3 ผู้นำตลท. ถ่ายทอดบทเรียน 3 ยุค สร้างความยั่งยืนสู่อนาคตตลาดทุนไทย

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดงานครบรอบ 50 ปี พร้อมการสัมมนาภายใต้หัวข้อ “Legacy& Future : 50 Years of Thai Capital Market”


เส้นทางนักลงทุน

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดงานครบรอบ 50 ปี พร้อมการสัมมนาภายใต้หัวข้อ “Legacy& Future : 50 Years of Thai Capital Market” โดยมี 3 ประธานกรรมการตลาดหุ้นไทย ประกอบด้วย  ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ เป็นผู้ให้มุมมองทั้งในส่วนของการสร้างระบบความมั่นคง การส่งเสริมดิจิทัลแพลตฟอร์ม การปฏิรูปธรรมาภิบาล-กฎหมายเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่น ตลอดจนการขับเคลื่อนโครงการใหม่ ๆ

โดย ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 16 ระบุว่า ความท้าทายในช่วงที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2558-2563 แม้ช่วงเวลาดังกล่าว ภาวะเศรษฐกิจเอื้ออำนวย ทำให้ทุกอย่างไปได้ดี แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องสร้างเสถียรภาพให้ระบบ 2 ด้าน คือ (1) การดูแลระบบตลาดให้มีความมั่นคง ผ่านระบบ FinNet เพื่อลดจำนวนธุรกรรม (Transaction) ระหว่างลูกค้าและบริษัทหลักทรัพย์ และ (2) การดูแลความมั่นคงของระบบจัดการความเสี่ยง (Risk Management)

จึงทำให้เกิดการร่วมมือข้ามองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเชื่อมข้อมูลบริษัทลูกค้าและประเมินความเสี่ยง ดูแลบริษัทที่จะมีการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E เพื่อไม่ให้กระทบกับความเชื่อมั่นของระบบตลาดตราสารหนี้

ขณะเดียวกัน การผลักดันงานด้านความยั่งยืน (Sustainability Development) โดยส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่ใช้มาตรฐานสากลด้วยการเข้ารับการประเมินเป็นสมาชิก DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) จากเดิมมีเพียงสองบริษัท ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และบริษัท ราชพัฒนา เอ็นเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) หรือ SCG แต่เมื่อตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างองค์ความรู้และส่งเสริมบริษัทอื่น ๆ ทำให้ปัจจุบันมีมากกว่า 20 บริษัท

ด้าน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 17 (พ.ศ. 2564-2567) กล่าวว่า ช่วงที่เข้ามารับตำแหน่งปี 2564 มี Legacy และ Future ที่ต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะการเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การเริ่มใช้ระบบซื้อขายใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดของ NASDAQ, การจัดตั้ง Thai Digital Assets Exchange (TDX), e-Meeting Platform, LiVE Platform, LiVE Exchange, ESG Academy, ESG Data platform ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมี LiVE Platform เปิดโอกาสให้คนทำกิจการเล็กหรือสตาร์ตอัพที่สนใจตลาดการเงินเข้าถึงความรู้ ต่อมาก็มี LiVE Exchange แม้สมาชิก LiVE Platform มีจำนวนกว่า 3,000 ราย ใน LiVE Exchange มี 4-5 บริษัท แต่ก็เชื่อว่าเราเดินไม่ผิด ซึ่งรูปแบบตลาดทุนในอนาคตที่เหมาะสมกับธุรกิจต่าง ๆ อาจไม่ใช่รูปแบบที่คุ้นเคยกันในปัจจุบัน ต้องคิดสิ่งใหม่ที่ไม่แพ้คนในยุค 200 ปีที่ผ่านมาที่คิดตั้งตลาดหลักทรัพย์ขึ้น

ดังนั้น ในรอบ 50 ปี มี Legacy ที่สำคัญมากของตลาดทุนไทย คือ ปี 2535 ที่มีการจัดตั้ง ก.ล.ต. และออก พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ  เพื่อวางกรอบ IPO และการ Integrate ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน อาทิ ธุรกิจหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ TSD สำนักหักบัญชี ยกตัวอย่างเคสที่เป็น Paradox ตลาดหุ้นไทย คือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE และบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK

โดย MORE คือคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะปั่นหุ้นและโกงโบรกเกอร์ ด้วยการใช้บัญชีเงินสด วางหลักประกันเพียงแค่ 10% ขณะที่โบรกเกอร์ให้อำนาจซื้อที่สูง แต่เรามีระบบชำระราคาที่เข้มแข็งซึ่งเป็นหัวใจของตลาดหลักทรัพย์ ที่สามารถทำงานได้เรียบร้อย จึงทำให้ระบบไม่เฟล

ส่วน STARK ต้องมีการสร้างระบบที่ดีให้กับผู้สอบบัญชี ผู้ทำบัญชี รวมทั้งคุณภาพและความเข้มแข็งของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ ความซื่อสัตย์ของ FA และ IB

จึงมองว่า MORE และ STARK เป็น Black Swan ที่เกิดขึ้นกับทั้งตลาดหลักทรัพย์ไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกที่โยงกับ Legacy อยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งก็มีความตื่นตัว เช่น เพิ่มเรื่องการเตือน นำ AI มาจับ Financial Ratio การสร้างความแข็งแกร่งให้กับธรรมาภิบาล (Corporate Governance) การดำเนินคดีร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น Class Action ดังนั้น Good Governance และการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็งขึ้น (Law Enforcement) เป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่การเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. ต้องทำด้วยความระมัดระวังพอประมาณ เติมเฉพาะในส่วนที่พร่อง

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงของการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่กำลังทำอยู่และจะทำต่อไป คือ การสร้าง Trust and Confidence ให้เกิดขึ้นกับตลาดทุนไทย มุ่งเน้นการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม พร้อมไปกับทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังขับเคลื่อนโครงการ Thailand Individual Saving Account (TISA) เพื่อส่งเสริมคนไทยซื้อหุ้นระยะยาว การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในงานวิจัย การเปิดเผยข้อมูล มุ่งเน้นไปที่ Future ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเป็นฐานข้อมูลให้นักลงทุน ครบ เข้าถึงได้ เพื่อให้ผู้ลงทุนนำไปตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้ ถ้าสามารถขับเคลื่อนได้ อนาคตประเทศไทย จะเห็นสิ่งใหม่ ๆ

งานนี้ถือว่า 3 ผู้นำของตลาดหุ้นไทยได้ถ่ายทอดบทเรียนใน 3 ยุคที่ผ่านมา เพื่อเดินหน้าสู่การสร้างความยั่งยืนในอนาคตของตลาดทุนไทย

Back to top button