พาราสาวะถีอรชุน

วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก หรือ World Press Freedom Day โดยปีนี้ยูเนสโกได้จัดงานเนื่องในวันดังกล่าวที่กรุงรีกา สาธารณรัฐลัตเวีย สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการพูดถึงเสรีภาพของสื่อในประเทศไทย หลังการรัฐประหารด้วย


วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก หรือ World Press Freedom Day โดยปีนี้ยูเนสโกได้จัดงานเนื่องในวันดังกล่าวที่กรุงรีกา สาธารณรัฐลัตเวีย สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการพูดถึงเสรีภาพของสื่อในประเทศไทย หลังการรัฐประหารด้วย

เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับรัฐบาลทหารคุกคามสื่อ จับกุมคุมขังสื่อ ปิดกั้นสื่อ ตำรวจและทหารเข้าจับกุมประชาชนที่สื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ รวมไปถึงปิดการเข้าถึงคลิปต่างๆ ที่เป็นหลักฐานความรุนแรงโดยรัฐ

เป็นที่น่าเสียใจว่าการคุกคามสื่อนั้นมักไม่มีการสืบสวนสอบสวนและลงโทษผู้กระทำ ไม่ใช่เรื่องดีแน่นอนและเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลคงต้องเร่งชี้แจงต่อข้อกล่าวหาดังกล่าวของเดวิด เคย์ เพราะหากนิ่งเฉยมันจะกลายเป็นเรื่องที่สอดรับกับการที่ นายแพทย์เหวง โตจิราการ แกนนำนปช.พร้อมคณะไปยื่นเรื่องร้องต่อองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยต่อกรณีการปิดสถานีโทรทัศน์พีซ ทีวี เมื่อวันก่อน

ทั้งนี้ การเดินทางไปดังกล่าวมีการยกเอาปฏิญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 19 หยุดการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อ มาเป็นข้อเรียกร้อง ตามรายงานข่าวระบุว่าผู้แทนยูเอ็นที่รับเรื่องดังกล่าวให้ความสนใจต่อประเด็นนี้เป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดที่ขอเลื่อนเวลาการยื่นหนังสือออกไปเพื่อที่จะได้พบปะพูดคุยกับผู้ยื่น ท่าทีเช่นนี้ย่อมไม่ธรรมดา

แม้งานนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะโบ้ยชี้นิ้วไปที่การทำหน้าที่ของกทสช. แต่ต้องไม่ลืมว่าเหตุผลในการปิดนั้น มีการยกเอาคำสั่งของคสช.มาประกอบ ซึ่งก็คือคำสั่งเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิ เสรีภาพของสื่อ ที่ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน เพราะนั่นก็คือ สิ่งที่คลอดมาจากอำนาจของคณะรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม จะว่าไปแล้วบทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อต่อประเด็นเสรีภาพนั้น ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ไม่ได้แสดงออกอย่างเต็มที่ กรณีการปิดพีซ ทีวี เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์อย่างเสียมิได้ ซึ่งเป็นท่าทีซึ่งเคยบอกมาโดยตลอดว่า องค์กรวิชาชีพสื่อนั้นหาได้วางตัวเป็นกลางต่อทุกสถานการณ์ไม่

เช่นเดียวกันกับการจัดงานเสวนาเนื่องในวันเสรีภาพสื่อที่ใช้หัวข้อ สื่อกำกับดูแลกันเองได้จริงหรือ โดยคอลัมนิสต์รุ่นใหญ่ (ที่เขียนในหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นด้วย) “ใบตองแห้ง” อธึกกิต แสวงสุข ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้เลยตลกๆ ตรงที่ว่า เรามาพูดเรื่องเสรีภาพสื่อและความรับผิดชอบสื่อในยุคที่สื่อไม่มีเสรีภาพ ซึ่งอรชุนคงขออนุญาตเสริมต่ออีกหน่อยว่า อย่างนี้เขาเรียกอาการดัดจริตหรือเปล่า

อีกคนที่ยืนอยู่บนหลักการตั้งแต่วัยสาวจนมาทำหน้าที่ในกทสช.ก็ยังยึดมั่นต่ออุดมการณ์ตรงนั้น สำหรับ สุภิญญา กลางณรงค์ ที่แสดงความเป็นห่วงว่า ปัญหาตอนนี้คือไม่มีเส้นแบ่งระหว่างการวิจารณ์กับการไปสู่ความแตกแยก ทำให้อยู่ที่ดุลพินิจของผู้ตัดสินล้วนๆ สิ่งสำคัญคือ การรับใบสั่ง จนทำให้ละทิ้งระเบียบขั้นตอนไปเสียฉิบ นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นสำหรับคนที่มีอำนาจตัดสินในเรื่องต่างๆ แต่ปล่อยให้อำนาจที่เหนือกว่ามาจูงจมูก

ร่างรัฐธรรมนูญที่มีเป้าหมายว่าด้วยการปฏิรูป จากเดิมทีดูท่าว่าน่าจะไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ แต่พอเห็นร่างแรกกันแล้ว หลายคนเริ่มนำไปเปรียบเทียบว่าอาการท่าจะไม่ต่างไปจากฉบับหน้าแหลมฟันดำ เพียงแค่ว่าหนนี้จะเข้ามามัดมือมัดเท้าฝ่ายการเมืองให้แน่นหนาขึ้น จนแทบจะหมดความสำคัญและไร้ศักดิ์ศรี โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเชิดชูข้าราชการและคนดีให้เป็นใหญ่

ทว่าการที่จะวางกับดักให้รัฐบาลซึ่งจะมาจากการเลือกตั้งกลายเป็นเป็ดง่อย กระดิกไปไหนไม่ได้นั้น หาใช่จะเกิดผลดีต่อประเทศชาติไม่ ในทางตรงข้ามจะเป็นการทำลายทำให้นานาชาติหมดความเชื่อถือไปเสียฉิบ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจเต็มอย่างบิ๊กตู่จะต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะจัดการอย่างไร แก้ไขนั้นต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นใดเป็นปัญหากระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศเต็มๆ ต้องตัดออกแล้วเขียนใหม่ให้เป็นสากล ส่วนการทำประชามติ เมื่อ วิษณุ เครืองาม ประสานเป็นเสียงเดียวกันกับ พรเพชร วิชิตชลชัย ว่าเป็นหน้าที่ของครม.กับคสช.จะต้องนำเสนอเพื่อให้สนช.แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ต้องรีบตัดสินใจเช่นเดียวกัน เพราะเวลากระชั้นเข้ามาทุกขณะ

ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของกรุงเทพโพล น่าจะเป็นข้อมูลทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจได้ไม่ยาก กับคำตอบของคำถามที่ว่า มั่นใจต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะช่วยให้รัฐบาลชุดต่อไปสามารถปฏิรูปประเทศได้สำเร็จหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 60 บอกว่า ไม่มั่นใจ ขณะที่ร้อยละ 59.7 ก็ชี้ชัดว่าถ้าเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากโรดแม็พเดิม ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศ

ขณะที่นิด้าโพล เล่นประเด็นที่มานายกฯ ปรากฏว่า ร้อยละ 59.40 หนุนให้ส.ส.เป็นผู้เลือกนายกฯ เพราะเป็นตัวแทนที่ประชาชนได้เลือกเข้าไป ขณะที่ร้อยละ 36.64 อยากให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง เช่นเดียวกับเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก แม้จะมีเงื่อนไขว่าจะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม

เห็นทิศทางโพลซึ่งเป็นคนกันเองกับผู้มีอำนาจแล้ว ต้องยอมรับว่า การที่คนยกร่างอ้างมีเสียงของประชาชนหรือพลเมือง (แค่บางกลุ่ม) สนับสนุน เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่แนวคิดของตัวเองในการยกร่างนั้น ถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง การไม่ยอมลดธงที่ตั้งไว้เท่ากับเป็นการเหาะเกินลงกา ถ้าปล่อยไปเช่นนี้มีหวังเรือแป๊ะไปไม่ถึงฝั่งแน่ ทำไปทำมาดูท่าจะล่มปากอ่าวไปเสียฉิบ

Back to top button