กนอ.สั่งปิดเตาหลอมเหล็ก TSTH หลังระเบิด พร้อมเร่งตรวจสอบ-ทำแผนป้องกันเกิดเหตุซ้ำ

กนอ.สั่งปิดเตาหลอมโรงงานเหล็ก TSTH ในนิคมฯ มาบตาพุด หลังเกิดเหตุระเบิดวานนี้ (6 ต.ค.) พร้อมเร่งตรวจสอบ-ทำแผนป้องกันเกิดเหตุซ้ำภายใน 15 วัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยความคืบหน้าเหตุระเบิดภายในโรงงานของ บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ทาทา สตีล (ประทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TSTH ประกอบกิจการผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตชนิดเหล็กเส้นกลม และเหล็กข้ออ้อย ประเภทมีเตาหลอม ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ว่า เบื้องต้น ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMCC) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ

โดยพบว่าเกิดจากอุบัติเหตุขณะอุ่นเตาหลอมเหล็ก จากปัญหาระบบเชื้อเพลิง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ภายในโรงงานดังกล่าว จำนวน 4 ราย นำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพ ระยอง ซึ่งขณะนี้ผู้บาดเจ็บพ้นขีดอันตรายแล้ว ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ได้เข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ กนอ.ได้อาศัยตามมาตรา 37 พระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2535 โดยสั่งให้บริษัทดังกล่าวหยุดกิจกรรมบริเวณเตาหลอมโดยทันที พร้อมทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบวิเคราะห์หาสาเหตุของการเกิดระเบิดดังกล่าว และจัดทำมาตรการด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ โดยบริษัทจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ และต้องแจ้งให้ กนอ.ทราบ ภายในระยะเวลา 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้ง พร้อมทั้งเสนอความคืบหน้าให้กับสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดต่อไป

อนึ่ง วานนี้ (6 ต.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ Chinnapal Arunratchatatavee ได้โพสต์ข้อความว่า “โรงงานเหล็กแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระเบิด! เจ็บ 2-3 คนนำส่งโรงพยาบาล” โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากส่วนใหญ่แทบไม่ทราบว่าเกิดอะไร และสงสัยว่าทำไมเรื่องถึงเงียบเชียบ

ขณะที่วันนี้ (7 ต.ค.) ได้มีคลิปภาพเหตุการณ์โรงเหล็กระเบิด ในเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยคลิปดังกล่าวชาวบ้านในชุมชนมาบตาพุด เป็นผู้บันทึกภาพขณะเกิดเหตุเอาไว้ได้

ด้าน เทศบาลเมืองมาบตาพุด ได้ออกมาชี้แจงในกลุ่มแชทของคนในชุมชนมาบตาพุดว่า เหตุโรงงานระเบิดไม่ใช่ว่าทางเทศบาลไม่รู้ ขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบตั้งแต่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้แจ้งเพราะยังไม่ถึงระดับการจัดการของท้องถิ่น ระดับของเหตุมันแยกตามแผนฉุกเฉินของแต่ละหน่วยงาน

Back to top button