พาราสาวะถี

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะหากจะวิจารณ์กันอย่างรุนแรงก็ดูจะไม่เป็นธรรมเท่าไหร่เพราะยังไม่ได้เริ่มทำงาน แต่หลายเสียงก็อ่านเกมออกเมื่อเห็นรายชื่อของแต่ละรายว่าแนวโน้ม ทิศทางของคณะกรรมการแต่ละคณะนั้นจะเดินไปในทิศทางใด แต่ในบรรดาเสียงทักท้วงทั้งหลายนั้น ความเห็นของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช.ถือว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย


อรชุน

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 คณะหากจะวิจารณ์กันอย่างรุนแรงก็ดูจะไม่เป็นธรรมเท่าไหร่เพราะยังไม่ได้เริ่มทำงาน แต่หลายเสียงก็อ่านเกมออกเมื่อเห็นรายชื่อของแต่ละรายว่าแนวโน้ม ทิศทางของคณะกรรมการแต่ละคณะนั้นจะเดินไปในทิศทางใด แต่ในบรรดาเสียงทักท้วงทั้งหลายนั้น ความเห็นของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช.ถือว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

โดยเสี่ยเต้นมองว่า เนื้องานของคณะกรรมการปฏิรูปคงเป็นไปแบบตามใจแป๊ะ เพราะส่วนใหญ่เป็นคนกันเองที่วนเวียนทำงานให้คสช.มาแล้วในบทบาทต่างๆ ดังนั้น จึงขอขนานนามว่า กรรมการปฏิรูปชุดรวมญาติ หลักประกันเพื่อลูกหลานมีงานทำ พร้อมๆกับแบ่งกลุ่มคนเหล่านั้นออกเป็น 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มลูก(น้อง)ลุงตู่ หมายถึงกลุ่มข้าราชการและอดีตข้าราชการซึ่งส่วนใหญ่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ กลุ่มหลานลุงกำนัน อันหมายถึง กลุ่มคนทั้งภาครัฐ เอกชน และนักเคลื่อนไหวที่เคยมีบทบาทบนเวทีกปปส.

สุดท้ายคือกลุ่มลูกเรือแป๊ะ หมายถึงกลุ่มที่เคยมีตำแหน่งในแม่น้ำ 5 สาย ก่อนที่จะวิจารณ์ต่อไปว่า บุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มีแนวคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไปในทิศทางเดียวกันกับฝ่ายผู้มีอำนาจ การปฏิรูปซึ่งหัวใจสำคัญของความสำเร็จคือความหลากหลายทางความคิดและการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงดูเหมือนเวทีแสดงของคนส่วนหนึ่งที่เป็นคนส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้ชม

แต่ข้อกังวลของณัฐวุฒิที่ว่า เป็นห่วงว่าการปฏิรูปที่กำลังพูดถึงกันจะกลายเป็นการปฏิสังขรณ์รัฐราชการ ภายใต้แนวคิดอนุรักษ์นิยมให้มีอิทธิพลในบ้านเมืองไปอีกนาน บังเอิญว่าไปสอดคล้องกับความเห็นทางวิชาการของ อรุณี สัณฐิติวณิชย์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่เขียนบทความแสดงความเป็นห่วงต่อกระบวนการปฏิรูปไว้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ในมุมของอรุณีเห็นว่า ข้อเรียกร้องจากกลุ่มต่างๆ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงอำนาจหรือวิธีการทำงานของข้าราชการประจำ ซึ่งเป็นทั้งผู้อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังการพัฒนาประเทศมาช้านาน ดังนั้น หากผู้มีอำนาจต้องการปฏิรูปประเทศ โดยมุ่งเพียงรื้อปรับโครงสร้างสถาบันทางการเมืองคงไม่เพียงพอ เพราะกลไกที่ขับเคลื่อนประเทศคือระบบราชการ

ข้าราชการไทยมีอิทธิพลต่อการปกครองไทยมาทุกยุคทุกสมัย แม้ช่วงที่ปกครองโดยกลุ่มนักธุรกิจ ข้าราชการก็สามารถปรับตัวและสามารถมีอิทธิพลต่อการชี้นำนโยบายของนักการเมืองได้ ซึ่งอรุณียกความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานภาครัฐของประเทศในภูมิภาคเอเชียมาอธิบายว่า คนไทยไม่เข้าใจการบริหารภาครัฐไทย ด่าแต่นักการเมือง ประโยคดังกล่าวสะท้อนความเข้าใจอำนาจและอิทธิพลของข้าราชการไทยเป็นอย่างดี

นักการเมืองหรือแม้แต่คสช.เองเมื่อเป็นผู้นำประเทศ ต้องใช้บริการจากข้าราชการที่มีข้อมูล สถิติ ความรู้และความเชี่ยวชาญของข้าราชการในนโยบายต่างๆ ซึ่งการอยู่มานาน ทำให้ข้าราชการมีข้อมูลที่สำคัญต่อทิศทางของนโยบายของรัฐ เช่น กฎหมายที่เป็นอุปสรรค แหล่งเงินที่จะสามารถนำมาใช้ได้ หรือวิธีการที่จะทำให้การกระทำของรัฐบาลไม่ผิดกฎหมาย เป็นต้น

ในการออกกฎหมายต่างๆ ที่ให้อำนาจรัฐบาลในการบริหารประเทศจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากข้าราชการ เพราะเป็นเรื่องเทคนิค ที่ข้าราชการมีทักษะจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ทำให้ข้าราชการถูกตั้งเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งกรณีนี้ เราจะเห็นได้ชัดในปัจจุบันที่ทั้งอดีตข้าราชการและข้าราชการประจำในปัจจุบันได้เข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญและแผนปฏิรูปประเทศกันอย่างคึกคัก

ยิ่งรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารยิ่งต้องพึ่งพิงข้าราชการเพื่อรักษาอำนาจการปกครองประเทศของตนให้ได้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ที่เราเห็นรัฐบาลทหารเอาอกเอาใจข้าราชการมากกว่า ชาวนา ชาวสวนยางหรือชาวประมง เช่น สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ขึ้นเงินเดือนข้าราชการผ่านพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 และยกเลิกการยุบกรมทางหลวงชนบท ผ่านการออกพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2552

ขณะที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่น้อยหน้า ขึ้นเงินเดือนข้าราชการทุกประเภท ผ่านพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2558

การสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการเพื่อให้รัฐบาลทำงานได้ตามเป้าหมายนั้นสามารถเข้าใจได้ในมุมทางการเมืองระยะสั้น แต่หากคสช. หรือฝ่ายที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จริงใจและจริงจังที่จะปรับปรุงการบริหารประเทศให้เชื่อมโยงกับความต้องการของประชาชนอย่างมีคุณภาพและปราศจากการทุจริต ก็ต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงระบบราชการให้สามารถเชื่อมโยงและรับผิดชอบต่อความต้องการของประชาชนและชุมชนด้วย

ทำอย่างไรให้ระบบราชการเอาข้อมูลความเดือนร้อนจากชาวบ้านหรือประชาชน มาสื่อสารกับผู้นำประเทศอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบี้ยวตามความต้องการของนักธุรกิจหรือนายทุนผู้มีอำนาจ ทำอย่างไรให้การร่างกฎหมายเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ทำอย่างไรจึงจะป้องกันการกินเปอร์เซ็นต์การจัดซื้อจัดจ้างภายในหน่วยงานภาครัฐ ทำอย่างไรให้การจัดทำข้อเสนอโครงการของภาครัฐเกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่พิธีกรรมเชิญมากินของว่างแล้วลงชื่อ

ไม่ว่าการปฏิรูปประเทศจะออกมารูปแบบใด หน้าตาแบบไหน ก็คงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศไปจากแนวปฏิบัติเดิมๆได้ หากผู้นำไม่เปลี่ยนระบบราชการ นี่คือความเห็นของอรุณีเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งนอกเหนือจากการวิเคราะห์ได้ตรงกับความเป็นจริงแล้ว ดูเหมือนว่าความเห็นที่อยากให้มีการเปลี่ยนระบบราชการนั้น ไม่ได้มีความหมายใดๆ

เพราะกระบวนการปฏิรูปที่ทำกันอยู่เวลานี้ กลับเป็นไปในทางตรงข้าม มีการสร้างรัฐข้าราชการให้ใหญ่โต มีอำนาจล้นฟ้า จนนักการเมืองที่จะเข้ามาหลังเลือกตั้งยังมองไม่ออกว่าจะขยับทำอะไรกันได้หรือไม่ ถ้าพูดให้เห็นภาพก็คือ คนที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี แทบจะเข้ามาเป็นหุ่นยนต์ที่ต้องรอฟังคำสั่งจากฝ่ายข้าราชการเท่านั้น หากไม่ได้รับการยินยอมหรือฝ่ายการเมืองดันทุรังก็จะถูกเล่นงานตามกฎหมายที่สถาปนากันไว้ทันที นี่แหละคือเป้าหมายหลักของการปฏิรูปประเทศตามแผนระยะยาว 20 ปี

Back to top button