ทีวีดิจิทัลร่วง-ทีวีช้อปปิ้งรุ่ง.!?

ช่วงที่ “ทีวีดิจิทัล” กำลังดิ้นหนีตายกันสุดฤทธิ์ แต่ “ทีวีช้อปปิ้ง” กลับเฟื่องฟูอย่างต่อเนื่อง..เป็นความเหมือนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง..!? เอาเป็นว่าตอนนี้เปิดไปช่องไหน เป็นต้องเจอรายการขายสินค้า ประเภท TV Shopping แทรกซึมอยู่ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ในช่องทีวีดิจิทัล แถมมีสปอตโฆษณาแทรกตามรายการทีวีทั่วไปอีกด้วย


สำนักข่าวรัชดา

ช่วงที่ “ทีวีดิจิทัล” กำลังดิ้นหนีตายกันสุดฤทธิ์ แต่ “ทีวีช้อปปิ้ง” กลับเฟื่องฟูอย่างต่อเนื่อง..เป็นความเหมือนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง..!? เอาเป็นว่าตอนนี้เปิดไปช่องไหน เป็นต้องเจอรายการขายสินค้า ประเภท TV Shopping  แทรกซึมอยู่ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ในช่องทีวีดิจิทัล แถมมีสปอตโฆษณาแทรกตามรายการทีวีทั่วไปอีกด้วย

นั่นสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจ “ทีวีช้อปปิ้ง” มาอย่างต่อเนื่อง รอบหลายปีที่ผ่านมา..!??

ที่เห็นตัวเลขอย่างรูปธรรมคือผลประกอบการบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ที่ปรับโมเดลธุรกิจหันมารุกตลาด TV Shopping ด้วยกลุ่มธุรกิจสุขภาพความงามและพาณิชย์ ให้น้ำหนักและความสำคัญมากกว่าธุรกิจสื่อ จนยอดขายสินค้ากลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้น ปีที่ผ่านมามียอดขาย 1,389.18 ล้านบาท ส่วนปี 2561 ตั้งเป้าเติบโต 150% หรือยอดขาย 3,500 ล้านบาท คิดเป็น 65% ของรายได้รวมประมาณ 5,800 ล้านบาท

ด้วยการนำช่วงเวลาในทีวีดิจิทัลที่มีอยู่แล้วมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เข้าถึงผู้บริโภค และไลฟ์สไตล์การช้อปปิ้งที่ไม่ต้องยึดติดช่องทางค้าปลีกแบบเดิม

เช่นเดียวกับบริษัท ทีวีไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD เจ้าพ่อวงการ TV Shopping อวดตัวเลขผลการดำเนินงานช่วงครึ่งแรกปี 2561 กับรายได้รวม 1,823.89 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่ทำได้ 1,094.20 ล้านบาท ที่สำคัญ TVD กลับมาทำกำไรกว่า 12.71 ล้านบาท จากขาดทุนกว่า 44.49 ล้านบาท

มีการประเมินกันว่า ความสำเร็จของธุรกิจ “ทีวีช้อปปิ้ง” ยุคไร้ “จอร์จ-ซาร่า” นั่นคือกลยุทธ์  Targeting Marketing ด้วยการนำเสนอสินค้าและทำตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย  การแบ่งกลุ่มลูกค้าจะเป็นการแบ่งตามไลฟ์สไตล์ โดยใช้ระบบฐานข้อมูล (Database) เข้ามามากขึ้น

ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจ TV Shopping มีการปรับรูปแบบการนำเสนอใหม่ด้วยคอนเทนต์ของไทยเอง เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงและสนใจสินค้ามากขึ้น ด้วยวิธีการใช้พิธีกรคนไทยเข้ามาเล่าเรื่องให้ฟังง่าย ๆ รู้เรื่อง และชื่นชอบ

กรณีที่เห็นชัดสุดคือกรณี “กระทะโคเรียคิง” ที่ใช้ “วู้ดดี้” มาเล่าเรื่องราวและนำเสนอข้อมูลของผลิตภัณฑ์ จนสร้างกระแส “กระทะโคเรียคิง” ที่แม้แต่เด็ก ๆ ยังรู้จักกันเลย..การนำบุคคลมีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็นดารา ศิลปิน หรือคนดังแวดวงต่าง ๆ มาเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ และเกิดความสนใจจนคล้อยตาม

มองเชิงต้นทุน “ธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง” การที่มีทีวีดิจิทัลหลายช่อง ทำให้เกิดการต่อรองได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญอัตราค่าโฆษณาบางช่องถูกลงมาก ทีวีดิจิทัลบางค่าย ถึงขั้นต้องยอมหั่นอัตราค่าโฆษณาลง ชนิดที่ว่า “เอาเงินไว้ก่อน” ส่วนถูกแพงค่อยว่ากันอีกที เพราะขืนเล่นตัวเหมือนอดีต..ไม่พ้นต้องเสียโอกาสได้ทันที

จุดตรงนี้เอง..ที่ทำให้ “ธุรกิจทีวีดิจิทัล” รายได้ถดถอยอย่างเห็นได้ชัด ขัดแย้งกับ “ทีวีช้อปปิ้ง” ที่รายได้ มีอัตราการเติบโตชัดเจน ว่ากันว่าตลาด TV Shopping มีอัตราการเติบโตถึง 15% หรือ 13,500 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีมูลค่า 11,000 ล้านบาท ​

ดูผิวเผิน “ทีวีช้อปปิ้ง” จะเอื้อประโยชน์ต่อ “ทีวีดิจิทัล” แต่ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้ทีวีช้อปปิ้ง มีอำนาจต่อรองมากขึ้น ดูจากทุกวันนี้..ถ้าไม่มี “ทีวีช้อปปิ้ง” ก็แทบไม่เห็นโฆษณาตัวอื่น ๆ เลย..

..อิ อิ อิ..

Back to top button