กองทุน… เจ้า(มือ)ตัวจริง

ตลาดหุ้นจะบวกหรือลบ ตอนนี้ต้องขึ้นอยู่กับ “แรงซื้อ” และ “แรงขาย” ของนักลงทุนสถาบันประเภท “กองทุน”


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ตลาดหุ้นจะบวกหรือลบ ตอนนี้ต้องขึ้นอยู่กับ “แรงซื้อ” และ “แรงขาย” ของนักลงทุนสถาบันประเภท “กองทุน”

อย่างเมื่อวานนี้ ดัชนีเคลื่อนไหวในแดนบวกตลอดทั้งวัน ทำให้คาดการณ์ได้เลยว่า กองทุนซื้อต่ออีกวันอย่างแน่นอน

และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

เพราะเมื่อปิดตลาด ดัชนีบวก 24.90 จุด (1,721.82 จุด) กองทุนซื้อสุทธิ 4,701 ล้านบาท

ส่วนวันก่อนหน้านี้ที่ดัชนีปิดบวกเล็กน้อย 0.70 จุด กองทุนก็ซื้อสุทธิเช่นกันกว่า 2,725 ล้านบาท

แล้วเมื่อวันจันทร์ (8 ต.ค.) ที่เกือบ ๆ จะเป็นแบล็กมันเดย์ ดัชนีร่วงลงกว่า 24.30 จุดล่ะ

วันนั้นกองทุนขายสุทธิออกมากว่า 3,061 ล้านบาท

หรือย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดลบเกือบทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์ 1 ต.ค.) ปรากฏว่ากองทุนขายสุทธิตั้งแต่วันที่ 1–8 ตุลาคม หรือ 6 วันทำการติดต่อกัน กว่า 10,002 ล้านบาท

และมีผลทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลง 64.25 จุด จนหลุดระดับ 1,700 จุด

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม บรรดานักวิเคราะห์จากโบรกฯ เกือบทุกสำนักต่างฟันธงแบบตรง ๆ เลยว่า หุ้นไทยร่วงลงต่อแน่นอน

พร้อมกับให้แนวรับสำคัญไว้ที่ระดับ 1,680–1,685 จุด

ทว่า บรรดากองทุน “หักปากกาเซียน” อีกครั้ง หลังจากเข้ามาเก็บหุ้นที่ตัวเองทิ้งมาหลายวันก่อนหน้านี้เข้าพอร์ต และทำให้ดัชนีปิดบวก (0.70) แบบว่าเหวอกันไปทั้งบาง

แม้ดัชนีจะเริ่มดีดกลับมา แต่ก็ยังมีการสงสัยว่า ทำไมกองทุนขายติดต่อกันแบบนั้นล่ะ…?

แล้วจะกลับมาขายอีกครั้งหรือเปล่า

ประเด็นนี้เท่าที่ตรวจสอบ และได้ข้อมูลมาถึงสาเหตุที่กองทุนขายมีอยู่ 3 สาเหตุ

เริ่มจาก 1.ปรับพอร์ต ด้วยการขายหุ้นที่มีกำไรแล้วออกมา และมาถือเงินสด เพื่อนำไปซื้อหุ้น IPO ที่กำลังเข้าซื้อ-ขายในช่วงนี้อยู่หลายหลักทรัพย์ เช่น โอสถสภา (OSP), ร.พ.พระรามเก้า (PR9), บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC)

และกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์สฟันด์

2.ปรับพอร์ต หันมาถือเงินสด เพื่อลดความเสี่ยงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดล่าสุด (และกำลังปรับขึ้นอีกครั้งในปลายปีนี้) หลังฝ่ายวิจัยของกองทุนประเมินแล้วว่า นักลงทุนต่างชาติจะขายหุ้นไทยออกมาอีกแน่นอน จึงปรากฏว่า “กองทุน+ต่างชาติ” ร่วมถล่มหุ้น (อีกครั้ง) ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้

และ 3.เงินสดที่ได้จากการขายหุ้น และเหลือจากการซื้อหุ้นไอพีโอ ก็จะถือเพื่อรอไปสมทบกับเงินจากกองทุน LTF และ RMF ที่จะเข้ามาค่อนข้างมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน–ธันวาคม เพื่อซื้อหุ้นกลับอีกครั้ง

การปรับพอร์ตของกองทุนในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ว่ากันว่าเป็นการปรับแบบเล็ก ๆ เท่านั้นนะ

เพียงแต่ว่า เมื่อผสมกับแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่ยังขายต่อเนื่องและเป็นวันที่ 8 ติดต่อกัน และยังมีบล็อกเทรด, DW และโรบอตเทรดเข้ามาอีก

ผลออกมาก็อย่างที่เห็นกัน

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร บรรดากองทุนต่าง ๆ ก็ยังคงมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยอย่างมีนัยสำคัญ

จะซื้อจะขาย (พร้อม ๆ กัน) ทำตลาดหุ้นสั่นสะเทือนได้

นับจากต้นปี นักลงทุนสถาบันยังซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 136,485 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 96,345 ล้านบาท ส่วนกลุ่มต่างชาติขายสุทธิ 228,729 ล้านบาท

ส่วนบัญชีโบรกฯ ขายสุทธิ 4,101 ล้านบาท และส่วนใหญ่น่าจะเป็นการซื้อและขายหุ้น เวลาที่ บล.นั้น ๆ ออก Derivative warrant หรือ DW

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนรายใหญ่ ก็เคยบอกแบบเชิงบ่น ๆ ว่า ตลาดหุ้นไทยตอนนี้ ต้อง “สู้กับกองทุน”

ไม่มีใครรู้ว่ากองทุนจะเข้าและออกเมื่อไหร่

ตัวอย่างเช่น เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ที่โบรกฯ ต่างบอกว่า ดัชนีจะลงต่อ แนวรับ 1,680 จุด

บรรดารายย่อยขายหมูกันเพียบ หรือต้องขายตัดขาดทุนออกไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยง

แต่สำหรับกองทุนไม่รอให้ดัชนีร่วงไปขนาดนั้น และใช้โอกาสหรือสบช่องที่ทุกคนมองเป็นลบ พลิกกลับเข้าซื้อ และดันหุ้นขนาดใหญ่ และดันดัชนีขึ้นมาแล้ว 2 วัน

ส่วนวันนี้ยังไม่รู้ว่ากองทุนจะดันดัชนีไปในทิศทางใด

มองยากจริง ๆ

เคยบอกแล้วว่าตลาดหุ้นเป็นเรื่องของ zero sum game

หรือมีผู้ชนะและผู้แพ้

ขึ้นอยู่กับว่า เราจะเอาชนะ (เจ้ามือ) อย่างไร

Back to top button