คุณค่าบริษัท : SUSCO กำลังส่งออกน้ำมันยังดี

มีการวิเคราะห์กันว่า บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO ยังคงโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม เนื่องจากยังได้ประโยชน์จากความต้องการน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) ทำให้ยอดการส่งออกเติบโต 14% จากงวดเดียวกันของปีก่อนในไตรมาส 1/60 จากเติบโตเฉลี่ย 13% ต่อปีในช่วงปี 56-59 จากยอดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวที่ยังต่ำในภูมิภาคนี้


อีกทั้งยังคาดว่าการเติบโตของปริมาณการส่งออกของ SUSCO จะยังอยู่ในระดับกว่า 10% ได้ต่อไป และยังคงได้ประโยชน์จากการเติบโตของปริมาณขายน้ำมันอากาศยานที่สูงถึง 15% ในไตรมาส 1/60 หลังจากที่เติบโตเฉลี่ย CAGR ถึง 42% ในช่วงปี 56-59 (มีฐานที่ต่ำ) และคาดว่าจะยังเติบโตโดดเด่นต่อเนื่องได้อีกหลายปี โดยแม้จะมีส่วนต่างกำไรน้อยกว่าการค้าปลีกแต่ก็มีต้นทุนการขายที่ต่ำจึงสามารถทำกำไรได้มากกว่า โดยจริงๆ แล้วเชื่อว่ากำไรสุทธิจากการส่งออกของ SUSCO น่าจะมากกว่าการค้าปลีกผ่านสถานีน้ำมัน

นอกจากนี้ SUSCO ยังคงพัฒนาการใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถบรรลุสัญญาการเช่าพื้นที่เพิ่มเติมได้อีก ทำให้รายได้ค่าเช่าพื้นที่ในไตรมาส 1/60 เติบโตขึ้น 7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าอัตราการเติบโตจะยิ่งมากขึ้นในครึ่งหลังของปี 60 จากข้อตกลงใหม่ที่เข้ามาเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 2/60 โดยทั้งปี 2560 คาดว่ารายได้ค่าเช่าพื้นที่จะเพิ่มขึ้น 12% และเพิ่มขึ้นอีก 19% ในปี 2561 โดยรายได้ส่วนนี้ได้มาโดยไม่ต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม การเติบโตของรายได้ส่วนนี้จึงส่งผลโดยตรงต่อผลกำไร

ส่วนความต้องการน้ำมันภายในประเทศที่เติบโตช้าเช่นกัน โดยประมาณได้ว่าความต้องการน้ำมันทั้งแก๊สโซลีนและดีเซลภายในประเทศเติบโตไม่ถึง 2% ในไตรมาส 1/60 จากเดิมที่เติบโตถึง 5.3% ในปี 2559 และ 6.8% ในปี 2558  จึงทำให้ปรับสมมติฐานการเติบโตปริมาณขายปลีกน้ำมันของ SUSCO ลงเหลือ 2% ในปี 2560 และ 6% ในปี 2561 หนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มจำนวนสถานีน้ำมัน โดยคาดปริมาณขายส่งในปี 2560 จะลดลงจากเดิมกว่า 50% โดยการขายส่งนั้นมีส่วนต่างกำไรที่ต่ำ และปัจจุบันมีส่วนที่เล็กมากเมื่อเทียบกับปริมาณขายทั้งหมดของ SUSCO

ทั้งนี้นักวิเคราะห์ยังคงคาดว่า SUSCO จะสามารถมีผลกำไรเติบโตได้ 19% และ 23% ในปี 2560-2561 โดยมีการเติบโตของการส่งออกน้ำมันและการขายน้ำมันอากาศยาน (คิดรวมเป็น 60% ของปริมาณขายน้ำมันทั้งหมด) รายได้ค่าเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้น และสัดส่วนการขายที่ดีขึ้น (ลดปริมาณการขายส่ง) ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเพิ่มส่วนต่างกำไรต่อหน่วยขึ้นได้เป็นปัจจัยสนับสนุน มูลค่าพื้นฐานยังคงน่าสนใจ

โดยนักวิเคราะห์ บล.ธนชาต  แนะนำ “ซื้อ” แต่ปรับราคาเป้าหมายเหลือ 5.5 บาท (เดิม 5.7 บาท) จากการเติบโตของความต้องการน้ำมันภายในประเทศที่ช้ากว่าคาด แต่การส่งออกและการขายน้ำมันอากาศยานยังเติบโตได้ดี และยังเป็น top pick ในกลุ่มค้าปลีกน้ำมัน

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. นายมงคล สิมะโรจน์ 131,000,000 หุ้น 11.91%
  2. นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ 117,473,800 หุ้น 10.68%
  3. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 42,292,733 หุ้น 3.84%
  4. นายมาวีร์ สิมะโรจน์ 31,800,000 หุ้น 2.89%
  5. นายภิมุข สิมะโรจน์ 31,000,000 หุ้น 2.82%

 

รายชื่อกรรมการ

  1. นายมงคล สิมะโรจน์ ประธานกรรมการ
  2. นายภิมุข สิมะโรจน์ ประธานกรรมการบริหาร
  3. นายภิมุข สิมะโรจน์ กรรมการ
  4. นายชัยฤทธิ์ สิมะโรจน์ กรรมการผู้จัดการ
  5. นายชัยฤทธิ์ สิมะโรจน์ กรรมการ

Back to top button