แสร้งโง่ ?พลวัต 2016

คำโอดครวญของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในงานประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ประจำปี 2559 ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ว่าการที่ภาคเอกชนลดการลงทุนรุนแรง ทำให้ความพยายามของรัฐไม่ได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีคำถามตามมาว่า รองนายกฯสมคิดแสร้งโง่ หรือโง่จริง กันแน่


วิษณุ โชลิตกุล

คำโอดครวญของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในงานประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ประจำปี 2559 ที่โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ว่าการที่ภาคเอกชนลดการลงทุนรุนแรง ทำให้ความพยายามของรัฐไม่ได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีคำถามตามมาว่า รองนายกฯสมคิดแสร้งโง่ หรือโง่จริง กันแน่

รองนายกฯสมคิด ไม่รู้เลยหรือว่า ในวิชาเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นของมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีนั้น มีการพูดถึงคำว่า crowding-out effect ไว้อย่างชัดเจน

ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ย้อนกลับมาดูรายละเอียดกันก่อน รองนายกฯสมคิดระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยามนี้มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น โดยเศรษฐกิจไตรมาสแรกขยายตัวได้ 3.2% มีแรงขับเคลื่อนมาจากในประเทศเป็นหลักจากนโยบายกระตุ้นและเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาล รวมทั้งการท่องเที่ยว ส่วนการส่งออกยังชะลอตามภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี พบว่าการลงทุนเอกชนในช่วงที่ผ่านมายังขยายตัวได้ต่ำ โดยธนาคารไทยพาณิชย์เก็บข้อมูลสัดส่วนสินทรัพย์ต่อการลงทุน พบว่าอยู่ที่ 1.2-1.3% จากที่เคยมีสัดส่วนมากกว่า 2% แปลว่าเอกชนไทยส่วนใหญ่ไม่ลงทุน ขณะที่เอกชนของสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีสัดส่วนกว่า 1.7-1.8% บางประเทศมากกว่า 2%

ข้อสรุปชนิด “ฟันธง” ของรองนายกฯสมคิดที่ถนัดนักกับการเลกเชอร์ให้คนฟังเป็นเวลายาวนานเหมือนสอนหนังสือว่า การที่เอกชนไทยไม่ลงทุนแต่ให้รัฐบาลทำอย่างเร็ว วิ่งอยู่คนเดียว จะให้เศรษฐกิจไทยสามารถยืนอยู่ได้ต่อ ในภาวะที่การส่งออกชะลอตัว ต่อไปจะไหวหรือ

พร้อมกันนั้น รองนายกฯสมคิดยังบอกอีกว่า บีโอไอมีนโยบายเปิดกว้างชัดเจนต่อผู้ประกอบการมากขึ้นในเรื่องสิทธิพิเศษ และกระทรวงการคลังกำลังจะมีการนำเสนอ ครม.พิจารณา เรื่องหักค่าใช้จ่าย 2 เท่าว่าไม่ต้องลงทุนแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ แต่ลงทุนไปเท่าไรสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เอกชนมีการลงทุน

เป้าหมายของรองนายกฯสมคิด มีน้ำเสียงออกมาชัดเจนเช่นกันว่า ไม่ได้ห่วงใยว่าการลงทุนของผู้ประกอบการจะกำไรหรือเจ๊ง แต่ต้องการให้เอกชนลงทุนเพราะห่วงว่า ธนาคารจะย่ำแย่มากกว่า เพราะ  “…หากไม่ลงทุนตอนนี้เงินก็จะท่วมธนาคาร ดอกเบี้ยก็จะยิ่งต่ำไปอีก เหมือนอย่างญี่ปุ่นที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ จะฝากเงินแต่กลับต้องจ่ายเงินธนาคารแทน”

คำโอดครวญจากเจตนาที่แปลกประหลาดของรองนายกฯสมคิดนั้น ดูจะหลงลืมไปว่า การที่รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาทำการแทรกแซงกลไกเศรษฐกิจ โดยอ้างถึงเจตนาดีของนโยบายประชารัฐ “ที่ดัดแปลงให้ชื่อเพี้ยนไปจากคำที่น่ารังเกียจ “ประชานิยม” นั้น คือรากเหง้าของปัญหาที่ทำให้การลงทุนของเอกชนลดลง

                ในช่วงรัฐบาลจากการเลือกตั้ง (โดยเฉพาะของพลพรรคทักษิณ ชินวัตร ชื่อที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งของคนต่อต้าน ซึ่งรองนายกฯสมคิดก็เคยร่วมหัวจมท้ายมาเป็นเวลานานหลายปี) นโยบายประชานิยม ที่เน้นกระจายรายได้ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชนชั้นกลาง กรรมกรผู้ใช้แรงงานและกลุ่มรากหญ้าที่เป็นเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท การปรับเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ สำหรับผู้จบปริญญาตรีให้มีเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาทต่อเดือน และลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 23% โดยนำเงินที่ได้จากการประหยัดภาษีไปจ่ายเป็นค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น ถูกตั้งคำถามเชิงลบมากมายว่า เข้าข่าย “เจตนาดี ประสงค์ร้าย

                ยามนั้น มีการอ้างตำรามากมายมาตำหนิว่าประชานิยม จะทำให้ 1)หนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น เพราะ รัฐบาลจะนำเงินมาจากส่วนใดในการนำมาใช้ในการดำเนินนโยบาย และ 2)  คำว่า crowding–out effect คือพฤติกรรมน่ารังเกียจเพราะ การที่ภาครัฐบาลมีการอัดฉีดเงินหว่านโปรยเพื่อใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ จะไม่ทำให้ GDP ของประเทศไม่สามารถที่จะเพิ่มขึ้นได้ และกลับส่งผลลบต่อภาคเศรษฐกิจ ทั้งในด้านของผู้บริโภคและภาคเอกชนที่เป็นผู้ผลิต เพราะรัฐ “เบียดบังทรัพยากรจากภาคเอกชน

                คำว่า รัฐเบียดบังทรัพยากรจากภาคเอกชน ที่รัฐบาลชุดนี้กระทำผ่านนโยบายประชารัฐ ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากประชานิยมที่น่ารังเกียจแต่อย่างใดเลย แถมยังขี้ริ้วขี้เหร่กว่าหลายเท่า เพราะสิ่งที่คนทั่วไปได้เห็นคือการเลือกปฏิบัติอย่าง “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า”

                คนฉลาดอย่าง รองนายกฯสมคิด จะไม่รู้เลยหรือว่า การทำให้คน “ฐานราก” ยากจนลงจากมาตรการ “ผักชีโรยหน้า” ผ่านกลไกรับรวมศูนย์ที่กระทำผ่านนโยบายประขารัฐในยามนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และโอกาสของคนในสังคมถ่างกว้างกว่าเดิมในทุกระดับ นับแต่ระดับเมืองกับชนบท คนรวย คนชั้นกลาง และคนยากจน ที่เป็นโครงสร้าง “รวยกระจุก จนกระจาย” นั้น รุนแรงแค่ไหน 

                มาตรการ “ประชารัฐ” นั้น ใช้เงินลงทุนจากงบประมาณภาครัฐจากเงินภาษีของประชาชน ยิ่งโครงการของรัฐบาลต้องใช้เงินทุนมากเท่าไหร่ จะต้องใช้เงินภาษีมากขึ้นเท่านั้น

ในทางปฏิบัติ รัฐบาลที่ไม่อยากจัดเก็บภาษีกับประชาชนเพิ่มขึ้น อาจจะก่อหนี้เพิ่มจากการกู้ยืมเงินจากตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการออกพันธบัตร หรือการกู้ยืมในต่างประเทศ

กรณีที่รัฐบาลจะต้องกู้ยืมเงินให้พอกับงบประมาณการใช้จ่ายนั้น ถ้าสภาพคล่องในระบบการเงินยังมีมากอยู่ อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนมากนัก แต่ถ้าสภาพคล่องเริ่มลดน้อยลง การกู้ยืมเงินของภาครัฐ จะเป็นเหมือนกับการไปแย่งเงินลงทุนของภาคเอกชน ส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับตัวสูงขึ้น ในที่สุดแล้วจะกระทบต่อต้นทุนในการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนอาจจะต้องลดการลงทุนลง และส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้

รัฐบาลปัจจุบัน อาจจะไม่ได้เผชิญกับความตึงเครียดจากปัญหางบประมาณขาดแคลน และอัตราดอกเบี้ยในประเทศก็ยังต่ำ (แม้จะสูงกว่าตลาดเงินในประเทศใหญ่ที่มีภาวะเงินฝืดเรื้อรัง) จึงไม่ได้รู้สึกหรือสำนึกว่ารัฐบาลได้เบียดบังทรัพยากรจากภาคเอกชน แต่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจภาคการส่งออกย่ำแย่ กำลังซื้อในภาคชนบทตกต่ำลงรุนแรงจากมาตรการระงับให้ประชาชนทำการผลิตในภาคเกษตรยาวนาน รวมทั้งการแก้ปัญหาภัยแล้งที่ไร้ประสิทธิภาพจากหน่วยงานรัฐ ทำให้การลงทุนภาคเอกชนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นทุกขณะ
   สิ่งที่รองนายกฯสมคิดควรกระทำนอกจากการโอดครวญและชี้นำให้ภาคเอกชนลงทุน จึงอยู่ที่การทบทวนว่า การลงทุนภาครัฐผ่านนโยบายประชารัฐ ที่กระทำอยู่นั้นมุ่งเน้นไปที่สิ่งใด และทำให้เกิดการลงทุนต่อยอดของภาคเอกชน หรือก่อให้เกิดการจ้างงานและการบริโภคเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยต้องไม่ลืมคิดด้วยว่า สำหรับภาคเอกชนนั้น การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง ไม่เหมือนกับภาครัฐที่ล้างผลาญภาษีอากรของประชาชนได้ง่าย โดยไม่ใส่ใจกับต้นทุน

เอกชนที่ไม่มั่นใจว่ารัฐจะพาหลงทางไปทิศใด ย่อมไม่สุ่มเสี่ยงลงทุนอย่างโง่เขลา โดยที่ไม่รู้ว่าผลตอบแทนจะคุ้มค่าหรือไม่

คำโอดครวญของรองนายกฯสมคิด จึงเป็นการ “ผายลม” ที่เปล่าดายมากกว่า นอกจากไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น แล้วยังไม่ได้ช่วยให้บรรยากาศทางการลงทุนเป็นบวกเพื่อดันให้ดัชนีตลาดหุ้นทะยานเป็นขาขึ้นฝ่าแนวต้านไปได้แม้แต่น้อย

 

Back to top button