
KGEN ปรับแผนทบทวนดีลที่ดิน 240 ล้าน-เลิกธุรกิจ EV ยันลุยเพิ่มพอร์ตลงทุน OJMT
KGEN แจงตลาดหลักทรัพย์ ปมปรับดีลลงทุนที่ดิน 240 ล้านบาท หลังผลตอบแทนดีขึ้น พร้อมเบรกธุรกิจ EV ชั่วคราว เหตุคู่สัญญาผิดเงื่อนไข-ต้นทุนพุ่ง กระทบแผนเดิม ขณะที่การถือหุ้น OJMT เพิ่ม 40% เปลี่ยนสถานะเป็น "บริษัทร่วม" เหตุเสริมบทบาทเชิงกลยุทธ์
บริษัท คิง เจน จำกัด (มหาชน) หรือ KGEN แจ้งผ่าน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ชี้แจงข้อมูลตามคำขอของตลท. สอบถามโดยมีประเด็นหลัก 3 ส่วน ดังนี้ 1.) การวางเงินเพื่อรักษาสิทธิการซื้อที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการ KGEN ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการตัดสินใจในการเข้าซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และเงื่อนไขการซื้อขาย ดังนี้
จากการศึกษาครั้งที่ 1 บริษัทได้ยกเลิก MOU ลงทุนที่ดินเนื่องจากผลตอบแทนต่ำเดิมที บริษัท มนตรีทรานสปอร์ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MONTRI ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ KGEN มีความประสงค์จะพัฒนาที่ดินเพื่อเป็นจุดจอดรถยนต์เหตุผลมา พบว่า อัตราผลตอบแทน (IRR) เพียงประมาณ 4% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ และไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งคณะกรรมการบริษัทจึงมีมติให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (MOU) และเรียกคืนเงินมัดจำ
ต่อมาการศึกษาครั้งที่ 2 มีการปรับเปลี่ยนแผนเพื่อเพิ่มศักยภาพ KGEN เล็งเห็นว่าที่ดินดังกล่าวมีศักยภาพในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ เนื่องจากเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ มีด้านติดถนนหลักยาวประมาณ 80 เมตร พร้อมทั้งเจรจาต่อรองราคากับเจ้าของที่ดิน คือ บริษัท แซดแอส ปร๊อพเพอตี้ส์ จำกัด และ บริษัท สยาม สแตนดาร์ด เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งราคาซื้อขายที่ดินลดลง ไม่เกิน 420 ล้านบาท (อ้างอิงราคาประเมินเฉลี่ย 2 ราย) โดยหากราคาประเมินเฉลี่ยเกิน 425 ล้านบาท ผู้ซื้อสามารถยกเลิกได้
ขณะที่ รูปแบบการชำระค่าที่ดินมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยกำหนดให้ชำระเป็นเงินสดจำนวน 160 ล้านบาท ส่วนที่เหลือประมาณ 260 ล้านบาท ให้ชำระเป็นหุ้นเพิ่มทุนของ KGEN ที่ราคาตลาด ณ ขณะที่ทำรายการ ส่วนอัตราผลตอบแทน (IRR) เพิ่มขึ้นประมาณ 8% – 9% ซึ่งสูงกว่าการศึกษาครั้งแรกอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนแหล่งเงินทุนที่ใช้มาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และการออกหุ้นใหม่ของ KGEN เพื่อชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ
ด้วยเหตุผลนี้ การตัดสินใจดำเนินการต่อมาจากเงื่อนไขในการซื้อที่ดินมีความน่าสนใจมากขึ้น ทั้งในด้านราคาซื้อขายที่ลดลง และรูปแบบการชำระค่าที่ดินที่ไม่ต้องใช้เงินสดทั้งหมด
ส่วนสถานะปัจจุบัน KGEN อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมความเป็นไปได้ของการลงทุน และเจรจาเงื่อนไขการจัดซื้อที่ดิน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการบริษัทอีกครั้งเพื่อขออนุมัติการเข้าทำรายการ และจะต้องคำนวณขนาดรายการและปฏิบัติตามกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้องของ ตลท. และ ก.ล.ต.
โดยการเพิ่มทุนนั้น หากคณะกรรมการมีมติอนุมัติ บริษัทฯ จะต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการเพิ่มทุนเพื่อชำระค่าที่ดิน โดยจะดำเนินการหลังจากที่ได้เรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน Private Placement (“PP”) ที่ยังเหลืออีก 160 ล้านบาทเสร็จสิ้นก่อน (ซึ่ง ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2568 บริษัทฯ เพิ่งได้รับชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนเพิ่มเติม 240 ล้านบาท)
2.) การลงทุนใน บริษัท โอมาดา แอนด์ เจคู แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (OJMT) KGEN ได้ชี้แจงการเปลี่ยนแปลงสถานะการบันทึกเงินลงทุนใน OJMT ดังนี้ สถานะเดิม (ณ 31 ธ.ค. 67 และ 31 มี.ค. 68) บันทึกเป็นสินทรัพย์ทางการเงินแม้ บจก.คิงเจน ออโต้ (KGA) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย 100% มีมติเพิ่มทุนใน OJMT เป็นเงิน 230 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.35% ซึ่งเข้าข่ายบริษัทร่วม
แต่คณะกรรมการพิจารณาแล้วว่า คุณนวพร เกียรติขจรวงษ์ (CFO ของ KGEN) ซึ่งเป็นกรรมการใน OJMT ยังไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทางการเงินและร่วมตัดสินใจเรื่องสำคัญอื่นใด เช่น การแต่งตั้ง/ถอดถอนกรรมการ/ผู้บริหาร/บุคคลสำคัญภายใน OJMT
สถานะปัจจุบัน (หลัง 13 มิ.ย. 68) KGA ได้ดำเนินการเข้าถือหุ้นเพิ่มเติมใน OJMT เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว KGEN จะส่งบุคลากรเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการใน OJMT เพิ่มอีก 1 ท่าน รวมเป็น 2 ท่านจากกรรมการทั้งหมด 5 ท่าน
ทั้งนี้ การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นและการมีจำนวนกรรมการเพิ่มขึ้น ทำให้ฃ KGA บริษัทย่อยของ KGEN มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย รวมถึงร่วมตัดสินใจเรื่องสำคัญ ภายในบริษัท OJMT ได้อย่างเหมาะสมตามสัดส่วนการถือหุ้นที่มีอยู่
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการบริษัทจึงพิจารณาเปลี่ยนสถานะของ OJMT เป็น บริษัทร่วม และมาตรการกำกับดูแลคณะกรรมการบริษัทได้กำหนดให้ตัวแทนของ KGEN ที่ได้รับการแต่งตั้งใน OJMT นำเสนอรายงานสถานะทางการเงินและเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนใน OJMT ให้คณะกรรมการ KGEN ทราบทุกไตรมาส
3.) การยกเลิกสัญญาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของกลุ่มบริษัท (ธุรกิจโลจิสติกส์โดยใช้รถยนต์ไฟฟ้า) KGEN ได้ชี้แจงการยกเลิกสัญญาหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการโลจิสติกส์โดยใช้รถไฟฟ้า (EV) เนื่องมาจากคู่สัญญาผิดข้อตกลง
สาเหตุหลักมาจากผู้ให้เช่ารถไฟฟ้าผิดสัญญาเช่า เนื่องจากไม่จัดหารถทดแทนรถที่เข้ารับบริการบำรุงรักษา หรือ ซ่อมแซมและ “บริษัทฯ และ MONTRI ยังไม่สามารถใช้รถที่เช่าได้ตามวัตถุประสงค์ของสัญญาเนื่องจากรถที่เช่าใช้เวลาซ่อมแซมนานเกินสมควร เป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย”
สัญญาที่ถูกยกเลิก KGEN และ MONTRI ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับผู้ให้เช่าเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 บริษัทฯ กำลังรวบรวมค่าเสียหายและสงวนสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหาย เงินประกัน และค่าเช่าคืน รวมถึงสัญญาให้เช่าช่วงรถไฟฟ้า (EV) ระหว่าง KGEN กับ บริษัท วารุกะ888 จำกัด (บริษัทย่อย) ถูกยกเลิกตามการยกเลิกสัญญาเช่ารถหลัก
ขณะที่ สัญญาเช่าที่ดินสำหรับใช้เป็นจุดจอดรถและสถานีชาร์จไฟฟ้า KGEN ได้เช่าที่ดิน 4 แห่ง (แหลมฉบัง ศรีราชา บางเดื่อ และลำลูกกา) เพื่อใช้เป็นจุดจอดรถและสถานีชาร์จ EV เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์แล้ว บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าของที่ดินเพื่อบรรลุข้อตกลง
ส่วนสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้า KGEN ได้ทำสัญญากับ 2 บริษัท เพื่อใช้เป็นสถานีชาร์จไฟฟ้า 5 สถานี (แหลมฉบัง มาบตาพุด ศรีราชา บางเดื่อ และลำลูกกา) ถูกยกเลิกเช่นกัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ขายเพื่อบรรลุข้อตกลง
ผลกระทบและการบริหารจัดการ การยกเลิกสัญญาเหล่านี้เป็นการยกเลิกสัญญาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์โดยรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อ “ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มบริษัท” เนื่องจากผู้ให้เช่ารถผิดสัญญาทำให้บริษัทได้รับความเสียหายและต้นทุนการดำเนินงานสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ “จะยังคงมีนโยบายในการดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งโลจิสติกส์ต่อไป แต่ต้องพิจารณาและประเมินสถานการณ์ภาวะธุรกิจโลจิสติกส์โดยรวมด้วย หากสภาวะโดยรวมของธุรกิจยังไม่ปรับตัวดีขึ้น กลุ่มบริษัทฯ อาจพิจารณาชะลอการดำเนินธุรกิจดังกล่าว รวมถึงอาจจะพิจารณาเปลี่ยนประเภทรถที่จะนำมาใช้ในการให้บริการ รวมถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลกำไรสูงสุด