รำพึงรำพันของนางเยลเลน

นอกเหนือจากมติของคณะกรรมการ FOMC ของเฟดฯ จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยที่เป็นข่าวดีแล้ว ข่าวร้ายจากนางเยลเลนก็ออกมาเป็นชุดที่ทำให้เกิดแรงขายท้ายตลาดทำเอาดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กเสียศูนย์เพราะหลุดแนวรับสำคัญระยะสั้นแล้ว ยังลามปามถึงตลาดหุ้นทั่วโลกไปด้วย เมื่อเกิดการแย่งขายเป็นปรากฏการณ์ประจำวัน ที่ไม่ได้เห็นมามากกว่าเดือนแล้ว


วิษณุ โชลิตกุล

 

นอกเหนือจากมติของคณะกรรมการ FOMC ของเฟดฯ จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยที่เป็นข่าวดีแล้ว ข่าวร้ายจากนางเยลเลนก็ออกมาเป็นชุดที่ทำให้เกิดแรงขายท้ายตลาดทำเอาดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กเสียศูนย์เพราะหลุดแนวรับสำคัญระยะสั้นแล้ว ยังลามปามถึงตลาดหุ้นทั่วโลกไปด้วย เมื่อเกิดการแย่งขายเป็นปรากฏการณ์ประจำวัน ที่ไม่ได้เห็นมามากกว่าเดือนแล้ว

เหตุผลของเฟดฯในการไม่ขึ้นดอกเบี้ยที่ล้วนไม่ใช่ข่าวดีประกอบด้วย 4 ประเด็น  1) การลงประชามติของอังกฤษที่ยังไม่แน่นอนในปลายสัปดาห์หน้า  2) เศรษฐกิจสหรัฐฯยังเติบโตเปราะบางคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 2% ต่ำกว่าเป้า 2.1% ของเดิม  3) แรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลกอีกนานพอสมควร ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯเป็นเรื่องยากลำบาก  4) ราคาน้ำมันที่ยังต่ำ กดดันไม่ให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสู่เป้าหมายที่กำหนดเอาไว้ตามเวลาที่ต้องการ 

นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว เฟดฯยังไม่ส่งสัญญาณเพิ่มเติมอะไรเลยว่า จะมีการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า แต่ที่เลวร้ายสุดคือเสียงถอนหายใจดังๆ ของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดฯที่ออกมาส่งสัญญาณว่า เฟดฯรับสภาพอย่างศิโรราบแล้วว่า จะต้องอยู่กับสภาพดอกเบี้ยต่ำไปอีกนานพอสมควร เพราะเดิมที่เฟดฯเคยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ เห็นทีจะลดเหลือแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

ท่าทีของเฟดฯ จึงไม่แปลกที่จะทำให้นักลงทุนทั่วโลกตอบรับในทันควันว่า ภาวการณ์เติบโตของเศรษฐกิจโลก อาจจะเปราะบางกว่าคาด เป็นที่มาของแรงขาย ซึ่งถูกตอกย้ำอีกครั้งจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงนโยบายการเงิน ในการประชุม ซึ่งรวมถึงการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบสำหรับสถาบันการเงินที่นำเงินมาสำรองฝากไว้ โดยเพียงแค่ระบุว่า ผลพวงจากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ จะค่อยปรากฏขึ้น ทำให้แรงเทขายหนักข้อขึ้นไปอีก เมื่อไม่ได้ปรากฏว่ามีมาตรการใหม่ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาวะเงินฝืดให้ดีขึ้น และส่งผลต่อแรงขายในตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทยด้วย

แล้วอย่าได้สงสัยเลยว่า เหตุใด แรงเทขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าจึงออกมาดึงราคาให้ร่วงกันทั่วหน้า

หากพิเคราะห์ท่าทีของนางเยลเลนอย่างละเอียด คำสารภาพว่าไม่สามารถฝืนสู้กระแสถดถอยของอัตราดอกเบี้ย แล้วขับเคลื่อนให้เป้าหมายเงินเฟ้อบรรลุในช่วงเวลาที่กำหนดของเฟดฯ เพราะภารกิจดังกล่าวคล้ายคลึงกับ “บาปของซีสซีฟัส” ในตำนานกรีกโบราณไม่ผิดเพี้ยน

เหตุปัจจัยที่ทำให้ดอกเบี้ยธนาคารต้องต่ำติดพื้น และบรรดาธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการปล่อยสินเชื่อไม่ออก จนต้องหาทางลดดอกเบี้ยเงินกู้ และดอกเบี้ยเงินฝากต่อเนื่องใน 2 ปีมานี้ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของภาวะ “ลิงแก้แห” ทางเศรษฐกิจโลก ที่เรื้อรัง

ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ นับตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ ค.ศ. 2008 เมื่อ 8 ปีก่อน ได้เกิดภาวะที่กดดันขาขึ้นระลอกใหม่ของเศรษฐกิจโลกด้วยปัจจัยหลายด้านพร้อมกันดังนี้ 

-ภาวะผลผลิตอุตสาหกรรมล้นเกินอุปสงค์ของตลาด ตัวอย่างเช่น สิ่งทอที่ท่วมโลกมากถึงขนาดว่าหากปิดโรงงานทอผ้าทั้งโลก จะมีผ้าเหลือใช้นานกว่า 10 ปี หรือเหล็กที่ผลิตล้นเกินความต้องการมากกว่า 150 ล้านตัน/ปี ปัจจัยนี้ส่งผลพวงให้ราคาสินค้าวัตถุดิบหรือโภคภัณฑ์ร่วงลงต่อเนื่อง มาถึงจุดปะทุเมื่อปีที่ผ่านมาจากการพังทลายของราคาน้ำมันดิบ

-ความพยายามกอบกู้วิกฤติทางเศรษฐกิจด้วยการทุ่มมาตรการทางการคลังจนยอมขาดดุลงบประมาณเรื้อรังตามแนวทางเคนส์ ทำให้หนี้สาธารณะของชาติสำคัญทั่วโลกมาถึงขีดอันตราย ใช้มาตรการทางการคลังต่อไม่ได้ เพราะรายได้จากการส่งออกลดลงต่อเนื่อง ทำให้โมเดลเศรษฐกิจที่พึ่งการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออก ใช้การได้น้อยลง

-ทางเลือกสุดท้ายของการซื้อเวลารอเศรษฐกิจฟื้นตัวตามธรรมชาติ คือใช้มาตรการทางการเงินอย่างจริงจัง ผลพวงตามมาคือ การพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาลมาซื้อหนี้เอกชนผ่านมาตรการ QE ที่ส่งผลข้างเคียง 3 ประการตามมานั่นคือ สงครามลดค่าเงินอย่างไม่เป็นทางการ สงครามลดดอกเบี้ยเงินฝากอย่างไม่เป็นทางการ และ ปริมาณเงินส่วนเกินที่ท่วมตลาด จนกลายเป็นทุนเก็งกำไรระหว่างประเทศ โดยไม่ถูกดูดซับเข้ามาในภาคการผลิตและบริการที่แท้จริง

ทุนที่ล้นเกินจากการที่ปริมาณเงินซึ่งชาติหลักของโลก (สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น) ได้พิมพ์ออกมาในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาจนท่วมตลาด และทำท่ามีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นการ “เสพติดนโยบาย” จนเกินความสามารถที่ภาคการผลิตและบริการจะรองรับหรือดูดซับไหว  ไม่สามารถแปรสภาพเป็นการผลิตซ้ำใหม่ จนเกิดการจ้างงานหรือกำลังซื้อใหม่ ให้เศรษฐกิจเป็นขาขึ้นยั่งยืน แต่กลับจมปลักกับภาวะเงินเฟ้อติดลบ หรือเงินฝืดเรื้อรัง 

ทุนล้นเกินซึ่งได้กลายสภาพเป็นทุนเก็งกำไรระหว่างประเทศนี้ ประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ที่แต่ละวันจะเที่ยวเร่ร่อนเป็นสัมภเวสีไปยังแหล่งตลาดเก็งกำไร 4 แหล่งได้แก่ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า ซึ่งล้วนเชื่อมโยงกันต่อเนื่องภายใต้กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์

แรงจูงใจในการลาดตระเวนของทุนเก็งกำไรที่มีขนาดมหึมาเปรียบเสมือน “ยักษ์นอกตะเกียงอะลาดิน” ได้แก่ผลตอบแทนระยะสั้นของการลงทุน เมื่อใดที่ตลาดใดก็ตาม ตลาดโดยรวมเกิดสภาพราคาหลักทรัพย์ต่ำกว่าพื้นฐาน ทุนเหล่านี้จะดาหน้ากันเข้าไปหาประโยชน์ แล้วเมื่อใดที่ตลาดดังกล่าวเริ่มเข้าเขตอิ่มตัวของขาขึ้น หรือมีอัพไซด์แคบลงจนไม่คุ้ม ทุนเหล่านี้จะอำลาจากไปโดยไม่เหลือเยื่อใย

ทุนเก็งกำไรที่เป็นส่วนเกินของเศรษฐกิจในภาคการผลิตและบริการที่แท้จริง  แม้จะไม่มีสงครามลดค่าเงิน และสงครามลดดอกเบี้ยโดยนิตินัย มีแต่โดยพฤตินัย ซึ่งยืดเยื้อไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อใด แต่ความเฟื่องฟูของตลาดเก็งกำไรซึ่งมีทิศทางชัดเจนว่า แม้จะไม่ได้เป็นขาขึ้นยาวนานแบบภาวะกระทิง แต่มีกรอบจำกัดขาลงมากกว่าระดับปกติ และเคลื่อนไหวที่ไม่สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศทั่วโลก

ที่ผ่านมา เฟดฯใช้อหังการของตนเองว่า สามารถครอบงำทิศทางของอัตราดอกเบี้ยได้ทั่วโลก โดยผ่านการควบคุมทิศทางของดอกเบี้ยเฟดฯ เพราะดอลลาร์ที่หมุนเวียนในตลาดโลกจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่ง เฟดฯก็เริ่มยอมรับว่า อำนาจครอบงำเบ็ดเสร็จนั้น ก็มีขีดจำกัดเช่นกัน

รำพึงรำพันของนางเยลเลนล่าสุด อาจจะมีความหมายลึกซึ้งต่อท่าทีของเฟดฯในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ

X
Back to top button