คจร.เห็นชอบส่วนต่อขยายสายสีชมพู-เหลือง พร้อมเปิดเดินรถสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ5ธ.ค.

คจร.เห็นชอบส่วนต่อขยายสายสีชมพู-เหลือง พร้อมเปิดเดินรถสายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ5ธ.ค.


นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เผยผลประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2 ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึง แยกรัชโยธิน ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีแนวเส้นทางจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง (สายหลัก) บริเวณสถานีรัชดา

โดยแนวเส้นทางจะวิ่งไปตามแนวเกาะกลางถนนรัชดาภิเษก มีสถานีอยู่บริเวณหน้าอาคารจอดรถของสำนักงานศาลยุติธรรม และสถานีบริเวณสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน มีทางเดินเชื่อมยกระดับ (Skywalk) ไปยังสถานีพหลโยธิน 24 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีระยะทางรวมประมาณ 2.6 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุน รวมประมาณ 3,779 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ของ รฟม. ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับสถานีศรีรัช โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (สายหลัก) ก่อนจะวิ่งเข้าสู่เมืองทองธานี ไปตามซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานไปกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนรวมประมาณ 3,379 ล้านบาท

รวมถึงได้รับทราบผลการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. กว่า 57 กิโลเมตร และเส้นทางปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมกว่า 70 กิโลเมตร และมอบหมายกระทรวงคมนาคม โดย สนข. กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร หารือแนวทางในการพัฒนาพื้นที่และทางสัญจรเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป โดยมีเป้าหมาย และกรอบแนวคิดหลักในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ร่วมกันให้เกิดการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน คาดว่าดำเนินการก่อสร้างประมาณ 2-3 ปี

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง สมุทรปราการ ได้ข้อสรุปว่า ในเดือนตุลาคมนี้ ทาง กทม. รฟม. กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังจะมาหารือกันเพื่อจัดทำร่างเอ็มโอยูในเรื่องของการโอนหนี้ และรับภาระหนี้ ดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่า เรื่องของดอกเบี้ยจะพิจารณาตามความเป็นจริงได้ภายในเดือนมีนาคม และจะนำเสนอในที่ประชุม ครม.กลางเดือน พ.ย.นี้ หลังจากนั้นเมื่อผ่าน ครม.แล้ว จะมีการลงนามเอ็มโอยูในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ระหว่าง รฟม.กับกทม. และในวันที่ 5 ธ.ค.61 จะมีการเปิดเดินรถต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการแก้ไขปัญหาการเดินทางของประชาชนจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย คือ สายสีส้ม สายสีเหลือง และสายสีชมพู โดยกำหนดมาตรการเพื่อลดปริมาณการจราจรในเส้นทางการก่อสร้างรถไฟฟ้าและมีการปิดพื้นที่ผิวจราจร โดยมอบหมายให้จราจรกลาง เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ รวมกับ สน. และเร่งการก่อสร้างเพื่อคืนพื้นผิวจราจรให้ดีที่สุด รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือการเดินทางของประชาชนที่จำเป็นต้องสัญจรด้วยระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่โดยรอบเขตพื้นที่ดังกล่าว โดยให้ ขสมก. ได้เริ่มทดลองเดินรถโดยสารในเส้นทางปกติและทางด่วนควบคู่กัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเลี่ยงการจราจรติดขัดในช่วงการก่อสร้างรถไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมรับทราบโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบเบื้องต้นระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา TRAM แนวเส้นทางจากบ้านท่านุ่น จังหวัดพังงา ถึงบริเวณห้าแยกฉลอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวม 58.525 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการทั้งสิ้น 39,406.06 ล้านบาท,

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่  3 เส้นทางหลัก ประกอบด้วย สายสีแดงมีจำนวนสถานีทั้งหมด 12 สถานี ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 28,726.80 ล้านบาท สายสีน้ำเงินมีจำนวนสถานีทั้งหมด 13 สถานี ระยะทาง 10.47 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 30,399.82 ล้านบาท และสายสีเขียวมีจำนวนสถานีทั้งหมด 10 สถานี ระยะทาง 11.92 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุน 36,195.04 ล้านบาท รวมระยะทางทั้งหมด 34.93 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการทั้งสิ้น 95,321.66 ล้านบาท  โดยระบบหลักจะเป็นรถไฟฟ้ารางเบา TRAM

และโครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา เป็นระบบรถไฟฟ้า LRT ระบบหลักมี 3 เส้นทางหลัก ประกอบด้วย สายสีเขียว มีจำนวนสถานีทั้งหมด 18 สถานี ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 8,400 ล้านบาท สายสีส้ม มีจำนวนสถานีทั้งหมด 17 สถานี ระยะทาง 9.81 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 5,200 ล้านบาท และสายสีม่วง มีจำนวนสถานีทั้งหมด 9 สถานี ระยะทาง 7.14 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 4,800  ล้านบาท รวมระยะทาง 28.12 กิโลเมตร ส่วนต่อขยายมี 3 เส้นทาง ประกอบด้วย สีเขียว สีส้ม และสีม่วง รวมสถานีทั้งหมด 20 สถานี ระยะทางรวม 21.97 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง จำนวน 14,200 ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการทั้งสิ้น 32,600 ล้านบาท ซึ่ง รฟม. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ โดยมีสายสีเขียวเป็นโครงการนำร่อง ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างขั้นตอนการออกพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจ รฟม. ในการดำเนินโครงการในจังหวัดนครราชสีมา,

โดยโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่นและผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่ สนข.ได้ศึกษาไว้ และอนุญาตให้จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการโครงการตามแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองขอนแก่นดังกล่าว เฉพาะในเส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) มีจำนวนสถานีทั้งหมด 16 สถานี เป็นโครงสร้างยกระดับ 6 สถานี และระดับดิน 10 สถานี ระยะทาง 22.8 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและงานโยธา 26,963 ล้าน

ทั้งนี้ โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบผลการศึกษาโครงการดังกล่าว ตามที่ สนข.ได้ศึกษาแล้วเสร็จเมื่อเดือน มี.ค.61 และมอบ รฟม. รับไปดำเนินการตามขั้นตอนและสอดคล้องกับระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ เทคโนโลยีระบบขนส่งสาธารณะที่มีความเหมาะสมกับแนวเส้นทาง ประกอบด้วย 3 รูปแบบ ได้แก่ รถโดยสารขนาดปกติ (Regular Bus) รถโดยสารขนาดเล็ก (Micro Bus) และรถรางล้อยาง (Auto Tram) มีแผนการดำเนินงาน ดังนี้

– แผนระยะที่ 1 จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 80.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 3,206.57 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี พ.ศ.2563-2564 และเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2565

– แผนระยะที่ 2 จำนวน 2 เส้นทาง (รวมทั้งส่วนต่อขยายเส้นทางระยะที่ 1) รวม 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 30.1 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 911.42 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี พ.ศ.2572-2573 และเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2574

ทั้งนี้ ผลการศึกษาเสนอให้ดำเนินการตามแผนระยะที่ 1 เส้นทางสายสีแดง เป็นลำดับแรก ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบรถรางล้อยาง (Auto Tram) มีจำนวนสถานีทั้งหมด 15 สถานีระยะทาง 12.6 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 762.29 ล้านบาท แนวเส้นทางจากมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2-สถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1-วัดพระศรีรัตน มหาธาตุ-ศาลากลางจังหวัด-มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว)-หมู่บ้านพิษณุโลกเมืองใหม่

Back to top button