‘สถาบัน’ มอง BEAUTY

บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY เป็นหุ้นอีกบริษัทที่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนสถาบันค่อนข้างมาก


ลูบคมตลาดทุน: ธนะชัย ณ นคร

บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY เป็นหุ้นอีกบริษัทที่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนสถาบันค่อนข้างมาก

นักลงทุนสถาบันที่ว่านี้มีทั้งบริษัทประกันชีวิต สถาบันการเงิน และกองทุนต่าง ๆ

นักลงทุนสถาบันส่วนใหญ่จะได้หุ้นมาตอนที่ขายไอพีโอเมื่อปี 2555

ราคาที่ได้มาเท่ากับ 8.00 บาท พาร์ 1.00 บาท

ต่อมาบิวตี้ฯ ได้แตกพาร์จาก 1.00 บาท เป็น 0.10 บาท

ช่วงเข้าซื้อขายในตลาดหุ้น

นักลงทุนสถาบัน (รวมกองทุน) ค่อนข้างมีความมั่นใจในธุรกิจของบิวตี้ฯ และทิศทางธุรกิจความงาม

นักวิเคราะห์ถึงกับมีการกล่าวกันว่า หากผู้หญิงไม่หยุดสวย ราคาหุ้น (บิวตี้ฯ) ก็ไม่หยุดวิ่ง

ผลประกอบการของบิวตี้ฯ เติบโตมาเป็นลำดับ เช่น กำไรสุทธิในปี 2557 จำนวน 301 ล้านบาท และเพิ่มต่อเนื่องมาทุกปี กระทั่งปี 2560 มีกำไรเพิ่มเป็น 1,229 ล้านบาท

ส่วนไตรมาส 1/2561 มีกำไรสุทธิ 282 ล้านบาท

บิวตี้ฯ ยังมีตัวเลข ROE ที่น่าสนใจ หรืออยู่ในระดับสูง 74.50% (Q1/2561)

ที่ผ่านมาบิวตี้ฯ จ่ายเงินปันผลทุกปี (แม้ Dividend yield จะไม่สูงนัก) เฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง

หุ้นบิวตี้ฯ ยังได้เข้าคำนวณในดัชนี SET50 ด้วย ยิ่งทำให้นักลงทุนสถาบันปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนอีก

ราคาหุ้นบิวตี้ฯ วิ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากราคาต่ำกว่า 10 บาท ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2560 และพุ่งมายืนเหนือกว่า 20 บาท ในช่วงปลายปีเดียวกัน

ก่อนที่ราคาหุ้นจะค่อย ๆ ปรับลง ท่ามกลางข่าวที่ว่า กลุ่มไกรภูเบศ ขายหุ้นออกมา

และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

การขายหุ้นของกลุ่มตระกูลที่เป็น “ผู้ก่อตั้ง” หรือ Founder ทำให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันต้องมานั่งจับเข่าคุยกันเพื่อหาสาเหตุ และ “ข้อดี” และ “ข้อเสีย”

แต่ไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า Founder ถือหุ้นจำนวนมาก จะเป็นผลดีต่อบริษัทเสมอไป

เพราะสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าเรื่องข้างต้น คือ Commitment ที่ผู้บริหารมีให้กับนักลงทุน, “ความซื่อสัตย์” ต่อลูกค้า และ Stakeholder

และนี่คือสิ่งที่นักลงทุนสถาบัน และรายย่อยต้องการ

ผู้จัดการบางกองทุนที่ถือหุ้นในบิวตี้ฯ บอกว่า การตอบคำถามของผู้บริหารในการแถลงข่าวล่าสุดนั้น

สร้างความผิดหวังให้กับเขา เพราะหลายคำตอบออกมาฟังแล้วกลุ่มผู้ถือหุ้นรู้สึกไม่ดี

แต่นักลงทุนสถาบันบางส่วนก็มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด ต้องมองกันยาว ๆ และใช้เวลา เพราะหลายปีที่ผ่านมา ผู้บริหารสามารถ Deliver ผลการดำเนินงานตามที่สัญญาไว้ได้ทุกปี

ไม่เคยทำผิดกฎของตลาดหลักทรัพย์ฯ

และตัวสินค้าเองก็ไม่เคยถูกร้องเรียนจากผู้บริโภค

ส่วนผลประกอบการล่าสุดที่อ่อนแอนั้น ก็ต้องมาดูว่าเป็น “เพียงชั่วคราว” หรือเป็นปัญหา “เชิงโครงสร้าง”

เพราะตัวเลขผลประกอบการดังกล่าว เป็นเพียงผลประกอบการไตรมาสเดียว และในช่วงเวลาเดียวกัน ผลการดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีกหลายแห่งลดลง

ดังนั้น ต้องรอดูผลการดำเนินงานในไตรมาสถัดไป

พร้อมกับเทียบกับธุรกิจในกลุ่มเดียวกันหรือธุรกิจในหมวดค้าปลีกอื่น ๆ เพื่อวัดผลกระทบที่แท้จริง

เมื่อถามว่า มีแนวโน้มที่นักลงทุนสถาบันจะ “ปรับพอร์ต” หรือไม่

คำตอบคือ การจะปรับพอร์ตลงทุนของนักลงทุนสถาบัน สามารถเกิดขึ้นได้กับหุ้นทุกตัว

ประด็นที่นำมาพิจารณาการปรับพอร์ต มาจากปัจจัยหลายด้าน

ไม่ว่าจะเป็น Valuation

ทิศทางธุรกิจ ธรรมาภิบาล ของบริษัทที่มีอยู่ในพอร์ต

หากผลที่เกิดขึ้นจริง “แตกต่าง” จากที่คาดการณ์ไว้มาก

ก็ต้องปรับกลยุทธ์การลงทุน

Back to top button