กระทิง และ ฟันด์โฟลว์พลวัต 2016

ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง แรงกว่าลาดเอเชียด้วยกัน เพราะนอกจากปิดบวก 8.30 จุดขึ้นไปยืนเหนือ 1,420 จุดอีกครั้ง (หลังจากที่ทะยานบวกไปมากถึง 14 จุดในระหว่างวัน) รับแรงหนุนจากสินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวเพราะค่าดอลลาร์ที่อ่อนยวบ และการจับตาผลประชุมโอเปก ด้วยมูลค่าซื้อขายมากกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท เข้าสูตรเริ่มต้นภาวะกระทิงครั้งใหม่


วิษณุ โชลิตกุล

 

ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง แรงกว่าลาดเอเชียด้วยกัน เพราะนอกจากปิดบวก 8.30 จุดขึ้นไปยืนเหนือ 1,420 จุดอีกครั้ง (หลังจากที่ทะยานบวกไปมากถึง 14 จุดในระหว่างวัน) รับแรงหนุนจากสินทรัพย์เสี่ยงฟื้นตัวเพราะค่าดอลลาร์ที่อ่อนยวบ และการจับตาผลประชุมโอเปก ด้วยมูลค่าซื้อขายมากกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท เข้าสูตรเริ่มต้นภาวะกระทิงครั้งใหม่

สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือ แรงบวกเมื่อวานนี้ส่วนหนึ่งมาจากกระแสฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้า สังเกตได้จากค่าเงินบาทที่แข็งค่ากันมากกว่า 10 สตางค์ต่อดอลลาร์ และการซื้อสุทธิของทุนเก็งกำไรต่างชาติทั้งในตลาดเงินตรา ตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้พร้อมกัน

สัญญาณทางเทคนิค หลังจากปิดตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ ถือว่าสวยงามอย่างมากทีเดียว เพราะเห็นชัดว่าแนวต้านที่ถูกทำลายลงไป ทำให้เส้นกราฟผงกหัวขึ้นไปสู่ระดับใหม่ที่สูงขึ้น ดังที่นักวิเคราะห์บางสำนักประเมินว่า ภายใต้เงื่อนไขราคาน้ำมันดิบโลกที่ระดับเหนือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดัชนีจะวิ่งไปสิ้นปีนี้ที่ระดับ 1,480 จุด

นักวิเคราะห์ พยายามอธิบายว่า การไหลเข้าของทุนเก็งกำไร เกิดจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯค่อนข้างดี แต่ยังเปราะบาง และเฟดฯ ยังต้องการเวลาในการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับแรงส่งจากข่าวว่า โอเปกจะหวนกลับไปใช้ระบบโควต้าส่งออกเพื่อรักษาเอกภาพของกลุ่มต่อไปเอาไว้ แม้ไม่คาดหวังลดกำลังการผลิต เนื่องจากไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีก่อไป แต่มองในแง่ความร่วมมือกันของกลุ่มมากกว่า

จุดอ่อนที่นักวิเคราะห์มองเห็นว่าขาขึ้นของตลาดที่จะเป็นภาวะกระทิง ยังเปราะบาง เนื่องจากนักลงทุนจะเลือกซื้อขายกระจุกเป็นรายตัว มากกว่าซื้อขายทั่วทั้งกระดาน โดยให้ความหวังว่าหากสามารถฝ่า “ด่านอรหันต์” ที่ระดับแนวต้าน 1,432 จุดในวันนี้ได้ และต่อเนื่องไปทะลุแนวต้านถัดไป 1,440 จุด ก็จะเป็นภาวะกระทิงที่ได้รับการยืนยันแน่ชัด

เรื่องของฟันด์โฟลว์ทั้งเข้าและออกนั้น ไม่มีใครปฏิเสธว่าตลาดหุ้นที่ค่อนข้างเล็กอย่างไทยนั้น มีผลลัพธ์รุนแรง ค่อนข้างมาก การไหลเข้าทำให้เกิดภาวะกระทิงได้รุนแรงมาก แต่การไหลออกก็ทำให้เกิดภาวะตลาดพังได้ง่ายเช่นกัน

ในอดีตนั้น แบงก์ชาติของไทย เคยศึกษา “ความสัมพันธ์” ของเงินทุนเคลื่อนย้ายใน “เชิงสถิติ” ไว้เช่นกัน ซึ่งมีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมว่า ปัจจัยที่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายเรียงลำดับจากมากไปน้อยไปได้แก่ 1) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทย ทั้งในด้าน Risk on (กล้าเสี่ยง) หรือ Risk off  (กลัวความเสี่ยง) มีผลมากถึง 18% 2) แนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีน้ำหนักมากประมาณ 15% 3) ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ มีสัดส่วนอยู่ที่ 11% 4) อัตราดอกเบี้ยในประเทศกับตลาดโลก มีน้ำหนักเพียงแค่ 3%

หากพิจารณาจากแง่มุมนี้ การไหลเข้าของทุนต่างชาติในรอบนี้ ก็ไมน่าจะยาวนานมากนัก เพราะ แบงก์ชาติเองก็เพิ่งรายงานเมื่อวานนี้เองว่า ดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมายังลดลงมาอยู่ที่ 49.7 ต่ำลงกว่าค่าเฉลี่ยเป็นเดือนที่สอง สะท้อนว่าภ่าคธุรกิจเอกชนยังฟื้นตัวจำกัด ถึงแม้เศรษฐกิจโดยรวมจะปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

หากการไหลเข้าของทุนต่างชาติในรอบนี้ มาจากปัจจัยหลักในเรื่องอื่นคือ การเก็งกำไรอนาคตค่าเงินบาท และความผันผวนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ก็เท่ากับว่า ความไม่แน่นอนของภาวะกระทิงในตลาดหุ้นไทยยามนี้ อาจจะไม่ยั่งยืนมากนัก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ข้อเท็จจริงที่ว่า ได้เกิดภาวะกระทิงขึ้นมาแล้วกับตลาดหุ้นไทย ถูกปฏิเสธไปได้

คำถามเรื่องภาวะกระทิงแท้ หรือกระทิงเทียมของตลาดหุ้น ไม่ใช่คำถามใหม่ แต่สามารถพิจารณาได้จากตัวแปรที่ชัดเจนหลายปัจจัย

ภาวะกระทิงที่แท้นั้น นักวิเคราะห์หุ้นที่ช่ำชองจะบอกต่อๆ กันมาว่า มีจุดเริ่มต้นจากสถานการณ์ “ผ่าทางตัน” เสมอ นั่นคือ พลิกสภาพจากการสูญเสียความมั่นใจ มาสู่ภาวะมั่นใจอย่างเต็มที่ ก่อให้เกิดแรงซื้อที่เคยกระจุกตัวในหุ้นบางรายการ เป็นการกระจายตัวของนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยอย่างจริงจัง เพราะทุกคนคาดเดาตรงกันว่า ราคาหุ้นต่ำเกินสมควร

เมื่อเกิดสถานการณ์ ผ่าทางตัน แนวต้านจะถูกพังทลายอย่างง่ายดายครั้งแล้วครั้งเล่า สลับด้วยการพักฐานเป็นช่วงๆ ไม่ได้เกิดขึ้นตามสัญญาณทางเทคนิคของรอบการเก็งกำไร โดยไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนอย่างเสียหาย

ในช่วงเวลากระทิงนี้ นักวิเคราะห์ที่ช่ำชองสัญญาณทางเทคนิด มักจะยกเอาศัพท์จำเพาะเกี่ยวกับการฟอร์มตัวของดัชนีตลาดอย่าง  สามเหลี่ยม (triangles) ธง (flags) หรือ หัวและไหล่ (head and shoulders patterns) มาอ้างเพื่อสนับสนุนภาวะดังกล่าวซึ่งเป็นผลลัพธ์ทางสถิติธรรมดา แต่สัญญาณทางเทคนิคนี้ จะไม่สามารถบอกถึงพื้นฐานของกิจการเบื้องหลังราคาหุ้นได้ทั้งหมด

ในทางกลับกัน กรณีของภาวะกระทิงเทียม เราได้เห็นการพุ่งขึ้นของราคาหุ้นที่เกิดจากกำลังซื้อแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ โดยหาพื้นฐานที่แท้จริงไม่ได้ แถมนักวิเคราะห์บางรายก็สนับสนุนให้เข้าซื้อโดยอ้างเหตุผลที่ไม่เข้าท่าเข้าทาง ในบางกรณี การพุ่งขึ้นของหุ้นก็เกิดจากการเอาข่าวในอนาคตที่คลุมเครือเข้ามาสร้างประเด็นล่อหลอกให้เกิดแรงซื้อของแมงเม่าขึ้นมา บานปลายเป็นการวิ่งของราคาที่เกินจริง และวอลุ่มซื้อขายก็มากเกินสมควร จนต้องมีมาตรการกำกับที่เข้มงวดตามมา

ภายใต้สถานการณ์ที่ภาวะกระทิงแท้รอบนี้ ที่อาจจะไม่ยืนยาวมากนัก สิ่งที่นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อย ต้องพิจารณาควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้ตกอยู่ใต้ความประมาท คือ การพิจารณาล่วงหน้าถึง “กลยุทธ์ถอยกลับ” หรือ exit strategy อันเป็นการหาทางลงจากหลังกระทิงโดยไม่บอบช้ำเกินกว่าโอกาสที่ได้รับมา

X
Back to top button