กระต่ายตื่นตูม vs กระต่ายขาเดียว

สงครามน้ำลายระหว่างรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นในการประชุมรัฐมนตรีคลังชาติร่ำรวยหรือ G7 ที่เซนไดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นตลกคั่นเวลาก่อนที่จะมีสงครามจริงเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้


วิษณุ โชลิตกุล

 

สงครามน้ำลายระหว่างรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นในการประชุมรัฐมนตรีคลังชาติร่ำรวยหรือ G7 ที่เซนไดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นตลกคั่นเวลาก่อนที่จะมีสงครามจริงเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้

ข้อวิวาทะของรัฐมนตรีคลังทั้งสองชาติเกิดจากการตั้งสมมติฐานว่า ค่าเงินเยนแข็งเทียบดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบัน ที่ระดับสูงสุดในรอบ18 เดือน เกิดจากกลไกที่ผิดธรรมชาติของตลาดหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าญี่ปุ่นต้องยืนกระต่ายขาเดียวว่าผิดธรรมชาติ เพราะแข็งเกินพื้นฐานเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของตน จึงอาจใช้สิทธิเข้าแทรกแซงเพื่อกลับสู่ระดับที่สมเหตุสมผล

ในขณะที่สหรัฐฯ ยืนยันว่า อัตราแลกเปลี่ยนเยน/ดอลลาร์ยังไม่หลุดกรอบของความมีระเบียบ ถือว่าเป็นกลไกธรรมชาติที่ยังไม่ควรแทรกแซง

ความไม่ลงรอยดังกล่าวทำให้การประชุมรัฐมนตรีคลัง G7 จบลงด้วยข้อสรุปที่แทบไม่มีอะไรใหม่หรือ ประชุมเพื่อประชุม ตามปกติ เพราะว่ากันตามจริงแล้วรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯไม่มีอำนาจกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นภารกิจของเฟดฯ แม้ว่ารัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นจะมีอำนาจเหนือผู้ว่าแบงก์ชาติญี่ปุ่นเบ็ดเสร็จ

เมื่อคาดหวังอะไรจากการประชุมรัฐมนตรีคลัง G7 ไม่ได้ ตลาดหุ้นและตลาดทุนทั่วโลกในวันนี้และจากนี้ไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากปรับจุดโฟกัสที่การประชุมประจำเดือนมิถุนายน และราคาน้ำมันของโลก รวมทั้งเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก เหมือนเดิม ซึ่งหนีไม่พ้นวงจรของความผันผวนของสัญญาณเทคนิคและข่าวดีหรือร้ายระยะสั้นที่จะเกิดขึ้น จนยากจะคาดเดาทิศทางของตลาดได้

นักลงทุนก็เลยต้องตกอยู่ในสภาพทางเลือกแค่ 2 ทางคือ เป็นกระต่ายตื่นตูมที่พร้อมจะขายเมื่อมีข่าวร้าย หรือ กระต่ายขาเดียวที่มั่นใจตัวเองเกินขนาด โดยต่อสู้กันเองไปมาเหมือนจิ้งหรีดที่ถูกปั่นหัวเป็นระยะๆ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก ดัชนีของตลาดหุ้นนิวยอร์กรีบาวด์กลับจากแนวรับสำคัญเหนือ 17,400 จุดของดัชนีดาวโจนส์ แม้ว่ายังไม่อาจถือว่าเป็นการกลับทิศทางชัดเจน แต่อย่างน้อยก็สงสัญญาณว่า หลังการขายหุ้นทิ้ง 3 วันรวดในตลาดนิวยอร์ก โปรแกรมการซื้อขายอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังทำหน้าที่ในการเข้าซื้อกลับที่แนวรับ ทำให้สัญญาณแท่งเทียนเกิดเป็น reversed hammer ที่บอกว่าจะไม่ลงต่ำกว่านี้อีกแล้ว

เส้นกราฟในการซื้อขายของวันที่ดาวโจนส์ และ S&P500 บอกชัดเจน ว่าการเล่นหุ้นของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในอเมริกานั้น แตกต่างกับการซื้อขายด้วยมนุษย์ในตลาดอื่นๆ อย่างไร

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เมื่อวันศุกร์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 65.54 จุด ปิดที่ 17,500.94 จุด ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 12.28 จุด ปิดที่ 2,052.32 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 57.03 จุด ปิดที่ 4,769.56 จุด

คำอธิบายอย่างง่ายและหยาบของนักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีท ที่ไม่ต่างอะไรกับนักวิเคราะห์ที่ตลาดหุ้นอื่นๆ บอกว่า นักลงทุนคลายความวิตกชั่วคราว เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สูงขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน หลังรายงานของเฟดส่งสัญญาณถึงการสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอซึ่งรวมถึง ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ที่เปิดเผยไปก่อนหน้านี้ ถูกนำมาอธิบายปรากฏการณ์เมื่อวันศุกร์ในตลาดนิวยอร์กว่า  สหรัฐฯ ยังคงมีเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าในปีที่ผ่านมาในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลให้เชื่อได้ว่า เฟดฯจะยังคงไม่มีความเชื่อมั่นมากพอที่จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าข้อเท็จจริงจะสวนทางออกมาอีกพร้อมกันว่า รายงานของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐฯ (NAR) ที่ระบุว่า ยอดขายบ้านมือสองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมากกว่าคาดการณ์ โดยยอดขายเดือนเมษายนพุ่งขึ้น 1.7% เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับสูงสุดในรอบสามเดือนที่ 5.45 ล้านยูนิต เป็นปัจจัยหนุนบ่งชี้ว่าความต้องการบ้านยังคงแข็งแกร่งและตลาดที่อยู่อาศัยสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวขึ้น

ความไม่ลงรอยกันของดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ที่ส่งต่อความแปรปรวนของตลาดหุ้น ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าไซด์เวย์ได้ง่าย จังหวะการขายทิ้งให้หุ้นลงแรงมากๆ ต่อเนื่อง หรือขึ้นแรงต่อเนื่อง น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในระยะอันใกล้นี้

เหตุผลก็เพราะตัวแปรของข้อมูลในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ ไม่สามารถทำให้คนเชื่อว่าจะมีภาวะฟองสบู่ตลาดหุ้นจะแตก ตามคำพูดของคนที่อ่อนหัดด้านเก็งกำไร ที่ไม่เคยหรือไม่พยายาม โดยเข้าใจว่า การพักฐาน การปรับฐาน หรือการพังทลายของตลาด ต่างกันอย่างไร

โดยเฉพาะตลาดไทย การหยุดยาว 3 วันในสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องที่ดี เพราะการรีบาวด์กลับของดัชนีเกือบทั่วโลก แม้ยังไม่เข้าเขตขายมากเกิน จะทำให้ตั้งแต่เช้าวันจันทร์นี้ไป สติสัมปชัญญะของนักลงทุนที่พากันขาย (โดยเฉพาะกองทุนตัวแสบที่พากันลากลงไปเล่นรอบเพื่อหาโอกาสปิดกอง) เมื่อวันพฤหัสบดี สามารถพลิกกลับคืนมา เพราะซึมซับข่าวร้ายไปจนหมดแล้ว เพื่อเข้าสู่เส้นทางการลงทุนใหม่ในสัปดาห์นี้แทน

โดยเฉพาะนักลงทุนที่ช่ำชองที่รู้แล้วว่า  จังหวะหุ้นที่ลงมาชั่วคราวปลายสัปดาห์ก่อน ย่อมเหมาะเจาะที่จะเป็นจังหวะเลือกซื้อมากกว่าแห่ขาย โดยใช้ประโยชน์จากแรงขายของนักลงทุนที่ตื่นตระหนกเป็นกระต่ายตื่นตูม ที่เห็นหุ้นร่วงทีไร คิดจะล้างพอร์ตอยู่เรื่อยอย่างหลงผิด สามารถจะต่อยอดใหม่หาทางทำกำไรต่อไป

นักวิเคราะห์วอลล์สตรีท ที่ถือว่าแม่นยำกับสัญญาณขาขึ้นมากที่สุดคนหนึ่งบอกว่า ความผันผวนของตลาดหุ้นยามนี้เป็นแค่สถานการณ์เฉพาะหน้า แต่ภายในสิ้นปี 2560 หรือปีหน้านั้น ดัชนี S&P 500 ที่ใครบอกว่าพี/อีปัจจุบันสูงเป็นสถิติคือ 16.5 เท่า ยังถือว่าต่ำเกินไป เพราะจะมีโอกาสทะยานขึ้นไปที่ระดับ 2,340 จุด เพิ่มจากปัจจุบันที่ระดับ 2,040 จุด อีกประมาณ 15%  เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจะแข็งแกร่งขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และเยอรมนี ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่มีกรณีการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษในกลางเดือนมิถุนายนนี้

การคาดเดาดังกล่าว สอดรับกับโกลด์แมน แซคส์ที่บอกว่าสิ้นปีนี้ราคาน้ำมันจะทะลุเหนือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่คำพยากรณ์เช่นว่าข้างต้น ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะเป็นตามที่ว่า และสถิติที่ผ่านมาก็ผิดมากกว่าถูก เพราะนักวิเคราะห์ทุกคนล้วนมีการอ้างอิงเพื่อป้องกันตัวเองเสมอ

นั่นหมายความระหว่างนี้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน เราจะได้เห็นกระต่ายตื่นตูม และกระต่ายขาเดียวเดินหมุนเวียนผ่านหน้าไปจนเป็นปกติธรรมดา มากกว่าระดับปกติ

Back to top button