IFECขอยืดเวลาเข้าชี้แจงวิธีสางปัญหา-ตั้งบอร์ดไปอีก 15 วัน อ้างเตรียมข้อมูลไม่ทันกำหนดเดิม

IFEC ขอยืดเวลาเข้าชี้แจงวิธีสางปัญหา-ตั้งบอร์ดกับก.ล.ต.ไปอีก 15 วัน ครบกำหนด 20 มี.ค.นี้ อ้างเตรียมข้อมูลไม่ทัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ขอให้บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC และกรรมการบริษัท ชี้แจงแนวทางการแก้ไขปัญหาของบริษัทเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการ

รวมทั้งปัญหาที่สืบเนื่องมาจากเรื่องดังกล่าวต่อกลต. และเปิดเผยข้อมูลคำชี้แจงดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ในหนังสือที่อ้างถึงซึ่งครบกำหนดชี้แจงในวันที่ 5 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

โดย IFEC ไม่สามารถจัดเตรียมข้อมูลในการชี้แจงตามหนังสือที่อ้างถึง ภายในระยะเวลาที่กำหนด บริษัทฯและกรรมการบริษัท จึงมีความจำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาชี้แจงต่อกลต.ออกไปอีก 15 วัน  นับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2561 ซึ่งจะครบกำหนดชี้แจงในวันที่ 20 มีนาคม 2561

 

ทั้งนี้การชี้แจงข้อมูลดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษ นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ อดีตประธานกรรมการ IFEC กรณีนายวิชัยในขณะที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ IFEC ไม่ดำเนินการให้บริษัทชี้แจงประเด็นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสอบถามตามที่ปรากฏข่าวว่า IFEC ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน (B/E) จนเป็นเหตุให้หุ้น IFEC ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2560 ซึ่งทำให้นายวิชัยได้ประโยชน์

โดยหุ้น IFEC ที่นายวิชัยถือไว้และเป็นหลักประกันบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทมาร์จิ้น จำนวนรวมกว่า 57.46 ล้านหุ้น ไม่ถูกบังคับขาย จึงทำให้นายวิชัยยังคงสภาพการเป็นผู้ถือหุ้นของ IFEC และสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการในการประชุมผู้ถือหุ้นจำนวน 3 ครั้งในปี 2560 เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง

ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนมาตรา 170 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองได้รับประโยชน์ตามมาตรา 89/7 และมาตรา 281/2 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษนายวิชัยต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำหรับการกล่าวโทษนายวิชัยในครั้งนี้ เป็นการกล่าวโทษเพิ่มเติมจากกรณีที่ ก.ล.ต. กล่าวโทษนายวิชัยในฐานะประธานกรรมการ IFEC ต่อ ปอศ. เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 กรณีกระทำโดยทุจริตโดยแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้เพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น โดยการใช้วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ เนื่องจากปัจจุบัน IFEC ไม่สามารถชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ตามกำหนดเวลา ทำให้ถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องต่อศาล และไม่สามารถจัดทำและนำส่งงบการเงินได้ตามระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด จนเป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศให้ IFEC เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่

(1) IFEC ไม่มีประธานกรรมการบริษัทซึ่งทำหน้าที่เรียกประชุมคณะกรรมการบริษัทตามกฎหมาย

(2) กรรมการบริษัทส่วนใหญ่ยังมีประเด็นด้านกฎหมาย ว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการบริษัทได้หรือไม่  และแม้ว่า IFEC ได้ใช้สิทธิตามกฎหมาย โดยขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมการ แต่มีผู้ถือหุ้นของ IFEC คัดค้าน จึงทำให้ IFEC ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ประกอบกับยังไม่ปรากฏว่ากรรมการ IFEC ได้หาวิธีการอื่นในการแก้ไขปัญหา

โดย ก.ล.ต. เห็นว่า กรรมการ IFEC ควรรีบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้น โดยทางเลือกหนึ่งที่สามารถกระทำได้ คือ การดำเนินการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีโอกาสเสนอชื่อและเลือกตั้งบุคคลที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เห็นว่ามีความเหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการ ภายใต้ขั้นตอนและวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ในการนี้ ก.ล.ต. จึงอาศัยอำนาจมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ให้กรรมการ IFEC และบุคคลที่ IFEC เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเป็นกรรมการ ชี้แจงเป็นรายบุคคลว่าจะดำเนินการแก้ไขเรื่องดังกล่าวอย่างไร และให้เปิดเผยคำชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ หากกรรมการ IFEC และบุคคลดังกล่าวไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว อาจถูกพิจารณาได้ว่า ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ และเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว

สำหรับกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับเงินลงทุนของ IFEC ในโครงการพลังงานทดแทนและเรื่องร้องเรียนอื่นๆ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำของบุคคลใดที่เกี่ยวข้องเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ  ก.ล.ต. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

Back to top button