GL มิทซึจิในหลุมดำ

มีคนพยายามอธิบายมากกว่าหลายครั้งว่า การที่นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ออกมาประกาศก้องเมื่อต้นปี 2560 ว่า “ผมไม่ใช่ยากูซ่า”.... ตามประสา “กินปูนร้อนท้อง” ทั้งที่ยังไม่มีใครกล่าวหาเลย....ถูกต้องแล้ว เพราะที่จริง เขาเป็น “โซไกยะ” (เจ้าพ่อตลาดหุ้น) ต่างหาก


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

มีคนพยายามอธิบายมากกว่าหลายครั้งว่า การที่นายมิทซึจิ โคโนชิตะ ออกมาประกาศก้องเมื่อต้นปี 2560 ว่า “ผมไม่ใช่ยากูซ่า”… ตามประสา “กินปูนร้อนท้อง” ทั้งที่ยังไม่มีใครกล่าวหาเลย…ถูกต้องแล้ว เพราะที่จริง เขาเป็น “โซไกยะ” (เจ้าพ่อตลาดหุ้น) ต่างหาก

มิทซึจิ จะเป็นใคร? มีฐานะอะไร? ….ยามนี้ไม่ใช่ประเด็น… เพราะฐานะปัจจุบันล่าสุดในปีนี้ของอดีตประธานกรรมการ และผู้มีอำนาจเต็ม บริษัทสินเชื่อมอเตอร์ไซค์แสนกล บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL คนนี้…คือ แพะรับบาป ที่รอขึ้นแท่นบูชายัญ

ด้านหนึ่งเป็นแพะในข้อกฎหมาย ถูกกลุ่ม J Trust (ซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้รายใหญ่ และหุ้นส่วนสำคัญ) ฟ้องทั้งในศาลไทยและสิงคโปร์ เพราะปัญหา “น้ำผึ้งขม”… โดยล่าสุดวานนี้ขึ้นศาลล้มละลายกลางนัดแรกไปหมาดๆ กรณีฟ้องล้มละลาย

ส่วนในด้านบัญชี ก็เป็นแพะที่ถูกผู้สอบบัญชีจับขึงพืด ตามที่ระบุในหมายเหตุประกอบงบการเงินงวดสิ้นปี 2560 ที่เพิ่งผ่านไป…..ซึ่ง GL รายงานตัวเลขขาดทุนสุทธิ 1,818.71 ล้านบาทจากการตั้งสำรองทั้งหนี้ในสิงคโปร์ และไซปรัส กับการลงทุนที่มีตัวเลขเสื่อมค่าลงในศรีลังกา เป็นผลให้กำไรที่ทำสามปี (2557-2559) กว่า 1,700 ล้านบาท หายเหี้ยน ปรากฏเป็นตัวเลขขาดทุนสะสม 33.85 ล้านบาท หรือ ขาดทุนสะสมบวกตั้งสำรอง รวม 326.62 ล้านบาท และมาร์เก็ตแค็ปลดจากสิ้นปี 2559 ที่มากถึง 8.7 หมื่นล้านบาท เหลือแค่ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา 1.14 หมื่นล้านบาทเศษเท่านั้

งบการเงินงวดสิ้นปี 2560 นี้ มีที่น่าสังเกตตรงที่ ได้มีการบันทึก “ผลขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมที่ศรีลังกา (CCF)” ที่ทุ่มเงินไปซื้อหุ้น 29.99% เมื่อปลายปี 2559 ราคาสูงกว่าราคาตลาดขณะนั้น 71% ด้วยเงิน 2,462 ล้านบาท แต่ราคาล่าสุดปลายปี 2560 ลดลง ทำให้มูลค่าเงินลงทุนเหลือเพียง 1,391 ล้านบาท…ทำให้มีการตั้งสำรองของผลการขาดทุนเอาไว้เบาะๆ แค่ 582 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ ผู้สอบบัญชีระบุว่า “…ยังคงต้องได้รับการประเมินในอนาคตว่าจะต้องการสำรองผลขาดทุนเพิ่มเติมหรือไม่..”

(ไม่นับกรณีถูก ก.ล.ต.ไทยกล่าวหา และสั่งแก้ไขงบการเงินที่ยังค้างคา ที่เป็นอีกเรื่องแยกออกไป)

ที่บอกว่าถูกขึงพืดเพราะ ยอดหนี้ของสิงคโปร์และไซปรัสที่คงค้างนั้น….ผู้สอบบัญชีแห่งสำนัก EY นายโสภณ เพิ่มศิริวัลลภ (เจ้าเก่า) ระบุว่า กลายเป็นหนี้ที่มิทซึจิ ต้องรับชดใช้ …(อ้าว ไหงเป็นซะยังงั้น?)…อ่วมอรทัยแน่นอน ถ้าต้องชำระจริง (ไม่ว่าจะเป็นยากูซ่า หรือ โซไกยะ จริงหรือไม่ก็ตาม)

ในรายการหลังนี้ มีเรื่องให้ “แฉ” กันต่อเนื่องอีกมากมาย เป็นกรณีศึกษา

รายงานหมายเหตุประกอบงบการเงินยาว 19 หน้าของงบงวดสิ้นปี 2560 ระบุว่า…การที่ GL ยังไม่ได้ทำการแก้ไขงบการเงินตามคำสั่งของ ก.ล.ต. ลงวันที่ 16 มกราคม 2561 (และมีผลให้ นายแพทริค โทมัส ฟิชเชอร์ หนึ่งในกรรมการ GL ต้องรีบลาออกตาม เพราะมีเอี่ยวนั่งเป็นกรรมการใน CCF ที่ GL ซื้อกิจการเข้ามาบางส่วนด้วย)…แม้ผู้สอบบัญชีจะสั่งการให้ GL ตั้งสำรองเผื่อขาดทุนสำหรับเงินกู้ 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐเต็มจำนวนแล้วโดยตัดจากกำไรสิ้นงวดวันที่ 30 กันยายน 2560…ทำให้จำต้อง “แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขต่องบการเงิน” เนื่องจากยังมี “ข้อจำกัดโดยสถานการณ์ที่รอการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ…และบัญชีลูกหนี้ที่เกี่ยวข้องกับอดีตผู้บริหารอีก 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ…”

ความซ่อนเงื่อนของ GL นั้น ถูกผู้สอบบัญชีระบุว่า เกิดจาก “…บริษัทได้ดำเนินการนอกธุรกิจหลัก (ธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์) โดยให้เงินแก่ผู้กู้ 2 กลุ่มในจำนวนเงินที่เป็นสาระสำคัญสูงมาก”….โดยที่ผู้กู้ในขณะนั้นยังเป็นผู้ถือหุ้นของ GL ด้วย และนำหุ้นสามัญของ GL มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันร่วมกับหลักทรัพย์อื่น

การแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขต่องบการเงินสิ้นงวดปี 2560 ของผู้สอบบัญชี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นการเปลี่ยนจาก “การรับรองอย่างไม่มีเงื่อนไขต่องบการเงิน แต่มีการเปิดเผยข้อมูลการให้กู้ที่ผิดปกติ” ในงวดสิ้นปี 2559 ที่ถูก “เพิกถอนไป” เป็น “…การไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน…” เมื่อสิ้นงวดไตรมาสสาม 2560 หลังจากที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษนายมิทซึจิ ในเรื่องการทุจริต เข้าข่ายธุรกรรมอำพราง ยักยอก และลงบัญชีเป็นเท็จ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2560 และกลับมาเปลี่ยนเป็นการรับรองงบการเงินแบบมีเงื่อนไข ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ “ขึ้นอยู่กับการจะได้รับผลเสียหายจากอดีตผู้บริหาร และจากสินทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันต่อ (เงินที่แสดงไว้เสมือนเป็นเงินให้กู้ยืม)”….เป็นการปรับยืดหยุ่นตามสถานการณ์

โดยเฉพาะคำว่า “เงินที่แสดงไว้เสมือนเป็นเงินกู้ยืม”…บอกชัดว่า ผู้สอบบัญชี คิดไปทางเดียวกับ ก.ล.ต.ว่า เงินกู้สิงคโปร์ และไซปรัสของ GL นั้น น่าจะเป็น “ธุรกรรมอำพรางและยักยอก”…เพียงแต่ใช้ภาษานิ่มนวลตามมารยาทและจรรยาบรรณเท่านั้นเอง

สาระสำคัญที่ผู้สอบบัญชีระบุว่าต้องรับรองงบการเงินแบบมีเงื่อนไขอยู่ที่ความไม่ชัดเจนต่อไปนี้คือ

  • การตั้งสำรองเผื่อขาดทุน 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้กำไรสุทธิปี 2560 เปลี่ยนเป็นขาดทุนมากจนกำไรสะสมติดลบ มีข้อสมมติฐานว่า ผลเสียหายจะไม่ได้รับกลับคืนมาจากสินทรัพย์ค้ำประกันที่อยู่นอกประเทศไทย และจากเงินที่ถูกยักยอกโดยผู้บริหาร โดยที่ยอมรับว่า “…ไม่สามารถสรุปความหมายสะสมของสำรองเผื่อขาดทุน…” เพราะขึ้นอยู่กับความพยายามของฝ่ายบริหารชุดปัจจุบัน “ที่ยังเชื่อมโยงกับอดีตผู้บริหาร” ในการเรียกคืนเงินที่ถูกทุจริตไป
  • แม้ว่าเงินให้กู้ยืมของ GL ให้กลุ่มลูกหนี้สิงคโปร์และไซปรัส มีค้ำประกันโดยสินทรัพย์ (ไม่นับหุ้นของ GL ที่ถูกถอนออกจากการเป็นหลักประกันไปแล้ว) จะยังมีการประเมินโดยฝ่ายบริหารว่า มีมูลค่าเกินกว่ายอดหนี้คงค้าง แต่ผู้สอบบัญชีก็ระบุว่า “…ยังไม่พบว่าบริษัทสามารถเรียกเงินคืนได้” หลังจากวันที่ 16 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา ถือว่ามีโอกาสได้รับชดเชยผลการขาดทุนต่ำ
  • ที่สำคัญ นายมิทซึจิ ที่เป็นอดีตผู้บริหารของ GL ที่ถูกกล่าวโทษ ยังคงนั่งเป็นกรรมการคนหนึ่งในบริษัทย่อยของ GL (หมายถึง GLH) และบริษัทย่อยของ GL ในต่างประเทศอื่นๆ ด้วย เท่ากับนายมิทซึจิ ยังมีอำนาจในการควบคุม บริษัทย่อยของ GL อยู่ต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง
  • GL ยังไม่ได้แก้ไขงบการเงินในอดีต ตามคำสั่งลงวันที่ 16 มกราคม 2561 ของ ก.ล.ต.
  • ผู้สอบบัญชีได้ทำการจัดประเภทบัญชีใหม่จากเดิมที่ระบุว่า “…เงินให้กู้ยืมกับกลุ่มลูกหนี้ไซปรัสและสิงคโปร์…”เปลี่ยนเป็น “…เงินรอเรียกคืนจากอดีตประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร…“(เป็นคนอื่นไม่ได้ นอกจากนายมิทซึจิเท่านั้น) โดยอาศัยข้อมูลหลักจากคำกล่าวโทษของ ก.ล.ต.ต่อนายมิทซึจิ …โอนย้ายหนี้ที่ต้องทวงคืนจากลูกหนี้ (ไซปรัสและสิงคโปร์) และตีกลับรายการที่เคย “แสดงว่า” เป็นดอกเบี้ยรับจากเงินให้กู้ยืมกับลูกหนี้ทั้ง 2 ราย ….มาเป็นหนี้ที่ต้องทวงคืนจากนายมิตสึจิเต็มๆ เพียงที่เดียว
  • เหตุการณ์ภายหลังคำสั่ง เดือนมกราคม 2561 ของ ก.ล.ต. J Trust ซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้รายใหญ่ (มูลค่ามากกว่าเกณฑ์ 30% ของแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของ GL โดยมียอดคงค้าง 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6,000 ล้านบาท) ได้ส่งจดหมายขอยกเลิกสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพ และเรียกเงินคืนทั้งหมด รวมทั้งฟ้องร้องต่อศาลให้จ่ายเงินคืนและเรียกค่าเสียหายทั้งต่อ GL ในไทยและบริษัทย่อย (GLH) ในสิงคโปร์ แม้ศาลทั้ง 2 ประเทศจะยกคำฟ้องทั้งหมดก็ตาม
  • เงินลงทุนใน BG Microfinance Myanmar Co. ที่ซื้อต่อมาจากบริษัทร่วมในศรีลังกา (CCF) ยังอยู่ในระหว่างหารวัดมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตนเสียใหม่ภายในไตรมาสแรกของปีนี้

ทั้งหมดนี้ เป็นแค่ย่นย่อเท่านั้น ยังมีรายละเอียดอีกมาก ที่สามารถหาอ่านได้ในเอกสารผู้สอบบัญชีในหมายเหตุท้ายงบการเงิน GL แต่ที่ถือเป็นหมัดเด็ดส่งท้ายแบบทิ้งทวนอยู่ในประโยคท้ายสุดของรายงานที่ว่า “…ข้าพเจ้าได้อธิบายเรื่องเหล่านี้ไว้ในรายงานของผู้สอบบัญชี เว้นแต่กฎหมายหรือข้อบังคับห้ามไม่ให้เปิดเผยเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณะ หรือในสถานการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้น ข้าพเจ้าพิจารณาว่าไม่ควรสื่อสารเรื่องดังกล่าวในรายงานของข้าพเจ้า เพราะการกระทำดังกล่าว สามารถคาดการณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลว่า จะมีผลกระทบในทางลบมากกว่าผลประโยชน์ที่ผู้มีส่วนได้เสียสาธารณะจะได้จากการสื่อสารดังกล่าว…”

คำถามคือ เรื่องที่ไม่ควรสื่อสารดังกล่าว มันชวนให้ขนพองสยองเกล้าแค่ไหน ถึงทำให้ผู้สอบบัญชีต้องเปรยออกมาเช่นนี้…

ใครที่อ่านและถือหุ้น GL …หากไม่มีอาการขนแขนสแตนด์อัพ คงต้องเช็กประสาทกันใหม่ได้เลย

อิ อิ อิ

Back to top button