอาจจะออกมาไม่ดีเท่าไรเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันปีก่อน หนึ่งในนั้นคือ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าและให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ตกแต่ง ต่อเติม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคาร บ้าน ที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร ภายใต้ 2 แบรนด์ คือ โฮมโปร และ เมกา โฮม

กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังชะลอตัว ซึ่งเป็นไปตามภาพรวมเศรษฐกิจ ตามแรงกดดันของปัญหาหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ราคาพลังงาน-เชื้อเพลิงปรับตัวเพิ่มขึ้น การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐล่าช้า และผลจากการที่ HMPRO ไม่มีการจัดกิจกรรม HomePro Expo อิมแพค เมืองทองธานี เหมือนเช่นทุกปี โดยเปลี่ยนรูปแบบมาจัดงาน HomePro Super Expo ให้ส่วนลดราคาทั้งในส่วนของหน้าร้านสาขาและออนไลน์แทน เพื่อลดค่าใช้จ่ายการเช่าพื้นที่ ทำให้รายได้หายไปบางส่วน

ในไตรมาส 1 ปี 2567 ผลการดำเนินงานของ HMPRO ออกมาสวย มีกำไรสุทธิ 1,712.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101.72 ล้านบาท หรือ 6.31% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ตัวเลขนี้สูงสุดในรอบ 9 ไตรมาส โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 18,787.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 535.71 ล้านบาท หรือ 2.94% เพราะได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านโครงการ Easy E-receipt ซึ่งสามารถลดหย่อนค่าสินค้าและบริการได้สูงสุด 50,000 บาท ในช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตลอดจนการผลักดันยอดขายผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งช่องทางสาขาและออนไลน์

ขณะที่ การเปลี่ยนแปลงส่วนผสมของกลุ่มสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง รวมถึงการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และการได้รับส่วนลดจากคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของธุรกิจโฮมโปรและเมกาโฮม ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นต่อยอดขายของ HMPRO ดีขึ้นมาอยู่ที่ 26.24% จากปีก่อน 26.08%

แต่รายได้ค่าเช่าลดลง 26.16 ล้านบาท หรือ 5.48% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 450.83 ล้านบาท เพราะได้งดจัดงาน HomePro Expo ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในช่วงเดือนมีนาคม ปรับเปลี่ยนเป็นการจัดงาน HomePro Super Expo ในช่วงเดือนเมษายน ผ่านช่องทางสาขาและออนไลน์ดังกล่าว

และยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) ยังชะลอลงราว 2% เนื่องจากมีการเติบโตแค่ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายก่อนที่มาตรการ Easy E-receipt จะสิ้นสุดลง ขณะที่เดือนมกราคม และมีนาคม 2567 ยังติดลบ โดย HMPRO มีการเปิดสาขาใหม่เพิ่ม 11 แห่ง ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566

ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 บริษัทมีสาขาโฮมโปร 89 สาขา โฮมโปรเอส 5 สาขา เมกาโฮม 27 สาขา และโฮมโปรที่ประเทศมาเลเซีย 7 สาขา ซึ่งทั้งปีนี้ยังมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มอีกราว ๆ 7-8 สาขา

ผู้บริหารกังวลว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 2 นี้ อาจจะย่อตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากโดยปกติซีซั่น (season) ในการทำธุรกิจของ HMPRO ไตรมาส 2 ของทุกปีจะเป็นไตรมาสที่ได้รับผลกระทบจากเทศกาลหยุดยาวสงกรานต์ทำให้ยอดขายกลุ่มสินค้าเพื่อซ่อมแซม ปรับปรุงบ้านชะลอตัว

ส่วนไตรมาส 3 จะเป็นโลว์ซีซั่น (low season) เพราะเป็นช่วงฤดูฝน ทําให้การซ่อมแซม ปรับปรุงบ้านสะดุดลง และการซื้อ การจัดส่งสินค้าขนาดใหญ่ทําได้ลําบาก

ไตรมาส 4 แม้จะเป็นไฮซีซั่น (high season) ของธุรกิจ เนื่องจากผู้บริโภคมีการจับจ่ายสูง แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดสูงเพื่อกระตุ้นยอดขายช่วงส่งท้ายปี

แต่จากปัจจัยแวดล้อม แนวโน้มของ HMPRO ในไตรมาสที่เหลือของปี 2567 นี้ ยังมีปัจจัยบวกสนับสนุนอยู่ จากภาวะอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขายในส่วนของสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องทำความเย็น แอร์ พัดลม ตู้เย็น จะขายดีเป็นพิเศษ

รวมทั้งผลจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ การออกโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ฟื้นตัวขึ้น

ผู้บริหารของ HMPRO ตั้งเป้าหมายการเติบโตของ SSSG ไว้ที่ประมาณ 2-3% จากปีก่อน และ 5-7% สำหรับสาขาใหม่ ทั้งนี้จากการสำรวจคาดการณ์ของโบรกเกอร์ ประเมินกำไรสุทธิทั้งปี 2567 ของ HMPRO ไว้ระหว่าง 6.70 พันล้านบาท ถึง 7.02 พันล้านบาท และขยับเป็น 7.20 พันล้านบาท ถึง 7.77 พันล้านบาท ในปี 2568 ให้ราคาเป้าหมายระหว่าง 11.23 บาท ถึง 15.70 บาท

ความกังวลของผู้บริหาร HMPRO ต่อไตรมาสที่เหลืออยู่ของปี 2567 เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ซึ่งเรื่องนี้ตั้งอยู่บนความคาดหวังต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทยอยออกมา ซึ่งจะต้องเกื้อหนุน HMPRO ด้วย

Back to top button