กสทช.รอหารือข้อยุติ สตง.สัปดาห์หน้า หลังเน็ตชายขอบถูกสั่งเบรก!

กสทช.รอหารือข้อยุติ สตง.สัปดาห์หน้า หลังเน็ตชายขอบถูกสั่งเบรก!


นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.จะระงับการดำเนินโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบที่ได้จัดการประมูลไปแล้วก่อนหน้านี้เอาไว้ก่อน เพื่อรอการหารือกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในสัปดาห์หน้า หลังจาก สตง.เคยส่งหนังสือมายัง กสทช.ก่อนการประมูลเพื่อทักท้วงการดำเนินโครงการดังกล่าว

อนึ่ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดให้มีการประกวดราคาโครงการสัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน (Broadband Internet Service) โดยใช้วิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Auction โดยอาศัยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549

โดยเมื่อวันที่ 2 ส.ค.60 จะเปิดประกวดราคาสำหรับสัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่ชายของ 3,920 หมู่บ้าน (Mobile Service) และคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือน ส.ค.60 เริ่มเปิดให้บริการได้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 60 ไม่น้อยกว่า 15% ของหมู่บ้านเป้าหมาย และจะให้บริการครบทั้ง 3,920 หมู่บ้านภายในเดือน ก.ค. 61

ทั้งนี้ พื้นที่โครงการภาคเหนือ 1 จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน แบ่งเป็น สัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) มีผู้ยื่นซองจำนวน 3 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL บริษัทลูก บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK , บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) มีผู้ยื่นซองจำนวน 3 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บมจ. ทีโอที  และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

พื้นที่โครงการภาคเหนือ 2 จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี แบ่งเป็น สัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีผู้ยื่นซองจำนวน 2 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 2 ราย ได้แก่ บมจ. ทีโอที และบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผู้ยื่นซองจำนวน 4 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 4 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) , บมจ. ทีโอที และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

พื้นที่โครงการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 18 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี อุทัยธานี แบ่งเป็น สัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีผู้ยื่นซองจำนวน 3 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บมจ. ทีโอที  และบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผู้ยื่นซองจำนวน 3 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บมจ. ทีโอที และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

พื้นที่โครงการภาคกลางและภาคใต้ จำนวน 24 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พังงา พัทลุง เพชรบุรี ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สตูล สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึง 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และอำเภอจะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย

โดยแบ่งเป็น สัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีผู้ยื่นซอง จำนวน 3 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ราย ได้แก่ บมจ. อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม , บมจ. ทีโอที และบริษัท ทรู อินทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผู้ยื่นซองจำนวน 4 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 4 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บมจ. กสท โทรคมนาคม, บมจ. ทีโอที และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด

ด้านบริษัทอินเตอร์ลิ้ง เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง – ภาคใต้) คิดเป็นมูลค่างานรวมทั้งสิ้น 1,868,235,000 บาท และคาดว่าจะมีการลงนามสัญญาในเดือนกันยายน 2560 นี้ กำหนดแล้วเสร็จภายใน 6 ปี 60 วัน นับจากวันลงนามในสัญญา

Back to top button