
สมัคร-ธนาธร โดนมาแล้ว
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ถือว่ามีสีสันมากคนหนึ่ง ไอเดียของเขาบรรเจิด ท้าทาย และโดนใจ
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ถือว่ามีสีสันมากคนหนึ่ง ไอเดียของเขาบรรเจิด ท้าทาย และโดนใจ เช่น การใช้กฎหมายควบคุมราคาพลังงาน การขยายระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพิ่ม เพื่อคุมความผันผวนราคาพลังงาน
แต่ก็น่าเสียดาย รองนายกฯ และรมว.พลังงานพีระพันธุ์ที่เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา วันที่ 1 ก.ย. 2566 สิ้นสุดไปตอนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เศรษฐาพ้นตำแหน่ง และกลับเข้ามารับตำแหน่งในสมัยรัฐบาลแพทองธาร เมื่อ 3 ก.ย. 2567 ตราบจนปัจจุบันมาเป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่งแล้ว
กฎหมายในจินตนาการของเขาก็ยังยกร่างไม่สำเร็จ เลยไม่ได้พิสูจน์ความฝันกับความจริงกัน
อันที่จริงความสำเร็จ 3 ครั้งในการตรึงค่าไฟที่ผ่านมา ก็ใช้วิธีการที่ผิดปกติพอสมควรในการบัญชาให้หน่วยงานใต้การดูแลกำกับของกระทรวงพลังงาน เข้าแบกรับภาระค่าใช้จ่ายแทน เข้าตำรา “ของฟรี ไม่มีในโลก”
ครั้งที่ 1 ก็คือ การบัญชาให้ปตท.รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นำส่งผลกำไรบางส่วนจากโรงแยกก๊าซมาแบกต้นทุน คิดเป็นวงเงินประมาณ 6 พันล้านบาท
ครั้งที่ 2 ก็ให้กฟผ.ไปต๊ะค่าเชื้อเพลิงก๊าซจากปตท.ไว้ก่อน ภายหลังได้ปรับราคาค่าไฟเพิ่ม หรือก๊าซในตลาดโลกมีราคาถูกลง ก็ค่อยทยอยใช้หนี้ภายหลังแบบเดียวกับการบริหารกองทุนน้ำมัน นี่ก็ 1 แสนล้านบาท
และครั้งที่ 3 ก็อาศัยเหตุการณ์ที่ปตท.สผ. เข้าพื้นที่แปลงสัมปทานเอราวัณล่าช้า เพราะการเจรจาระหว่างกระทรวงพลังงานกับเชฟรอนยืดเยื้อ กระทรวงพลังงานก็เรียกค่าปรับชอร์ตฟอลที่ปตท.ส่งมอบก๊าซฯ จากอ่าวไทยได้ต่ำกว่าสัญญาเป็นวงเงิน 4.3 พันล้านบาทอีก
ก็วนเวียนแบกภาระกันไปอย่างนี้แหละ ไม่กฟผ.ก็ปตทในการเข้าไปตรึงค่าไฟฟ้า ตามนโยบายของรมว.พีระพันธุ์ ความชอบธรรมทางกฎหมาย มีแค่ไหน ไปคิดกันเอาเอง!
ส่วนค่าไฟฟ้ารอบใหม่ งวดพ.ค.-ส.ค.ศกนี้ มติคณะกรรมการกิจการพลังงานหรือกกพ.เมื่อ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้ตรึงราคาค่าไฟฟ้าคงเดิมที่ 4.15 บาท/หน่วย แต่ภายหลังรมว.พีระพันธุ์เสนอครม. “รับทราบ” ค่าไฟรอบใหม่ที่ 3.99 บาท เมื่อ 1 เม.ย.ให้ปรับลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาท
พร้อมครม.สั่งการให้พีระพันธุ์-กกพ.-กฟผ.ไปหาทางเจรจากับเอกชนในเรื่องการแก้ไขสัญญารับซื้อไฟในรูปแบบแอดเดอร์และ FiT การลดค่าพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงาน (EP) ภายในเวลา 45 วัน
มันจะสำเร็จทัน ค่าไฟฟ้างวดพ.ค.-ส.ค.นี้หรือเปล่า ก็ไม่รู้นะ และตัวเลขค่าไฟที่ 3.99 บาท ถ้าสังเกตให้ดี ก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ “มติครม.” นะ เพียงแต่ “ครม.รับทราบ” เท่านั้น ผลทางปฏิบัติระหว่าง “มติเห็นชอบ” กับ “รับทราบ” ก็ย่อมจะแตกต่างกันมาก
เรื่องที่นึกไม่ถึงสำหรับรมว.พีระพันธุ์อีกเรื่องหนึ่งก็คือ มีคนไปร้องป.ป.ช.ว่าทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 187 เพราะถือครองหุ้น 4 บริษัท อันเป็นข้อต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
รายชื่อ 4 บริษัทนั้น ก็ได้แก่1)บริษัทรพีโสภาค 2)โสภา คอลเล็คชั่นส์ มีรายชื่อบุคคลในตระกูลสาลีรัฐวิภาคถือครองหุ้น ส่วนรมต.พีระพันธุ์นั้น ถือครองหุ้น 73% และ 10% ตามลำดับ
3)พี&เอส แลนด์ &ดีเวลลอปเม้นท์ และ4)วีพี แอโร่ เทค รมว.พีระพันธุ์ถือครองหุ้น 93% และ 73% ตามลำดับ และยังมีคนสนิทรมต.ชื่อพล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นบอร์ดกฟผ.และมีบทบาทคัดค้านการประมูลขุด-ขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะ เข้าร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย
ความผิดตามมาตรา 187 เป็นความผิดของรัฐมนตรีที่ยังคงถือครองหุ้น และยังคงเป็น “ลูกจ้าง” เช่นเดียวกับอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ที่รับจ้างทำกับข้าวออกทีวี
นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าบริษัททั้ง 4 ดังกล่าว ได้จดทะเบียนบริคณห์สนธิข้อหนึ่ง ระบุว่าเป็นบริษัทประกอบธุรกิจการพิมพ์และสิ่งพิมพ์ อันเป็นข้อต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(6) ประกอบมาตรา 98(3) เช่นเดียวกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจโดนลงโทษเปี๊ยบเลย
ยังไม่แจ้งว่า รมต.พีระพันธุ์ได้กระทำการผ่อนผันตามกฎหมายเปิดช่องเพียงใด
แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าคนที่เติบโตจาก “คมกฎหมาย” อย่างพีระพันธุ์ จะโดน “นิติสังหาร” ย้อนศรเช่นเดียวกับชะตากรรมสมัคร-ธนาธร ต้องกลายเป็น “กิ้งกือตกท่อ” เสียก็ไม่รู้
ชาญชัย สงวนวงศ์