ตื่นตูมหุ้นแบงก์

กำไรสุทธิไตรมาส 1/60 ของธนาคารกรุงไทย หรือ KTB แม้จะมากกว่าที่โบรกฯ คาดการณ์ไว้เล็กน้อย


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

 

กำไรสุทธิไตรมาส 1/60 ของธนาคารกรุงไทย หรือ KTB แม้จะมากกว่าที่โบรกฯ คาดการณ์ไว้เล็กน้อย

แต่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ถือว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์จากโบรกฯ หลายแห่ง ต่างมองตรงกันครับ

นั่นคือในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 หนี้เสียของแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ KBANK BBL SCB และ KTB จะยังคงมีอัตราเพิ่มขึ้น

ทว่าการเป็นการเพิ่มแบบชะลอตัว

และตัวเลขหนี้เสียจะเริ่มนิ่งๆในช่วงไตรมาส 3/60

และหลังจากนั้นจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น

แต่วานนี้ หลังจากกรุงไทย แจ้งตัวเลขสำคัญทางการเงินออกมา

นักลงทุนไม่ได้ดูเพียงแค่กำไรสุทธิเท่านั้น

แต่เหลือบไปเห็นตัวเลขหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 9.5 พันล้านบาทในไตรมาส 1/60 และส่งผลให้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมาจากระดับ 3.89% ในไตรมาส 4/59 ขึ้นมาเป็น 4.28%

ประเด็นคือว่า นักลงทุนอาจมองว่า หาก KTB ไม่ตั้งสำรองสำหรับหนี้เสียให้ครอบคลุมในไตรมาส 1

ก็อาจต้องขยับไปตั้งในไตรมาส 2 แทน

และนั่นอาจส่งผลต่อตัวเลขกำไรสุทธิที่จะปรับลดลงได้ในปี 2560

แต่เท่าที่ดูจากตัวเลขประมาณการของโบรกฯ วานนี้

ต่างยังคงเป้าหมายกำไรสุทธิของ KTB ไว้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบมีนัยสำคัญ

เช่น บล.ทรีนีตี้ ยังคงคาดการณ์กำไรปี 60 ของ KTB ไว้ที่ระดับ 3.35 หมื่นล้านบาท

บล.โกลเบล็ก ก็มองเช่นกันว่า กำไรในไตรมาส 1 ของ KTB คิดเป็น 25% ของการประมาณการกำไรสุทธิในปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ 3.36 หมื่นล้านบาท

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) มองเช่นกันว่า หนี้เสียของ KTB จะเริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนวันนี้ ทั้ง KBANK BBL และ SCB จะแจ้งผลประกอบการของไตรมาส 1/60

มีนักวิเคราะห์แนะนำว่า ไม่ค่อยอยากให้นำ 3 แบงก์ ไปเปรียบเทียบกับ KTB หรือนำมาเปรียบเทียบกันทั้งหมดในกลุ่ม 4 แบงก์ใหญ่

เพราะการบริหารหนี้เสีย หรืองบการเงินของแต่ละธนาคารจะมีวิธีการแตกต่างกัน

และการขายหุ้นออกไปก่อน อาจเป็นการเสียโอกาส

หรือการ “ขายหมู” ได้

บล.เคจีไอ พูดถึงหนี้เสียของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไว้ก่อนหน้านี้

มีการระบุว่า ธนาคารส่วนใหญ่ก็ยังคาดว่า NPL ใหม่จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

และทำให้ธนาคารยังต้องคง credit cost ไว้ในระดับสูงต่อไปในไตรมาส 1/60

KTB ให้ข้อมูลว่า (ก่อนแจ้งงบ Q1) มีสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษในไตรมาสก่อนบางส่วนกลายมาเป็น NPL

ขณะที่ของ BBL สินเชื่ออุตสาหกรรมกลายมาเป็น NPL เพิ่มขึ้น

และจากการที่ NPL พลิกมาเป็นขาขึ้นในปี 2559 ทำให้ บลจ.เคจีไอฯ คาดว่า NPL จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4% จากไตรมาส 4/59 หรือ 12% จากไตรมาส 1/59

นั่นทำให้ทำให้ธนาคารยังคงรักษาระดับ Credit cost ในไตรมาส 1/60เอาไว้เท่ากับเมื่อครึ่งปีหลังปี 2559

ผมพูดคุยกับนักวิเคราะห์มาเพิ่มเติม

เขาบอกว่า ราคาเป้าหมายของหุ้นแบงก์ใหญ่ ได้นำเรื่องของหนีเสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มเข้ามาคำนวณไว้แล้ว

จึงไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น หรือเป็นเซอร์ไพรส์เชิงลบ

หุ้น BBL นั้น นับจากสิ้นปี 2559 มาถึงวานี้ ราคาหุ้นปรับขึ้นมาแล้ว 15%

และวิ่งขึ้นมาอย่างมากในช่วงที่มีกองทุนจากต่างประเทศ เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่ม หลังจากมีรูปมเพิ่มใน NVDR เมื่อช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์

ส่วนวันนี้ จะมีการขึ้นเครื่องหมาย XD เพื่อจ่ายเงินปันผล 4.50 ต่อหุ้น

และอาจทำให้ราคาหุ้นย่อลงมาอีกได้

ส่วนหุ้น KBANK นับจากสิ้นปี 2559 ราคาหุ้นปรับขึ้นมา 4.8% แต่จริงแล้วก่อนหน้านี้ หรือในช่วงกลางเดือนก.พ.60 ราคาหุ้นเคยขึ้นมาปิดที่ 198 บาท ต่อหุ้น

หลังจากนั้น จึงมีแรงขายทำกำไรออกมา

รวมถึงการการขายของนักลงทุนต่างชาติในช่วงต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาด้วย

และ SCB ราคาหุ้นปรับจากสิ้นปี 2559 ขึ้นมา 5.26% โดยวานนี้ราคาหุ้นปิดที่ 160 บาท

แต่วันก่อนหน้านี้ ราคาหุ้นขึ้นไปสูงสุดของปีที่ระดับ 165 บาท ในช่วงก่อนหยุดนาววันสงกรานต์

SCB จะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 24 เม.ย.เพื่อจ่ายเงินปันผล 5.50 บาทต่อหุ้น และก่อนหน้านี้ ได้จ่ายระกว่างกาลไปแล้ว 1.50 บาทต่อหุ้น

รวมเป็นจ่ายเงินปันผลทั้งปี 7 บาทต่อหุ้น

Back to top button