BANPU เจ๋ง หรือเจ๊ง … ไม่มีเจ๊า

วันศุกร์ที่ผ่านมา แรงเทขายหุ้น มากเกือบ 10,700 ล้านบาท ทำให้ราคาหุ้น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ถูกทิ้งดิ่ง หลังจากที่มีประกาศร่วมของทั้ง 2 บริษัทว่า ศาลฎีกาได้มีหมายนัดมายังบริษัททั้งสอง ให้ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งที่นายศิวะ งานทวี และ บริษัท ไทย-ลาว ลิกไนต์ (ประเทศไทย) หรือ TLL เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท กับพวกฯเป็นจำเลย นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหงสา เช้าวันที่ 6 มีนาคม 2561 ที่จะมาถึง


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

วันศุกร์ที่ผ่านมา แรงเทขายหุ้น มากเกือบ 10,700 ล้านบาท ทำให้ราคาหุ้น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ถูกทิ้งดิ่ง หลังจากที่มีประกาศร่วมของทั้ง 2 บริษัทว่า ศาลฎีกาได้มีหมายนัดมายังบริษัททั้งสอง ให้ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งที่นายศิวะ งานทวี และ บริษัท ไทย-ลาว ลิกไนต์ (ประเทศไทย) หรือ TLL เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท กับพวกฯเป็นจำเลย นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหงสา เช้าวันที่ 6 มีนาคม 2561 ที่จะมาถึง

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีใครคาดเดาว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาที่จะออกมา เป็นคุณหรือโทษร้ายแรงแค่ไหน

อนาคตที่ไม่ชัดเจน ทำให้นักลงทุนถือหลักปลอดภัยไว้ก่อน ขายทิ้งถือเงินสดดีกว่า

ความเดิมของเรื่องนี้ เกิดขึ้นหลายปีดีดัก… โจทก์ (นายศิวะ งานทวี กับพวกฯ) กล่าวอ้างว่าเครือ BANPU กับพวกฯ ทำการหลอกลวงโดยเข้าร่วมทำสัญญาร่วมทุนกับนายศิวะกับพวกฯ เพื่อประสงค์จะได้ข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหิน รวมทั้งรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่เมืองหงสา สปป.ลาว และได้ใช้สิทธิไม่สุจริตในการรายงานเท็จทำให้รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานของนายศิวะกับพวกฯ เพื่อที่บริษัทจะได้เข้าทำสัญญากับรัฐบาลลาวเอง

ก่อนหน้านี้ คดีดังกล่าว ได้ถูกศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ ตามหนังสืออ้างอิง บป.0957/145 ลงวันที่ 9 กันยายน 2557 แต่นั่นเป็นเพียงเหตุการณ์ที่ยังไม่จบ…และยังต้องมีการสาวย้อนทวนถึงเหตุที่มาของคำฟ้องของนายศิวะ และ บริษัท ไทย-ลาว ลิกไนต์ (ประเทศไทย) หรือ TLL ในปี 2550

ก่อนหน้าที่จะถึงศาลอุทธรณ์ ต้องผ่านศาลแพ่งในชั้นต้นเมื่อ นายศิวะ และ TLL ฟ้องกลุ่ม BANPU 2 ประเด็นรวมกัน เรียกค่าเสียหาย 56,000 ล้านบาท คือ 1) กระทำการโดยไม่สุจริต และใช้ข้อมูลเท็จกับ สปป.ลาว จนทำให้ สปป.ลาว ยกเลิกสัญญาพัฒนาโรงไฟฟ้ากับ TLL 2) ใช้ข้อมูลจากการร่วมลงทุนก่อสร้าง และแผนพัฒนาไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินที่เป็นความลับของ TLL ไปใช้ประโยชน์ … ซึ่งศาลแพ่งชี้ขาดว่า ข้อแรก BANPU ไม่ผิด แต่ผิดข้อหลังต้องชดใช้ค่าเสียหาย 31,740 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลกระทบราคาหุ้นละ 6.14 บาท

ปฏิกิริยาเบื้องต้น นอกจากการเทขายหุ้นค่อนข้างแรงแล้ว นักวิเคราะห์ต่างพากัน “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” เป็นการใหญ่ แล้วสร้างภาพเสมือนอนาคตออกมาว่า มีความเป็นไปได้ 3 ทาง คือ

  • กรณีดีที่สุด หมายถึง BANPU ชนะ คาดว่าราคาหุ้นจะมี upside ที่จำกัด โดยเรามองว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้น ราว 30% เพราะได้สะท้อนประเด็นนี้ไปในระดับหนึ่งแล้ว
  • กรณีเลวร้าย BANPU แพ้คดี โดยศาลฎีกายืนคำตัดสินตามศาลแพ่ง และสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย 31,740 ล้านบาท ประเมินผลกระทบต่อราคาหุ้นที่ 6.14 บาทต่อหุ้น
  • กรณีเลวร้ายสุดๆ BANPU แพ้คดี โดยศาลฯมีคำตัดสินว่ากระทำผิดทั้ง 2 ข้อ แล้วสั่งชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดตามที่โจทก์ฟ้อง เต็มจำนวนคำฟ้อง ประเมินผลกระทบราคาที่ 12.30 บาทต่อหุ้น

กรณีฟ้องร้องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดดเดี่ยว แต่โยงกับคดีอื่นด้วย เพราะนายศิวะ และ TLL ฟ้องรัฐบาล สปป.ลาวอีกคดีด้วย

เรื่องที่เกิดขึ้นต้องเท้าความถึงอดีต…. ใน ปี พ.ศ. 2533 กลุ่มงานทวี  นำโดยนายศิวะ ได้จัดตั้ง บริษัท ไทย-ลาว ลิกไนต์ (ประเทศไทย) หรือ TLL ร่วมกันกับรัฐบาลลาวที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ขึ้นที่จังหวัดหงสา ใกล้พรมแดนไทย-ลาว (ห่างจากชายแดนจังหวัดน่านของไทยไปเพียง 30 กิโลเมตร) …จากนั้นในช่วงปี 2535-2536 TLL ได้ทำสัญญากับรัฐบาล สปป. ลาวทำเหมืองถ่านหินในจังหวัดหงสา จัดตั้งบริษัท หงสา ลิกไนต์ (ประเทศลาว) หรือ HLL ขึ้นในปี 2537 ตามกฎหมายของ สปป.ลาว ซึ่งกำหนดว่า บริษัทที่จะทำธุรกิจนี้ได้ ต้องจดทะเบียนในลาว โดยมีทางการ สปป.ลาวร่วมถือหุ้นด้วย

ธุรกิจของ TLL ลึกซึ้งแนบแน่นยิ่งขึ้นกับ สปป.ลาว เมื่อปีเดียวกันนั้น มีการทำข้อตกลงในการจัดสร้างโรงไฟฟ้าขึ้น หรือที่เรียกว่า Project Development Agreement (PDA) ซึ่งให้สิทธิ TLL ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วยเงินลงทุนของ TLL เองและบริหารโรงไฟฟ้าตามระยะสัมปทาน โดยใช้ถ่านหินที่ขุดได้จากเหมืองของ HLL

ยามรักน้ำต้มผักก็ว่าหวาน เพราะช่วงแรกนั้นดูราบรื่นจนน่าอิจฉา เมื่อ TLL เข้าทำการสำรวจ ซื้อเครื่องมือ ก่อสร้างถนนไปยังเหมืองถ่านหิน และหาแหล่งเงินทุนอีกขนาดมหึมา รวมทั้งเจรจาขายไฟฟ้าล่วงหน้าให้กับรัฐบาลไทย … บังเอิญเจอวิกฤตต้มยำกุ้งเข้าเสียก่อน ผลลัพธ์คือ “4 ปีอันสูญเปล่า” เพราะระหว่างปี 2540-2543 TLL ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนได้ อีกทั้งเงินลงทุนต่างๆ ก็เริ่มร่อยหรอลงไป….ไม่สามารถดำเนินการต่อได้

เมื่อทุนตัวเองไม่พอ การหาพันธมิตรร่วมทุนในช่วงต่อมา เป็นทางออกที่พึงกระทำ …ผลลัพธ์คือ การเชื้อเชิญให้ BANPU เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วยในปี 2547 …แต่ก้นหม้อเพิ่งเริ่มดำ ก็เกิดอาเพศ ไม่รู้ว่าด้วยเหตุอันใด TLL ก็ทำการตัด BANPU ออกจากการร่วมโครงการนี้ในปี 2549

ในปีเดียวกัน เมื่อทางการ สปป.ลาวไม่ยอมทนความล่าช้าที่ดำเนินมานานกว่า 8 ปี จึงได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปทาง TLL แสดงความกังวลว่า TLL อาจไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ได้ (PDA)…แต่ TLL ก็จนแต้ม

ที่สุด ทางการ สปป.ลาวได้ยื่นหนังสือว่า TLL ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข และขอยกเลิกข้อตกลง PDA ในวันที่ 5 ตุลาคม 2549…หลังจากนั้น ก็ได้ยกเลิกสัญญาเหมืองแร่ กับ HLL ด้วย…. แม้ TLL จะโต้แย้งว่า การกระทำของ สปป.ลาวในการยกเลิกข้อตกลง PDA และสัญญาเหมืองแร่นั้น ไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอนที่ได้ระบุเอาไว้ในข้อตกลง และปราศจากเหตุผล

ถัดมาอีก 3 เดือน สปป.ลาวได้เข้าทำข้อตกลงในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินอีกครั้งกับ BANPU โดยมีทางการของลาวถือหุ้นร่วมด้วย 20%… ไวกว่าสูตรน้ำเน่าดาราที่ “ท้องก่อนแต่ง คลอดก่อนกำหนด” หลายเท่า

“รักโปรโมตของคนดัง” จึงกลายเป็น “รักขม” พัลวันพัลเก ….อย่างช่วยไม่ได้

ปี 2550 นาย ศิวะและ TLL ยื่นเรื่องกล่าวหา สปป.ลาวต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่มาเลเซีย โดยอ้างถึง “อนุสัญญาพหุภาคีนิวยอร์กคอนเวนชั่น” เรียกร้องค่าเสียหายจาก รัฐบาลสปป.ลาว เป็นเงินจำนวน 45 ล้านเหรียญสหรัฐ …แต่ รัฐบาล สปป.ลาวไม่ยอมชำระ และ พยายามคัดค้านการชดใช้ค่าเสียหาย

ปี 2552 อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ สปป.ลาวชดใช้ค่าเสียหายแก่นายศิวะ และ TLL เป็นเงิน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ… สปป.ลาว ไม่ยอมจ่าย และยกเรื่องมาฟ้องศาลมาเลเซีย … ศาลพลิกคำตัดสินใหม่ บอกว่าการยกเลิกสัญญา โดย สปป.ลาว ชอบแล้ว ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย

นายศิวะ และ TLL ยื่นฎีกาต่อศาลสูงมาเลเซียอีก แต่…วันที่ 17 สิงหาคม 2560 ศาลสูงสุดของมาเลเซียยืนคำตัดสินให้ สปป.ลาว ชนะคดี

ผลข้างเคียงของคำตัดสินในศาลมาเลเซีย ทำให้กลุ่มผู้บริหาร BANPU รวมทั้ง ซีอีโอ “สตรีเหล็ก” นางสมฤดี ชัยมงคล มีความมั่นใจมาก ….มากจนไม่ยอมตั้งสำรองเผื่อไว้ในกรณีแพ้คดี…. มั่นใจซะอย่าง ใครจะทำไม

เพราะมั่นใจเกินร้อยนี่แหละ ทำให้ราคาหุ้นต่ำเตี้ยไม่ไปไหน ทั้งที่ราคาหุ้นพลังงานอื่นๆ (ไม่นับ  EARTH และ IFEC)…เหตุผลเพราะนักลงทุนประเภท “หลีกความเสี่ยง” คิดตรงข้ามกับผู้บริหาร

มองว่า ชนะเสมอตัว แพ้ย่อยยับ… ก็เพราะไม่ยอมตั้งสำรองนี่แหละ

ถึงวันที่ 6 มีนาคม ผ่านไป ก็คงรู้ว่าราคาหุ้น BANPU จะอยู่ที่ 25.00 บาท หรือ 14.00 บาท หรือ 8.00 บาท… ส่วนของ BPP จะอยู่ที่ 32.00 บาท หรือ 23.00 บาท หรือ 17.00 บาท

แล้วจะรู้ว่า…ใครเจ๊ง หรือ เจ๋ง….หรือ เจ๊า

อิ อิ อิ

Back to top button