SGP รุกหนักตลาดก๊าซธรรมชาติจีน ลุยCODโรงไฟฟ้าเมียนมา10MWเม.ย.นี้

SGP เจาะตลาดก๊าซธรรมชาติมาเลเซียตะวันตก-จีนตอนเหนือ รองรับความต้องการใช้จากจีนพุ่ง หลังรัฐบาลจีนประกาศยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตั้งเป้ายอดขาย LPG ปี 61 โต 7% เตรียมพิจารณานำบ.ลูก เข้าเทรดตลาดหุ้นฮ่องกงในอนาคต เล็ง COD โรงไฟฟ้าเมียนมา 10MW ก่อนสงกรานต์ปีนี้


นายศุภชัย วีรบวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนเข้าลงทุนในตลาดจีนตอนเหนือเพื่อขยายตลาดการขนส่งก๊าซธรรมชาติ (LPG) เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

โดยปัจจุบันบริษัทถือได้ว่าเป็นผู้นำตลาดในจีนตอนใต้ โดยเป็นผู้นำเข้า LPG ติดอันดับหนึ่งในสามในประเทศจีน และมีคลังเก็บก๊าซใต้ดินขนาดใหญ่ 2 แห่งในจีน คือ ที่เมืองซัวเถา ขนาด 100,000 ตัน และเมืองจูไห่ ขนาด 200,000 ตัน รวม 300,000 ตัน

ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาตลาดและความเป็นไปได้ในในธุรกิจจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้า โดยในเบื้องต้นบริษัทได้เตรียมเงินลงทุนในธุรกิจ LNG ราว 200 ล้านเหรียญ ซึ่งจะช่วยการเพิ่มสินค้าและกลุ่มลูกค้าของบริษัท และคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

โดยมองว่าธุรกิจจำหน่าย LNG มีโอกาสเติบโตสูงในประเทศจีน เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากนโยบายยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อลดปัญหามลพิษนั้น ส่งผลให้อุปสงค์ในการใช้ LPG และ LNG เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้จากศักยภาพการเติบโตของตลาดจีนจึงส่งผลให้มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทจะนำบริษัทในจีนเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงในอนาคต

บริษัทฯวางเป้าหมายยอดขาย (volume) LPG ในปี 2561 เติบโต6-7% หรือประมาณ 3.4 ล้านตัน เทียบปีที่ผ่านมียอดขายกว่า 3.2 ล้านตัน ขณะที่รายได้ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยรายได้ในปีที่ผ่านมา ได้รับแรงหนุนจากราคา LPG ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 580 เหรียญสหรัฐ/ตัน และปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น”นายศุภชัย กล่าว

ส่วนแผนการลงทุนในปี 2561 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 2,000 ล้านบาท สำหรับขยายธุรกิจ ทั้งธุรกิจโรงไฟฟ้าและธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งบริษัทฯ มองหาช่องทางการลงทุนเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับธุรกิจ

โดยในส่วนของธุรกิจโรงไฟฟ้านั้น บริษัทมีแผนจะเข้าลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมในประเทศเมียนมาร์ ขนาดกำลังผลิต 230 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันบริษัทถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 36.1 ทั้งนี้ปัจจุบันโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว

ขณะที่ล่าสุด บริษัทได้ร่วมทุนกับพันธมิตรจัดตั้งบริษัทย่อย สำหรับลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซลในเมียนมา เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับสหกรณ์หมู่บ้านโดยตรง ซึ่งคาดว่าเฟส 1 ขนาดกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์จะสามารถ COD ได้ก่อนช่วงสงกรานต์ปีนี้

นอกจากนี้ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าบริษัทมีแผนเปิดท่าเรือคลัง LPG เพิ่มอีก 2 ท่าคือ ที่เมียนมาร์ และภาคตะวันตกของมาเลเซีย จากเดิมที่บริษัทมีอยู่แล้ว 2 ท่าในมาเลเซียตะวันออก สำหรับการเปิดท่าเรือดังกล่าวบริษัทเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และมีต้นทุนลดลง

ส่วนสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.9 เท่า หากต้องการขอวงเงินสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงินก็สามารถดำเนินการได้ทันที

Back to top button