เหล้าเก่าในขวดใหม่พลวัต 2016

เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นในภาคบ่าย บวกแรงอีกครั้งต่อเนื่องจากวันก่อนที่รีบาวด์กลับ เนื่องจากตลาดหุน้ในยุโรป และเอเชียอื่นๆ พากันบวกไปกับกระแสการแทรกแซงตลาดของรัฐบาล หรือ ธนาคารกลางหลายประเทศ


วิษณุ โชลิตกุล

 

เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นในภาคบ่าย บวกแรงอีกครั้งต่อเนื่องจากวันก่อนที่รีบาวด์กลับ เนื่องจากตลาดหุน้ในยุโรป และเอเชียอื่นๆ พากันบวกไปกับกระแสการแทรกแซงตลาดของรัฐบาล หรือ ธนาคารกลางหลายประเทศ

เริ่มตั้งแต่สายวานนี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศอัดฉีดเงิน 1.8 แสนล้านหยวน (2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เข้าสู่ตลาดเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยดำเนินการผ่านทางข้อตกลงซื้อพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repo) อายุ 7 วัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ธนาคารกลางเข้าซื้อหลักทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์ด้วยข้อตกลงที่จะขายคืนในอนาคต ด้วยอัตราผลตอบแทนในวันนี้อยู่ที่ 2.25%

ทั้งนี้ สัญญา Reverse repo มูลค่า 1.1 แสนล้านหยวนครบกำหนดชำระในวันนี้ จึงเท่ากับว่า แบงก์ชาติจีนอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านหยวน ผลลัพธ์ก็ไม่ยากจะคาดเดา เพราะดัชนีตลาดหุ้นจีนบวกตลอดการซื้อขาย แม้จะไม่มากนัก แต่ก็ทำให้ตลาดหุ้นอื่นๆ พลอยรับอานิสงส์ไปด้วย โดยเฉพาะตลาดหุ้นโตเกียวที่เปิดลบแรงเกือบ 200 จุด แต่กลับปิดบวกได้สำเร็จ

ส่วนในภาคบ่ายตามเวลาไทย ตลาดหุ้นยุโรปพากันเปิดตลาดในแดนบวกเป็นครั้งแรก หลังจากตื่นตระหนกกับการลงประชามติในอังกฤษเพื่อถอนตัวจากสหภาพยุโรปมา 2 วันทำการ เพราะมีการคาดการณ์เกี่ยวกับการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการประชุมร่วมของผู้นำสหภาพยุโรป กับผู้นำอังกฤษ ซึ่งทำให้มีการคาดเดาว่า นอกจากการอธิบายถึงเหตุผลของการถอนตัวแล้ว จะมีการออกมาตรการบรรทาตามมาในรูปของโครงการฟื้นฟูระบบการเงินภายในประเทศระยะสั้นหลายประเทศตามมา

การวิ่งขึ้นของดัชนีตลาดหุ้น จากการแทรกแซงของหน่วยงานรัฐทั้งธนาคารกลางและกระทรวงการคัลง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมันสะท้อนพฤติกรรมที่เรียกกันว่า “เสพติดนโยบายเศรษฐกิจ” ของชาติมหาอำนาจ ที่ซื้อเวลารอคอยอนาคตที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อใด

การเสพติดนโยบายเช่นนี้ นักลงทุนใหญ่อย่างบิลล์ กรอส ผู้บริการกองทุนขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ได้เคยแสดงความคิดเห็นว่า ตราสารหนี้ปริมาณ 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก  กำลังจะกลายเป็นระเบิดแห่งจักรวาลชนิดที่เรียกว่า “Supernova” ที่พร้อมจะระเบิดที่สร้างความเสียหายอย่างย่อยยับในวันใดวันหนึ่ง

ปรากฏการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำที่สุดในรอบ 100 ปี ถือกันว่าเป็นสิ่งที่บ้าบอที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะเท่ากับความสี่ยงของตลาดได้เริ่มกล้ำกรายเข้าไปคุกคามถึงใจกลางของธนาคารกลางทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และนายธนาคารกลางทั่วโลกรู้ปัญหานี้ดี แต่อยู่ในลักษณะน้ำท่วมปาก

ผลลัพธ์คือ ธนาคารกลางทั่วโลกได้สูญเสียการควบคุมทางเศรษฐกิจไปเรียบร้อยแล้ว เวลาที่มีวิกฤติเกิดขึ้นทีไร เรามักจะได้เห็นการประชุมเพื่อประชุมต่อ โดยที่มีข้อสรุปที่มีประสิทธิผลน้อยมาก กลายเป็นการประชุมที่ไร้สาระมากขึ้นต่อเนื่อง

ข้อวิพากษ์เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนับตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ ค.ศ. 2008 เมื่อ 8 ปีก่อน คนที่ทราบเรื่องนี้ดี ได้ตระหนักว่าได้เกิดภาวะที่กดดันขาขึ้นระลอกใหม่ของเศรษฐกิจโลกด้วยปัจจัยหลายด้านพร้อมกันดังนี้ 

– ภาวะผลผลิตอุตสาหกรรมล้นเกินอุปสงค์ของตลาด ตัวอย่างเช่น สิ่งทอที่ท่วมโลกมากถึงขนาดว่าหากปิดโรงงานทอผ้าทั้งโลก จะมีผ้าเหลือใช้นานกว่า 10 ปี หรือเหล็กที่ผลิตล้นเกินความต้องการมากกว่า 150 ล้านตัน/ปี ปัจจัยนี้ส่งผลพวงให้ราคาสินค้าวัตถุดิบหรือโภคภัณฑ์ร่วงลงต่อเนื่อง มาถึงจุดปะทุเมื่อปีที่ผ่านมาจากการพังทลายของราคาน้ำมันดิบ

ความพยายามกอบกู้วิกฤติทางเศรษฐกิจด้วยการทุ่มมาตรการทางการคลังจนยอมขาดดุลงบประมาณเรื้อรังตามแนวทางเคนส์ ทำให้หนี้สาธารณะของชาติสำคัญทั่วโลกมาถึงขีดอันตราย ใช้มาตรการทางการคลังต่อไม่ได้ เพราะรายได้จากการส่งออกลดลงต่อเนื่อง ทำให้โมเดลเศรษฐกิจที่พึ่งการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออก ใช้การได้น้อยลง ขีดจำกัดนี้ทำให้จีดีพีเติบโตต่ำกว่าประเมินมากพอสมควร(vn5.46, sp0.3, indo 4.6, world bank 2.2, thai 2.5-2.8) 

– ทางเลือกสุดท้ายของการซื้อเวลารอเศรษฐกิจฟื้นตัวตามธรรมชาติ คือใช้มาตรการทางการเงินอย่างจริงจัง ผลพวงตามมาคือ การพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาลมาซื้อหนี้เอกชนผ่านมาตรการQE ที่ส่งผลข้างเคียง 3 ประการตามมานั่นคือ สงครามลดค่าเงินอย่างไม่เป็นทางการ สงครามลดดอกเบี้ยเงินฝากอย่างไม่เป็นทางการ และ ปริมาณเงินส่วนเกินที่ท่วมตลาด จนกลายเป็นทุนเก็งกำไรระหว่างประเทศ โดยไม่ถูกดูดซับเข้ามาในภาคการผลิตและบริการที่แท้จริง

ทุนที่ล้นเกินจากการที่ปริมาณเงินซึ่งชาติหลักของโลก (สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น) ได้พิมพ์ออกมาในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาจนท่วมตลาด และทำท่ามีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นการ “เสพติดนโยบาย” จนเกินความสามารถที่ภาคการผลิตและบริการจะรองรับหรือดูดซับไหว  ไม่สามารถแปรสภาพเป็นการผลิตซ้ำใหม่ จนเกิดการจ้างงานหรือกำลังซื้อใหม่ ให้เศรษฐกิจเป็นขาขึ้นยั่งยืน แต่กลับจมปลักกับภาวะเงินเฟ้อติดลบ หรือเงินฝืดเรื้อรัง 

ทุนล้นเกินซึ่งได้กลายสภาพเป็นทุนเก็งกำไรระหว่างประเทศนี้ ประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ที่แต่ละวันจะเที่ยวเร่ร่อนเป็นสัมภเวสีไปยังแหล่งตลาดเก็งกำไร 4 แหล่งได้แก่ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า ซึ่งล้วนเชื่อมโยงกันต่อเนื่องภายใต้กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์

ผลลัพธ์ของการ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” ของหน่วยงานรัฐรวมทั้งธนาคารกลาง จึงเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในยามนี้และอนาคตไปด้วย เนื่องจากแก้ไขได้เพียงแค่ไม่ทำให้ตลาดเก็งกำไรตื่นตระหนก แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาพื้นฐานคือเศรษฐกิจที่ชะงักงันได้เลย

พูดไปมาก็เปรียบเสมือนการพายเรือในอ่าง หรือ กินเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้นเอง

 

Back to top button