GULF ควักเงิน 400 ลบ.เซ็น MOU ให้กฟผ.เป็นที่ปรึกษาวิศวกรรมโรงไฟฟ้าไอพีพี 2 โครงการ

GULF ควักเงิน 400 ลบ.เซ็น MOU ให้กฟผ.เป็นที่ปรึกษาวิศวกรรมโรงไฟฟ้าไอพีพี 2 โครงการ


นางพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) นั้น ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการให้ผู้มีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างและพัฒนาโรงไฟฟ้าเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ บริษัทมองว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีความเชี่ยวชาญในด้านดังกล่าวจึงได้ให้เข้ามาดูแลงานบริการที่ปรึกษาวิศวกรรมและก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 5,000 เมกะวัตต์ โดยมีการลงนามในสัญญางานบริการที่ปรึกษาวิศวกรรม (ภาคสนาม) มูลค่ารวม 400 ล้านบาท

โดยสัญญาที่กัลฟ์และกฟผ. ลงนามร่วมกันในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 สัญญา ประกอบไปด้วย 1. สัญญางานบริการที่ปรึกษาวิศวกรรม (ภาคสนาม) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า GSRC ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 2,500 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ดำเนินการโดยบริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด อายุสัญญาประมาณ 4 ปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 – เดือนตุลาคม 2565 และ 2.สัญญางานบริการที่ปรึกษาวิศวกรรม (ภาคสนาม) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า GPD ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 2,500 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ อำเภอปลวกแดง จังหวัด ระยอง ดำเนินการโดยบริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด อายุสัญญาราว 4 ปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 -เดือนตุลาคม 2567 ซึ่งทั้ง 2 บริษัทเป็นบริษัทย่อยของกัลฟ์

“การที่กัลฟ์เลือกกฟผ.เข้ามาเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าไอพีพี ทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากกฟผ.มีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรงอย่างฝ่ายก่อสร้างโรงไฟฟ้า และบุคลากรที่มีคุณภาพ การที่ได้ร่วมงานกับกฟผ.ทำให้มั่นใจได้ว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จตามกำหนด และได้โรงไฟฟ้ามีคุณภาพ ผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายที่กัลฟ์วางไว้” นางพรทิพา กล่าว

ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กัลฟ์ได้มอบความไว้วางใจให้กฟผ.มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการ เพื่อประโยชน์และความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกซึ่งมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตเพิ่มขึ้น จากนโยบายของภาครัฐตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับประเทศให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผ่านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งกฟผ.คาดว่าจะได้มีโอกาสร่วมพัฒนาโครงการอื่น ๆ กับกัลฟ์อีกในอนาคต

Back to top button