อย่าช้า! 27 หุ้น BIG-Mid-Small Caps น่าสอยก่อนวินโดว์ฯ

เข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดไตรมาส 2/60 แน่นอนนักลงทุนเฝ้าจับตาปรากฏการณ์ Window Dressing ทุกไตรมาสของการปิดงบการเงิน ขณะเดียวกันโบรกเกอร์แต่ละสำนักได้จัดธีมหุ้นที่น่าลงทุนในช่วงดังกล่าวออกมาเพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าลงทุน


เข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดไตรมาส 2/60 แน่นอนนักลงทุนเฝ้าจับตาปรากฏการณ์ Window Dressing ทุกไตรมาสของการปิดงบการเงิน ขณะเดียวกันโบรกเกอร์แต่ละสำนักได้จัดธีมหุ้นที่น่าลงทุนในช่วงดังกล่าวออกมาเพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าลงทุน ดังนั้นเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการลงทุนช่วงดังกล่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบรวมบทวิเคราะห์ที่ธีมหุ้น “Window Dressing Play” มานำเสนอ โดยครั้งจะเน้นไปที่กลุ่มหุ้น BIG CAP และ Mid-Small Caps เป็นหลัก

สำหรับหุ้นกลุ่ม BIG CAP ประกอบด้วย BANK, KTB, SCB, BAY, TCAP, GLOBAL, ROBINS, BJC, PTT, ADVANC, SCC, BJC, PTTEP และ IVL ส่วนหุ้นกลุ่ม Mid-Small Caps ประกอบด้วย PM, BLAND, SNC, ROJNA, AMATA, BCH, K, ERW, MINT, MONO, PLANB, KAMART โดยหุ้นดังกล่าวเป็นการรวบรวมมาจาก บล.โนมูระ พัฒนสิน, บล.เออีซี และบล.กสิกรไทย ซึ่งระบุในบทวิเคราะห์ดังนี้

 

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดตลาดแกว่งขึ้นในกรอบแนวต้าน 1,589/1,593 จุด และแนวรับ 1,578/1,573 จุด เศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มเติบโตในอัตราชะลอลง เป็นจิตวิทยาบวก Fund Flow ไหลเข้าเอเชีย ผสานการเข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนปิดไตรมาส 2 คาดจะมีแรงเก็ง Window Dressing หนุน SET แกว่งขึ้นต่อ ดังนั้นจึงแนะนำ 3 Theme เด่นน่าลงทุนและเน้น Window Dressing Play เป็นหลัก

1.เก็งกลุ่มที่คาดเป็นเป้าหมาย Window Dressing โดยแนะ BIG CAP ที่ราคาหุ้นยังต่ำกว่าไตรมาส 1/60 แนะ BANK(-2.9%QTD) นำโดย KTB(-7.8%), SCB(-5.5%), BAY(-5.2%), TCAP(-3.2%) และ กลุ่มค้าปลีก GLOBAL(-13%), ROBINS(-10.5%), BJC(-2.1%)

2.Mid-Small Caps ระยะสั้นกลุ่มพลังงานทางเลือกน่าสนใจหลังการประมูลโรงไฟฟ้าสหกรณ์เฟส 2 แนะ GUNKUL เด่น ผสานกลุ่มที่แนวโน้มกำไรปี 60 ขยายตัวเด่น : PM, BLAND, SNC, ROJNA, AMATA, BCH, K, ERW, MINT

3.ความคืบหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐานเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง คาดบวกต่อกลุ่มรับเหมา-วัสดุก่อสร้าง (CK, STEC, UNIQ, SEAFCO, PYLON, SCC), ธนาคาร (SCB, KBANK, BBL), นิคมฯ (AMATA, ROJNA), อสังหาฯ (BLAND, ANAN, AP)

 

บล.เออีซี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ดัชนีลุ้นขึ้นต่อเป้าหมายถัดไป 1,600 จุด โดยตั้งจุด Trailing Stop ที่ 1,572จุด คงแนะนำ “Let Profit Run” ในกลุ่มโรงแรม (MINT, ERW, CENTEL) และ รพ. ที่มีฐานผู้ป่วยประกันสังคม (BCH, CHG, LPH) ขณะที่แนะนำ “ซื้อเมื่ออ่อนตัว” หุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวเพิ่ม ดังนี้

1) กลุ่มรับเหมาและกลุ่มนิคม ที่ได้ประโยชน์จากโครงการลงทุนภาครัฐและนโยบาย  เขต ศก.EEC เลือก CK, STEC, UNIQ, SEAFCO, WHA, AMATA, ROJNA

2) กลุ่มโลจิสติกส์ ที่ได้อานิสงส์จากส่งออกสดใส เลือก WICE, JWD

3) หุ้น Big Cap. ลุ้น Window Dressing เลือก PTT, ADVANC, SCC, CPALL, BJC

4) หุ้น Mid-Small Cap ที่คาดปีนี้กำไรโตสดใส เลือก MONO, PLANB, KAMART

 

บล.กสิกรไทย ระบุว่า กลยุทธ์การลงทุน : ยังคงมองว่า SET Index มีแนวต้านใหญ่ที่ 1,587 จุด แม้ว่าจะมีประเด็น Window Dressing  แต่เป็นปัจจัยระยะสั้น เมื่อพ้นสัปดาห์นี้ไปแล้ว คาดว่าตลาดต้องไปเผชิญกับความเสี่ยงเกี่ยวกับผลประกอบการงวดไตรมาส 2/60ที่น่าผิดหวัง ซึ่งจะทำให้ดัชนีต้องลงมาซื้อขายต่ำกว่า 1,587 จุด

กลยุทธ์การลงทุน CBG เป็นหุ้นเด่น และเลือกเก็งหุ้น Window Dressing LH PSH HMPRO นอกนั้นยังคงถือกลุ่ม PER ต่ำ แต่ปันผลสูง KKP หุ้นที่พบจุดต่ำสุดไปแล้ว ADVANC รับเหมาฯ STEC CK หุ้นหวังกำไรในระยะยาวเช่น BIG KCE MEGA MTLS GLOBAL และถือ Big Cap SCB PTTEP PTT IVL

อนึ่งคำจำกัดความของหุ้นขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ (Small-, Mid-, and Large-Cap Stocks) มีดังนี้ หุ้นขนาดใหญ่ คือ หุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Capitalisation or Market Cap) อยู่ใน 70% แรกของมูลค่าตลาดโดยรวมหุ้นขนาดกลาง คือ หุ้นที่มีมูลค่าตามราคาตลาด อยู่ใน 20% ถัดมา และหุ้นขนาดเล็ก คือ หุ้นที่เหลือ นั่นคือ 10% สุดท้าย

กรณีของประเทศไทยนั้น การพิจารณาว่า หุ้นนั้นๆ เป็นหุ้นขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ เราสามารถดูได้จากดัชนี FTSE SET Large Cap, FTSE SET Mid Cap, และ FTSE SET Small Cap ซึ่งดัชนี FTSE SET เป็นดัชนีที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ FTSE Group เพื่อยกระดับดัชนีของตลาดทุนไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนไทยและต่างประเทศมากขึ้น

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้แบ่งหุ้นตามขนาด ผ่านดัชนีทั้งสามด้วยหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ FTSE SET Large Cap (FSTHL) ประกอบด้วยหลักทรัพย์ 30 ตัวแรกในกระดานหลัก (SET main board) เรียงตาม Market Cap ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก (Free Float & Liquidity Screening) FTSE SET Mid Cap (FSTHM) ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่อยู่ใน 90% แรกของกระดานหลักเรียงตาม Market Cap ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก แต่ไม่อยู่ใน FTSE SET Large Cap FTSE SET Small Cap (FSTHS) ประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่อยู่ใน 98% แรกของกระดานหลัก เรียงตาม market cap ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก แต่ไม่อยู่ใน FTSE SET Large Capและ FTSE SET Mid Cap Index

ลักษณะของหุ้นขนาดใหญ่(Big Cap) บริษัทหรือหุ้นที่จัดอยู่ในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่นั้น มักเป็นบริษัทที่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง และมักจะตกเป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยๆ อีกทั้งหุ้นกลุ่มนี้ยังถูกถือโดยนักลงทุนจำนวนมาก นักลงทุนโดยทั่วไปจะตระหนักว่าหุ้นหรือบริษัทขนาดใหญ่ค่อนข้างที่จะมั่นคง ดังนั้นอัตราการเติบโตของบริษัทเหล่านี้จะมีอัตราการเติบโตที่ไม่โดดเด่น ไม่เติบโตอย่างก้าวกระโดดเหมือนบริษัทขนาดเล็ก และบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นอีกด้วย

ลักษณะของหุ้นขนาดกลาง(Mid Cap) นักลงทุนบางกลุ่มอาจชอบลงทุนในหุ้นขนาดกลางมากกว่า เพราะบริษัทเหล่านี้อาจมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วกว่าบริษัทขนาดใหญ่ และบางครั้งอาจซื้อหุ้นเหล่านั้นได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคายุติธรรม (Fair price) เนื่องจากหุ้นเหล่านี้ไม่ได้เป็นที่นิยมเท่าหุ้นขนาดใหญ่ หุ้นขนาดกลางมักเป็นเป้าหมายของบริษัทขนาดใหญ่ในการที่จะเข้าซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) ซึ่งข้อดีก็คือ บริษัทที่มาเข้าซื้ออาจยินดีที่จะจ่ายชดเชย (Premium) ให้กับหุ้นของบริษัทขนาดกลางนั้นๆ ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้นของบริษัทขนาดกลางดังกล่าวนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นในจังหวะที่ราคาแพงเกินไป ก็คงเป็นการยากที่จะทำกำไรจากส่วนต่างของราคา ซึ่งก็จะส่งผลเสียต่อผู้ลงทุนเช่นกัน แน่นอนว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวส่งผลแบบเดียวกันกับหุ้นขนาดใหญ่และขนาดเล็กด้วย

ลักษณะของหุ้นขนาดเล็ก(Small Cap) หุ้นขนาดเล็กมักเป็นที่รู้กันว่า เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นหุ้นที่มีความผันผวนสูงด้วย เพราะหุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เป็นบริษัทขนาดเล็ก และอยู่ในขั้นแรกๆของวัฏจักรธุรกิจ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสที่จะล้มและหายไปจากตลาดด้วย โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทขนาดเล็กนั้น เจ้าของหรือบอร์ดบริหารมักจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เมื่อเป็นเช่นนี้ราคาหุ้นนอกจากจะขึ้นกับผลการดำเนินงานของบริษัทแล้ว ยังอาจขึ้นกับการตัดสินใจบางอย่างของเจ้าของด้วย เพราะเจ้าของบริษัทเองก็คงไม่อยากจะขาดทุนไปพร้อมๆกันกับบริษัทที่ตัวเองสร้างมา

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าหุ้นแต่ละขนาดมีข้อดีและข้อด้อยที่แตกต่างกัน นักลงทุนอาจใช้ลักษณะเฉพาะอย่างของหุ้นแต่ละขนาดมาประกอบการตัดสินใจก่อนลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนของตนเอง หรืออาจเลือกลงทุนในหุ้นทั้งสามขนาดคละกันไปเพื่อกระจายความเสี่ยงโดยปรับน้ำหนักการลงทุนในหุ้นแต่ละขนาดให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการลงทุนก็ได้เช่นกัน เช่น หากนักลงทุนยอมรับความเสี่ยงได้มากแลกกับการมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น ก็อาจจะให้น้ำหนักกับหุ้นขนาดเล็กมากหน่อย แต่ถ้านักลงทุนชอบหุ้นที่มีความมั่นคง มีการจ่ายปันผลสม่ำเสมอ ก็ให้น้ำหนักกับหุ้นขนาดใหญ่ เป็นต้น

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button