หลักฐานมัดประธาน GL โกหกหน้าตาย! พูดเฉยคดีปั่นหุ้นจบตั้งแต่ปี 53

เปิดหลักฐานมัด "มิทซึจิ" ประธาน GL โกหกหน้าตาย! ไม่เคยถูกปรับ หรือถูกดำเนินคดีใดๆ ฟากก.ล.ต.ญี่ปุ่นแสดงข้อมูลชัด FSA เรียกไต่สวน 2 ครั้งในปี 58-59 หัวหมอ! ฟ้องกลับรัฐบาลญี่ปุ่น หวังยกเลิกค่าปรับ 4 พันล้านเยนโทษฐานซื้อขายหุ้น Wedge Holdings ด้วยวิธีฉ้อฉล


จากกรณีสำนักงานกำกับการให้บริการทางการเงิน (FSA) แห่งประเทศญี่ปุ่น อนุมัติคำสั่งปรับ นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ซึ่งถูกกล่าวโทษโดยคณะกรรมาธิการตรวจสอบและกำกับหลักทรัพย์ (SESC) แห่งประเทศญี่ปุ่น กรณีซื้อขายหลักทรัพย์ Wedge Holdings ด้วยวิธีการฉ้อฉล เป็นจำนวนเงิน 4.10 พันล้านเยน หรือราว 1.30 พันล้านบาท โดยมีกำหนดชำระภายในวันที่ 12 มิ.ย. ที่จะถึงนี้

ซึ่งต่อมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทย ได้มีคำสั่งออกมาเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2560 ให้ผู้บริหาร GL ชี้แจงกรณีถูกดำเนินการโดยหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศดังนี้

“ก.ล.ต. ให้นายมิทซึจิชี้แจงกรณีที่ให้ข่าวว่าตนไม่เคยถูกดำเนินการทางกฏหมายโดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินและตลาดทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ให้ชี้แจงต่อ ก.ล.ต. และเปิดเผยคำชี้แจงผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใน 7 วัน” จากหนังสือฯก.ล.ต. ฉบับที่ 37/2560

ขณะที่ในรายละเอียด ก.ล.ต. ระบุให้นายมิทซึจิชี้แจงพฤติกรรมของการกระทำความผิดและการถูกลงโทษ พร้อมทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ GL ในอนาคต โดยมีการระบุไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกันว่า ตามที่มีการกล่าวอ้างหรือให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านั้นว่า “ไม่เคยขึ้นศาลหรือถูกหน่วยงานกำกับฯฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายใดๆ มีเพียงการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่านั้น และเป็นเรื่องที่จบตั้งแต่ปี 2553” ถือเป็นข้อมูลที่ย้อนแย้งกับข้อมูลที่ทาง ก.ล.ต. ได้รับ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายมิทซึจิ มีการชี้แจงข้อมูลผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยเบื้องต้นยอมรับว่า ตนได้รับคำสั่งปรับจริง! แต่มีข้อโต้แย้งใน 3 ประเด็นหลักด้วยกัน ประกอบด้วย 1) คำสั่ง FSA ไม่มีมูล 2) FSA มีคำสั่งออกมาหลังการให้สัมภาษณ์ 3) คำสั่งปรับไม่มีผลกระทบต่อ GL

สำหรับข้อโต้แย้งประเด็นที่ 1 นายมิทซึจิระบุว่า ตนได้ยื่นฟ้องรัฐในคดีแพ่ง ตามคำฟ้องเลขที่ 218 ปีเฮเซ 29 ต่อศาลแขวงกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2560 เพื่อขอให้ศาลยกเลิกคำสั่ง FSA โดยกระบวนการพิจารณาคดีจะเริ่มตั้งแต่ศาลชั้นต้นในวันที่ 14 ก.ค. 2560 ขณะที่มีการระบุในคำฟ้องว่า คำสั่ง FSA ไม่มีมูล

ทั้งนี้ FSA เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อสำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น (Cabinet Office) รับผิดชอบดูแลเรื่องการกำกับการให้บริการทางการเงินโดยตรง และมีอำนาจเด็ดขาดในการออกคำสั่งลงโทษทางปกครองด้านการเงินแก่ผู้ถูกกล่าวโทษโดย SESC หรือหน่วยงานย่อยของ FSA ซึ่งมีหน้าที่ตรวจการกระทำผิดและชี้มูลความผิดเพื่อออกคำเสนอแนะให้มีการอนุมัติคำสั่งปรับ

ดังนั้น จึงถือว่า FSA เป็นหน่วยงานรัฐ และเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดสูงสุดในคดีที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ

ส่วนข้อโต้แย้งประเด็นที่ 2 นายมิทซึจิระบุว่า การที่ตนให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เคยถูกปรับ หรือถูกดำเนินคดีใดๆ” นั้นเป็นการเปิดเผยข้อมูลในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2560 แต่คำสั่งปรับออกมาเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2560 หรือเกิดขึ้นหลังจากการให้ข้อมูล เพราะฉะนั้นจึงถือว่านายมิทซึจิไม่มีเจตนาให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือข้อมูลไม่ถูกต้องที่อาจทำให้นักลงทุนหรือตลท.สำคัญผิดได้

อย่างไรก็ดี คำกล่าวอ้างนี้ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า นายมิทซึจิถูกเรียกไปให้ปากคำในการพิจารณาคดีถึง 2 ครั้ง ก่อนหน้าที่ทาง FSA จะมีการอนุมัติคำสั่งปรับดังกล่าวออกมา โดยการไต่สวนครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2558 ตามรายละเอียดด้านล่าง ซึ่ง SESC เป็นผู้ประกาศแจ้งหมายเหตุดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. ปีเดียวกัน หรือ 10 วัน ก่อนหน้าการนัดไต่สวน

 

ที่มา: เว็บไซต์ สำนักงานกำกับการให้บริการทางการเงิน (FSA) ประเทศญี่ปุ่น

 

ขณะเดียวกัน การไต่สวนครั้งที่ 2 เกิดขึ้นขึ้นในวันที่ 6 ก.ย. 2559 โดยมีการแจ้งหมายเหตุในวันที่ 30 ส.ค. 2559 หรือ 6 วันก่อนหน้า

ที่มา: เว็บไซต์ สำนักงานกำกับการให้บริการทางการเงิน (FSA) ประเทศญี่ปุ่น

 

ตามหลักฐานปรากฏข้างต้น เป็นที่ชัดเจนว่า นายมิทซึจิ ทราบถึงการถูกดำเนินคดีมาโดยตลอด หลังจาก SESC ออกหนังสือแนะนำให้ทาง FSA อนุมัติคำสั่งปรับ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2556 เนื่องจากต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานก่อนหน้าจะมีการพิจารณาว่านายมิทซึจิมีความผิดจริงหรือไม่

อีกทั้งมีการระบุไว้อย่างชัดเจนด้วยว่า นายมิทซึจิต้องเดินทางไปให้ปากคำด้วยตนเองในการพิจารณาคดี ครั้งที่ 1

คำถามจึงอยู่ที่ว่า เหตุใดนายมิทซึจิถึงพูดว่าเรื่องการดำเนินคดีไม่เป็นความจริง! ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา? ทั้งที่ตนทราบดีถึงการกระทำผิดดังกล่าว

เรื่องนี้ถือเป็นประเด็นน่าสนใจและต้องถูกจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า นายมิทซึจิ อาจเข้าข่ายให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือข้อมูลเท็จหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเกี่ยวข้องโดยตรงกับความโปร่งใสของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลท. ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนทั่วไป รวมถึงนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศด้วย

การที่รู้และไม่แจ้งข้อมูล หรือรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวโทษ และกระบวนการพิจารณาต่างๆ ถือเป็นความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2559 (ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่) หรือไม่?

นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานชัดเจนในรายงานประจำปีของ SESC ถึงความคืบหน้ากรณีดังกล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาคดีมาโดยตลอด ตามรายละเอียดด้านล่าง

 

รายงานประจำปี 2556

ที่มา: เว็บไซต์ สำนักงานกำกับการให้บริการทางการเงิน (FSA) ประเทศญี่ปุ่น

 

รายงานประจำปี 2557

ที่มา: เว็บไซต์ สำนักงานกำกับการให้บริการทางการเงิน (FSA) ประเทศญี่ปุ่น

 

รายงานประจำปี  2558

ที่มา: เว็บไซต์ สำนักงานกำกับการให้บริการทางการเงิน (FSA) ประเทศญี่ปุ่น

 

สำหรับข้อโต้แย้งประเด็นที่ 3 นายมิทซึจิระบุว่า คำสั่ง FSA ไม่มีผลกระทบต่อบริษัทและธุรกิจของ GL เนื่องจากเป็นคำสั่งปรับบุคคลคือตัวนายมิทซึจิเอง มิใช่ GL บริษัทอื่นๆในกลุ่ม หรือ Wedge Holdings อีกทั้งธุรกรรมต่างๆ ตามคำกล่าวอ้างในคำสั่ง FSA มิได้เป็นธุรกรรมที่บริษัทต่างๆข้างต้นเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือดำเนินการแต่อย่างใด

ไม่มีผลกระทบทางตรง แต่จะมีผลกระทบทางอ้อมหรือไม่…ต้องติดตาม!

ข้อโต้แย้งประเด็นนี้ถือว่าเป็นไปตามข้อเท็จจริง เพราะคำสั่ง FSA ระบุว่า นายมิทซึจิเป็นผู้ถูกกล่าวโทษแต่เพียงผู้เดียว หากแต่การที่บอกว่า เรื่องนี้จะไม่มีผลกระทบต่อ GL ซะทีเดียวเลยนั้น อาจเป็นการด่วนสรุปเกินไปก็เป็นได้!

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า GL มีความจำเป็นต้องพึ่งพาวิธีการเพิ่มทุนแบบอ้อมๆในการประกอบธุรกิจมาโดยตลอด ซึ่งภายหลังพบว่า บริษัทฯเริ่มหันไปปล่อยกู้แบบกระจุกตัวมากขึ้น ดังนั้นการที่ต้องอาศัยเงินทุนจากผู้อื่นเป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงหลังพบว่า J Trust Co., Ltd. บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ได้กลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของบริษัทฯ ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลให้เกิดอุปสรรคต่อการระดมทุนของ GL อย่างไรหรือไม่นั้น และ GL มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Mr.Pachinko (ปาจิงโกะ) อย่างไร โปรดติดตามต่อใน “มหากาพย์ GL (ภาค2)”

“แม้กระบวนการทางกฏหมายของเรื่องนี้ยังไม่ดำเนินมาถึงที่สิ้นสุด แต่การที่มีผู้บริหารบจ.ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเกี่ยวพันกับการใช้ข้อมูลเท็จปั่นหุ้นจนถึงขั้นถูกกล่าวโทษนั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สามารถยอมรับได้ หรือถือเป็นการขัดแย้งต่อความฝันเรื่องธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง คงยังต้องถูกตั้งเป็นคำถามสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”

Back to top button