KSL รวยเพราะเพื่อนเสริมส่ง

ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับข่าวจับมือทางพันธมิตรธุรกิจ จากการที่ บริษัท เคเอสแอลจีไอ จำกัด (KSLGI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL จะควบรวมกับบริษัทในเครือบางจากคอร์ปอเรชั่น หรือ BCP


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับข่าวจับมือทางพันธมิตรธุรกิจ จากการที่ บริษัท เคเอสแอลจีไอ จำกัด (KSLGI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL จะควบรวมกับบริษัทในเครือบางจากคอร์ปอเรชั่น หรือ BCP

เพียงแต่ไม่มีใครรู้หรือคาดคิดมาก่อนว่า ผลของการควบรวม จะสร้างกำไรพิเศษทันทีทันควันให้กับ KSL หลังดีลจบสิ้นในไตรมาสสี่ที่จะมาถึงนี้

กำไรพิเศษคาดว่าจะมากถึงประมาณ 2.0 พันล้านบาท  ที่ถูกบันทึกในการขายเงินลงทุนใน KSLGI ออกไป 60% ตามมาตรฐานบัญชี โดยมาจากส่วนต่างของมูลค่ายุติธรรมและมูลค่าทางบัญชีของ KSLGI

ส่วนตอนจบจริงๆ อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าที่คาด …ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น

กำไรพิเศษดังกล่าวเกิดขึ้นชนิด “ถูกที่ ถูกเวลา” เพราะมีผลทำให้กำไรสุทธิที่กำลังคาดว่าจะถดถอยในปีนี้ของ KSL เนื่องจากราคาน้ำตาลตกต่ำเป็นขาลง กลับมาทำให้มีกำไรสุทธิปี 59/60 ดีสุดในรอบ 5 ปีกันเลยทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงตัวเลขกำไรสุทธิที่กระโดดแรงดังกล่าว เกิดจากการปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจใหม่ เมื่อ KSL ตัดสินใจถอนไฟลิ่ง บริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KGI ที่หวังเข้าระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ออก แล้วเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โดยให้มีผู้ถือหุ้นแค่ 2 รายหลัก คือ บริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง จำกัด (BBH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ถือหุ้น 99.99% จะเข้าถือหุ้น 60% และบริษัท เคเอสแอลจีไอ จำกัด (KSLGI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ KSL จะเข้าถือหุ้นใน KGI ในส่วนที่เหลือ รวมแล้วมีสัดส่วนถือหุ้นรวม 99.99%…ที่เหลือ 0.01% ถือหุ้นโดยบุคคลทางเทคนิค

ดีลดังกล่าวเป็นการ “คลุมถุงชน” หรือ a marriage of convenience ที่เกิดจากความพยายามสร้างพลังผนึกในสูตร 1+1= 3 นั่นเอง ….ผ่านการควบรวมธุรกิจเอทานอลของกลุ่มKSL เข้ากับธุรกิจพลังงานชีวภาพ ของค่าย BCP

ตามขั้นตอนแล้ว การควบรวมดังกล่าวจะสิ้นสุด หรือแล้วเสร็จ ภายในเดือนตุลาคมปีนี้ ทำให้สามารถบันทึกกำไรพิเศษเข้ามาในช่วงไตรมาสสี่ได้เลย ไม่ต้องรอนาน

หลักการที่เอาบริษัทไปรวม แล้วบริษัทเดิมอย่าง KGI ก็ได้ดำเนินกิจการมานาน 10 กว่าปีแล้ว จนกระทั่งค่าเสื่อมลดลงมาเยอะ ทำให้ KGI ที่ยังมีกำไรต่อเนื่อง สามารถตีมูลค่าใหม่ โดยเอางบการเงินสิ้นเดือนตุลาคมมาเทียบเคียง ซึ่งในเบื้องต้นมีการประเมินทางการเงินว่าจะทำให้ KSLมีกำไรเยอะพอสมควร รวมทั้งกำไรพิเศษที่ได้จากการได้รับเงินคืนค่ารักษาเสถียรภาพ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นแค่กำไรทางบัญชี ไม่ใช่กำไรที่เป็นเงินสด แต่ก็ทำให้งบการเงินสิ้นงวดเดือนธันวาคมของ KSL อะร้าอร่ามทีเดียว

กำไรพิเศษที่เกิดขึ้น กลบเกลื่อนขาลงของกำไรจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 59/60 ที่ประเมินล่วงหน้า ว่าจะลดลงจากช่วงครึ่งปีแรก จากราคาขายน้ำตาลที่ลดลง และการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าในช่วงไตรมาส 4 ของปี  โดยที่คาดหมายว่ากำไรจากการดำเนินงานปกติในปี 2559/60 ของ KSL อาจจะไม่สดใสนัก จากปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ลดลงมาอยู่ที่ 6.8 ล้านตัน จากระดับ 7.1 ล้านตันในปีที่แล้ว ส่วนธุรกิจเอทานอลดีขึ้น ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าทรงตัว

กำไรพิเศษที่ส่งผลต่อกำไรสุทธิของ KSL รอบนี้จะไม่รวมถึงกำไรพิเศษ หรือมูลค่าทางบัญชีของกิจการในเครือ KSL จะได้รับในปี 2561 จาการที่บริษัทใหม่ ซึ่ง BCP จะถือหุ้นอยู่ 60% ส่วน KSL จะถือหุ้น 40% ได้กลายเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ขนาดใหญ่ที่สุด อันดับ 1 ของประเทศ ด้วยกำลังการผลิตรวม 1.71 ล้านลิตรต่อวัน ใช้มันสำปะหลังและกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบ …เพราะทั้ง KSL และ BSP  วางแผนว่า อนาคตจะนำบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ภายใน 1 ปี นับจากดีลควบรวมจบสิ้นกระบวนการเดือนตุลาคมนี้ หรืออย่างช้าสุดไม่เกินไตรมาส 4/2561 เพื่อระดมทุนรองรับการขยายงานของแต่ละธุรกิจ

อนาคตหลังจากดีลนี้จบ ยังต้องมีก้าวต่อไปที่พันธมิตรทั้ง KSL และ BCP ต้องสานต่อไปอีก

ทางฝั่ง KSL ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานเอทานอลอยู่ 2 โรงงาน กำลังผลิตรวม 3.5 แสนลิตรต่อวัน ก็กำลังอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีกอีก 2 แสนลิตรต่อวัน ใน จ.ขอนแก่น จะเริ่มก่อสร้างในต้นปีหน้า ด้วยเงินลงทุนไม่เกิน 1 พันล้านบาท เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่า เพราะหลังการรวมกิจการครั้งนี้ ทาง BCP จะผูกพันรับซื้อเอทานอลราว 50% ที่บริษัทร่วมทุนผลิตได้ ที่เหลือถึงจะขายให้ลูกค้ารายอื่นๆ…เท่ากับ BCP กลายเป็นผู้ร่วมทุนและลูกค้าถาวรของบริษัทร่วมทุนโดยปริยาย

ขณะที่ฝั่ง BCP ก็มีแผนจะขยายโรงงานเอทานอลของบริษัทร่วมทุนกับบริษัท สีมาอินเตอร์โปรดักส์ จำกัด  เป็นราว 2 แสนลิตรติอวัน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 1.5 แสนลิตรต่อวัน

จากนั้นก็ยังมีแผนวาดไว้สำหรับบริษัทใหม่จากการรวมทุนให้ต่อยอดธุรกิจไบโอพลาสติกในอนาคต และสร้างพันธมิตรกับบรรดาผู้ผลิตเคมีภัณฑ์เช่น กลุ่มเครื่องสำอาง เป็นต้น

งานนี้ นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทายาทรุ่นที่สองของตระกูลชินธรรมมิตร์ที่กำลังคืบคลานเข้ารับงานใหญ่แทนผู้บริหารของตระกูลในรุ่นก่อนหน้า มีโอกาสโชว์วิสัยทัศน์และศักยภาพเต็มที่…ก่อนจะรับงานใหญ่กว่าปัจจุบันในระยะต่อไป

อิ อิ อิ

Back to top button