ถอยหลังสู่หายนะพลวัต 2016

มติของคณะการรมการพลังงานแห่งชิตหรือกพช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 กำลังพาประเทศเข้าสู่หนทางจนตรอกและสุ่มเสี่ยงเนื่องจาก กพช.ได้ตัดสินใจเลือกตามข้อเสนอขอคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่าเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่ไม่มีอะไรรับรองความชอบธรรมกันเลยว่าจะเลือกเอาแนวทางการเปิดประมูลบนเงื่อนไขที่รัฐจะต้องได้ผลประโยชน์มากขึ้น สำหรับการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565และ 2566 คือแหล่งเอราวัณที่มีเชฟรอน เป็นผู้รับสัมปทานและแหล่งบงกชที่มี ปตท.สผ. เป็นผู้รับสัมปทาน


วิษณุ โชลิตกุล

 

มติของคณะการรมการพลังงานแห่งชิตหรือกพช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 กำลังพาประเทศเข้าสู่หนทางจนตรอกและสุ่มเสี่ยงเนื่องจาก  กพช.ได้ตัดสินใจเลือกตามข้อเสนอขอคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนเองว่าเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่ไม่มีอะไรรับรองความชอบธรรมกันเลยว่าจะเลือกเอาแนวทางการเปิดประมูลบนเงื่อนไขที่รัฐจะต้องได้ผลประโยชน์มากขึ้น  สำหรับการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565และ 2566 คือแหล่งเอราวัณที่มีเชฟรอน เป็นผู้รับสัมปทานและแหล่งบงกชที่มี ปตท.สผ. เป็นผู้รับสัมปทาน

ทางเลือกดังกล่าวเป็นการปฏิเสธทางเลือกเดิมของกระทรวงพลังงานที่เคยกำหนดเอาไว้ว่า  การเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิมก่อนเพื่อให้กระบวนการผลิตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

นี่คือชัยชนะเหนืออำนาจรัฐของกลุ่มคนที่เชื่อว่าตนเองรู้ดีเรื่องพลังงานมากกว่าใครๆ ในสังคมนี้ที่ทำให้รัฐบาลยอมสยบใต้อุ้งเท้าได้สำเร็จแต่นั่นยังไม่เพียงพอเพราปฏิบัติการรุกแบบ “ได้คืบเอาศอก” ยังคงไม่หยุดยั้ง

1 วันหลังจากที่มติกพช.ผ่านไปกลุ่ม คปพ. ก็ยื่นหนังสือคัดค้านการเปิดประมูลด้วยระบบสัมปทานแต่เสนอให้ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาถือครองกรรมสิทธิ์ทั้ง 100% ในแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุภายใน 6 เดือนและให้จัดการประมูลแข่งขันด้วยระบบจ้างผลิตเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างผลิตที่เสนอค่าจ้างผลิตปิโตรเลียมต่ำสุด   และเสนอให้รัฐบาลร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดเวทีสาธารณะเพื่อเปิดเผยเนื้อหาและทำประชาพิจารณ์ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมและร่างแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยให้ภาคประชาชนและนักวิชาการทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างและแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมอย่างเต็มที่

หากมองอย่างผิวเผินนี่คือเจตนารมย์ที่น่ายกย่องแต่หากมองให้ลึกที่คือการนำประเทศไปสู่หายนะอย่างชัดเจนจากความเสี่ยงเพราะการที่รัฐบาลยอมอ่อนข้อและเดินตามเกมที่คปพ.รุกคืบเข้ามาเรื่อยๆเสมือนรัฐบาลถูกปิดตาให้เดินเข้าไปในจุดเสี่ยงที่จะมีวิกฤตด้านพลังงานโดยเฉพาะต้นทุนพลังงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดจากการผลิตก๊าซในอ่าวไทยจากทั้งสองแหล่งใหญ่จะหยุดชะงักกระทบต่อแผนบูรณาการพลังงานทั้ง 5 แผนที่ประกาศกับนักลงทุน  

ที่สำคัญจะเปิดทางให้กับต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลเหนือธุรกิจพลังงานไทยอีกครั้งหนึ่งในนามของเจตนารมณ์? หวังดีต่อ “ประชาชน” ทั้งที่ความจริงแล้วประเทศไทยมีบริษัทน้ำมันแห่งชาติโดยพฤตินัยมานานแล้วนั่นคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT นั่นเอง

รากเหง้าความเป็นมาของปตท.ในฐานะบริษัทน้ำมันแห่งชาติได้ผ่านการต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยมมาอย่างเลือดตากระเด็นและต้องดำเนินธุรกิจภายใต้ข้อจำกัดว่าต้องพยายามไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของบริษัทน้ำมันต่างชาติโดยตรงเพื่อรักษาภาพของการเป็นประเทศที่ใช้นโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ

ปตท.ไม่เคยต้องพึ่งพาการโอนกิจการของต่างชาติเป็นของรัฐและยังเปิดโอกาสให้สิทธิกับบริษัทต่างชาติในสัมปทานต่างๆใกล้เคียงกับที่ ปตท.ได้รับในทุกระดับของธุรกิจปิโตรเลียมนับแต่การสำรวจ-ขุดเจาะกลั่น ค้าปลีก หรือธุรกิจต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการแข่งขันกัน

ก่อนจะมีปตท.นั้นโครงสร้างธุรกิจปิโตรเลียมของประเทศไทยในอดีตอยู่ภายใต้การครอบงำของบริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งหมดมาตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยเริ่มต้นต้องสั่งซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศผ่านบริษัทต่างประเทศซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยแค่ 2 บริษัทคือบริษัทแสตนดาร์ดแวคคัม ออยล์ ของอเมริกา (ปัจจุบันคือบริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด) และบริษัทรอยัลดัทช์ ปิโตรเลียมของอังกฤษกับฮอลแลนด์ (ปัจจุบันคือบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทยจำกัด)

บริษัทข้ามชาติทั้งสองมีสัญญาส่วนแบ่งการตลาดในลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อกันและกันชัดเจนกล่าวคือบริษัทของอเมริกามีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจีนและญี่ปุ่นร้อยละ 80 บริษัทของอังกฤษกับฮอลแลนด์มีส่วนแบ่งร้อยละ 20 แต่บริษัทอังกฤษกับฮอลแลนด์มีส่วนแบ่งในประเทศแถบอินโดจีนคือไทยแหลมมลายูพม่าและอินเดียร้อยละ 80 ส่วนบริษัทของอเมริกามีส่วนแบ่งร้อยละ 20

บริษัททั้งสองรักษาระดับราคาเพื่อให้เป็นไปตามสัญญา “กินแบ่ง” ตามที่ตกลงกันไว้และกีดกันให้บริษัทของคนจีนหรือคนไทยที่พยายามตั้งขึ้นมาแข่งขันต้องล้มไป

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รัฐบาลคณะราษฎรได้ให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงเนื่องจากเห็นว่าเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญของประเทศจึงมอบหมายให้กระทรวงกลาโหมดูแลเรื่องกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงโดยจัดตั้ง “แผนกเชื้อเพลิง” ขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2476 และได้ตราพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2481 ซึ่งทำให้บริษัทค้าน้ำมันต่างชาติหยุดดำเนินการส่งผลให้ตลาดโกลาหลเป็นเวลานาน

เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงสิ้นสุดลงตัวแทนของทหารฝ่ายสหประชาชาติได้ยื่นเงื่อนไขให้ไทยเปิดตลาดค้าน้ำมันเสรีขึ้นมาใหม่เปิดทางให้บริษัทน้ำมันต่างชาติได้กลับมาดำเนินการค้าในประเทศและให้รัฐบาลยกเลิกพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2481 ทำให้ไทยเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจอย่างไร้ข้อต่อรอง

แรงบีบคั้นของต่างชาติทำให้รัฐบาลไทยดิ้นรนจนถึงปีพ.ศ. 2502 รัฐบาลไทยจึงได้ก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันบางจากขึ้นแต่ก็ไม่อาจสู้กับบริษัทน้ำมันต่างชาติได้จนถึงหลังวิกฤตราคาน้ำมันครั้งแรกของโลกรัฐบาลจึงได้โอกาสตั้งคณะกรรมการศึกษาพิจารณาราคาน้ำมันสำเร็จรูปณโรงกลั่นและราคาขายปลีกของประเทศให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นพร้อมเร่งให้มีการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในทะเลจนพบว่ามีก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบในอ่าวไทยจึงได้มีการจัดตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2520 จึงเกิดแนวคิดจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Company) ขึ้นมาเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2521

บนเส้นทางอันยากลำบากกว่าจะพัฒนามาเป็น ปตท.ในวันนี้กำลังจะถูกสิ่งที่กลุ่มคนจำนวนน้อยที่เสียงดังลากจูงกลับไปสู่อดีตอีกครั้งหนึ่งแม้จะอ้างว่าเป็นชนพลังชาตินิยมไม่ได้ถอยหลังกลับไปสู่ใต้อิทธิพลของบริษัทพลังงานต่างชาติแต่ใครเลยจะมั่นใจได้ว่าการกระทำของคนกลุ่มนี้ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังและมีเจตนาแอบแผงบางประการที่ซ่อนเร้นอยู่

การตัดสินใจของกพช. ภายใต้อำนาจเด็ดขาดของรัฐบาลทหารชุดนี้ (โดยมีคนชักใยอยู่เบื้องหลังที่เป้นกลุ่มคนส่วนน้อยที่เสียงดัง) กำลังนำธุรกิจพลังงานของประเทศย้อนรอยจากแนวคิดชาตินิยมเศรษฐกิจของผู้นำกองทัพไทยตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ธนะรัชต์เคยต่อสู้กับมหาอำนาจตะวันตกมาโชกโชนในอดีตไปสู่หายนะครั้งใหม่ที่อาจจะไม่ต่างจากเวเนซุเอลานับแต่ยุคของอูโก้ชาเวซมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันที่กำลังจะล้มละลายเท่าใดนัก

คนไทยต้องการเช่นเดียวกันกับคนกลุ่มน้อยที่เสียงดังจริงหรือไม่ อีกไม่นานเราคงจะได้รู้กัน

Back to top button