SQ พุ่งกว่า 6% ทุบสถิตินิวไฮต่อเนื่อง ลุ้นซิวงานโครงการแม่เมาะ 9 แนะซื้อเป้า 9 บ.

SQ พุ่งกว่า 6% ทุบสถิตินิวไฮต่อเนื่อง ลุ้นซิวงานโครงการแม่เมาะ 9 แนะซื้อเป้า 9 บ. ล่าสุด ณ เวลา 15.11 น. อยู่ที่ 7.65 บาท บวก 0.45 บาท หรือ 6.25% สูงสุดที่ 7.70 บาท ต่ำสุดที่ 7.20 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 380.56 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SQ ล่าสุด ณ เวลา 15.11 น. อยู่ที่ 7.65 บาท บวก 0.45 บาท หรือ 6.25% สูงสุดที่ 7.70 บาท ต่ำสุดที่ 7.20 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 380.56 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยรวมบวก 0.40%

ทั้งนี้ราคาหุ้น SQ ปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค.59

ด้าน บล.บัวหลวง แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 9 บาท/หุ้น โดยราคาหุ้นมีปัจจัยหนุนจากงานโครงการแม่เมาะ 9 ที่คาดจะประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติทางเทคนิคในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ ก่อนที่จะประกาสผลผู้ชนะภายในสิ้นเดือน ต.ค.-ต้นเดือน พ.ย. ซึ่งหากบริษัทได้รับงานจะหนุนให้ Backlog ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 7.6 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นหากชนะงานแม่เมาะ 9 จะหนุนให้เกิด EPS ส่วนเพิ่มกับบริษัทราว 40% (สุทธิจากผลกระทบของ Dilution Effect จากการเพิ่มทุน) แม้ว่าจะมีประเด็นความกังวลของตลาดในเรื่องของผลประกอบการณ์ที่จะชะลอตัวในไตรมาส 3/60 เนื่องจากฝนที่ตกหนัก แต่เป็นแค่ปัจจัยด้านฤดูกาลปกติอยู่แล้ว

สำหรับโครงการแม่เมาะ 9 มีผู้ยื่นซองทั้งหมด 3 ราย โดยมูลค่าโครงการ อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท (แม่เมาะ 7; 2.2 หมื่นล้านบาท, แม่เมาะ 8; 2.3 หมื่นล้านบาท, หงสาฯ 1.2 หมื่นล้านบาท) โดยคาดจะรู้ผลภายในสิ้นเดือน ต.ค. ต้นเดือน พ.ย. นี้ เร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าที่คาดว่าจะประกาศในช่วงสิ้นปี

ขณะที่จากแผนกำหนดการใหม่ดังกล่าว ประเมินว่าภายในสัปดาห์นี้-สัปดาห์หน้า จะมีการประกาศผลผู้ผ่านเงื่อนไขทางเทคนิคก่อนที่จะประกาศผลช่วงสิ้นเดือน ยังเชื่อว่า SQ ยังได้เปรียบในด้านความสามารถในการบริหารเครื่องจักร (ข้อมูลในอดีตตอกย้ำความสามารถของ SQ ในด้านนี้) และมีโอกาสสูงที่จะคว้างานนี้ไปได้ โดยหากบริษัทได้รับงานดังกล่าวจะส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 76,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ประเด็นความกังวลของตลาดเรื่องการเพิ่มทุนหากบริษัทชนะงานประมูลโครงการแม่เมาะ 9 อย่างไรก็ตามเรามองว่าการเพิ่มทุนจะเกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่จะเริ่มติดตั้งเครื่องจักรใหญ่เข้าไป

อีกทั้งเราเชื่อว่ากำไรจากงานแม่เมาะ 9 ที่เข้ามาจะหักกลบผลกระทบจากการเพิ่มทุนต่อ EPS ได้ โดยอิงตามสมมติฐาน เงินลงทุนเริ่มต้นที่ 1.4 หมื่นล้านบาท (2 เท่าของโครงการแม่เมาะ 8), D/E ที่ 70/30, อัตรากำไรสุทธิ 10% (อัตรากำไรสุทธิขั้นต่ำของงานประมูลที่ได้ในอดีต), ใช้เงินทุนหมุนเวียนในบริษัท 1 พันล้านบาท, ราคาเพิ่มทุนที่ 7 บาท จะทำให้เกิด Dilution Effect ราว 40% แต่กำไรที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาวราว 80%/ปี โดยผลสุทธิที่เกิดขึ้นยังทำให้ EPS เติบโตได้ 40%

อย่างไรก็ตาม คาดบริษัทจะได้รับงานส่วนเพิ่มมาทำในช่วงที่เป็นรอยต่อในการลงเครื่องจักรใหญ่ของโครงการแม่เมาะ 8 (ส.ค.-พ.ย.) และมีโอกาสที่เครื่องจักรใหญ่จะเริ่มดำเนินการได้ทันทีในเดือน ธ.ค. (จากแผนเดิม มี.ค. ปีหน้า) อีกทั้งงานขนถ่านโครงการแม่เมาะ 7 เริ่มกลับมาเรียกตามแผน สำหรับโครงการหงสา คาดมีโอกาสเจรจาได้งานเพิ่มทั้งโครงการ ตามแผนการเพิ่มโรงไฟฟ้า ทำให้โดยรวมเราปรับประมาณการกำไรปี 2560 ขึ้น 15% มาที่ 436 ล้านบาท

Back to top button