
น้อยเกินไป & มากเกินไป
หลังครบรอบ 1 ปี ในตำแหน่งประธานกรรมการ ตลท. “กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” เปิดแถลงข่าวบอกเล่าพูดคุย แบบเรียบง่ายสไตล์กันเองกับบรรดาสื่อมวลชนสายตลาดทุน
หลังครบรอบ 1 ปี ในตำแหน่งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) “กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” เปิดแถลงข่าวบอกเล่าพูดคุย แบบเรียบง่ายสไตล์กันเองกับบรรดาสื่อมวลชนสายตลาดทุน ทว่าบนความเรียบง่าย แต่แฝงด้วยเนื้อหาสาระสำคัญไว้อย่างน่าสนใจ
ประธานฯ “กิติพงศ์” เริ่มต้นด้วยคำว่า..หลังครบรอบ 1 ปีกับตำแหน่งประธานกรรมการตลท. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินแผนงานหลายโครงการสำคัญ และมีประเด็นการสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการคือ 1)การปรับปรุง Floor หุ้นใหม่ที่ซื้อขายวันแรก 2)Capped Weight หุ้นรายตัวดัชนี SET50/SET100, SET50FF/SET100F ไม่เกิน 10% 3)จำกัดเฉพาะหุ้น SET100 ที่ผู้ลงทุนกลุ่ม HFT ซื้อขายได้
ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนตลาดหุ้นไทยที่มีอยู่ 800 บริษัทนั้น มัน “น้อยเกินไป” เมื่อเทียบจำนวนธุรกิจที่เสียภาษีในประเทศไทยที่มีอยู่มากกว่า 100,000 บริษัท
จึงต้องการเห็นบริษัทจดทะเบียนระดับ 1,000-1,500 บริษัทที่เข้าจดทะเบียนตลาดหุ้น
โดยแนวทางการเพิ่มจำนวนบริษัท จะมาจากหลายส่วน ทั้งการดึงบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวที่มีอยู่ในประเทศไทย เข้ามาสู่ตลาดหุ้น รวมถึงการดึงดูดธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาระดมทุน อาทิ ธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และได้สิทธิทางภาษี จาก BOI ให้เข้าระดมทุนตลาดหุ้นไทยได้..ไม่จำเป็นต้องมีผลประกอบการที่มีกำไร..!?
ผนวกการเชิญชวนบริษัทขนาดใหญ่ในไทย ให้นำบริษัทลูกเข้ามาระดมทุนตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น เช่นกลุ่มปตท. (PTT) ที่มีธุรกิจยา หรือกลุ่มดับบลิวเอชเอฯ (WHA) ที่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีผ่านบริษัทลูกที่สามารถผลักดันเข้าตลาดหุ้นได้ เบื้องต้นมีแนวคิดจะเพิ่มจำนวนกระดานหุ้นที่โฟกัสกลุ่มธุรกิจใหม่ (New Economy) เพื่อดึงดูดใจนักลงทุนมากขึ้น
“ต้องการที่จะเพิ่มจำนวนบจ.จากปัจจุบันที่มี 800 บริษัท เป็น 1,000-1,500 บริษัท จากบริษัทในธุรกิจไทยที่เสียภาษีอยู่ในประมาณ 100,000-200,00 บริษัท และบริษัทจากต่างชาติเข้ามาลงทุนไทย โดย BOI พร้อมสนับสนุนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม รวมถึงบริษัทที่ Spin-off จากบริษัทใหญ่ ที่มีเทคโนโลยีใหม่ให้เป็นทางเลือกการลงทุน โดยอาจมีการเพิ่มกระดานหุ้นอีก 1 กระดานมารองรับธุรกิจใหม่”
พร้อมเสนอแนวคิดอยากลดจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ลง ประมาณครึ่งหนึ่ง จากปัจจุบันมีอยู่จำนวน 39 แห่ง เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของบริษัทหลักทรัพย์ให้เติบโต และรับมือกับตลาดที่มีความผันผวนและปริมาณการซื้อขายที่ลดลง ด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการควบรวมธุรกิจเพื่อความอยู่รอด ส่วนบทวิเคราะห์ที่อาจไม่ครอบคลุมอาจใช้ AI เข้ามาช่วยได้..!!
“ปัจจุบันมีบล. 39 บริษัท ถือว่า “มากเกินไป” จึงต้องการสนับสนุนให้ควบรวมกิจการเหลือครึ่งหนึ่ง เพราะเท่าที่ทราบขาดทุนครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 18 ราย ที่เป็นโบรกเกอร์ขนาดเล็ก ที่ขาดทุนต่อเนื่องมา 1-2 ปี เพราะภาวะตลาดไม่ดี ทำให้มูลค่าการซื้อขายหดหายไปมากแต่อยากให้เน้นบริการคุณภาพดี ๆ อย่างงานวิเคราะห์ไม่ต้องมาแย่งลูกค้ากัน ด้วยการควบรวมกิจการทางตลาดอาจให้สิทธิในการควบรวมกัน
จากเนื้อหาข้างต้นคีย์เวิร์ดมันอยู่ที่คำว่า “น้อยเกินไป & มากเกินไป” ที่ประธานฯ กิติพงศ์ กำลังบ่งชี้ให้เห็นว่า “ตลาดหุ้นไทย ขาดความสมดุล” ใช่หรือไม่.!?
เปรียบดั่ง “ตลาดที่มีแต่สินค้าชนิดเดิม ๆ ไม่มีสินค้าใหม่ไร้แรงจูงใจ ทำให้ลูกค้าถดถอยลดลงน้อย แต่กลับเต็มพ่อค้าแม่ค้าที่แข่งกันขายสินค้าเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ..!!
สุดท้ายหนี้ไม่พ้น “ตลาดวาย..คนซื้อหาย..คนขายหด” เป็นแน่แท้..!?
ถือว่าเป็นโจทย์ท้าทายให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวกันต่อว่า..การเพิ่มจำนวนหุ้น (คุณภาพ) ในตลาด..และลดจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ (จากการควบรวม) จะทำได้มากน้อยแค่ไหน..ก่อน “ตลาดหุ้นไทยจะ (วอด) วาย” ไปมากกว่านี้..!!!
เล็กเซียวหงส์