ดอกเบี้ยเฟดพลวัต2015

วันนี้ จะเริ่มการประชุมประจำเดือนมิถุนายนของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดเดอรัลรีเสิร์ฟ (เฟด) เป็นครั้งที่ 4 ของปี 2558 ซึ่งจะรู้ผลในวันพฤหัสฯ เช้าตามเวลาในไทย


 วันนี้ จะเริ่มการประชุมประจำเดือนมิถุนายนของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟดเดอรัลรีเสิร์ฟ (เฟด) เป็นครั้งที่ 4 ของปี 2558 ซึ่งจะรู้ผลในวันพฤหัสฯ เช้าตามเวลาในไทย

การประชุมนี้ ถูกจับตามมองจากสื่อและตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลก เพราะการตัดสินใจของเฟดมีผลสะเทือนค่อนข้างสูงกว่าองค์กรอื่นๆ ในโลกนี้ จากการที่เงินสกุลดอลลาร์มีการใช้เป็นเงินตราสากลของโลก และยังเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของทุนเก็งกำไรทั่วโลกด้วย

คำถามสำคัญของการประชุมรอบนี้คือ หลังจากที่เลื่อนการตัดสินใจ โดยอ้างถึงเหตุเปราะบางบางประการแล้ว เฟดจะตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่

หากมีการเปลี่ยนแปลงโลกการเงินจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะเฟดนั้น ไม่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์เมื่อ 7 ปีก่อน และทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 1% ยาวนานที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติสาสตร์

ความสำคัญของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด นอกจากจะบอกถึงมุมมองของเฟดเองเกี่ยวกับความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณให้ทุนเก็งกำไรทั่วโลกปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

ผลของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ทั่วโลก ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน ทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ นอกจากนั้น ยังส่งผลต่อการถอนตัวจากตลาดหุ้นเกิดใหม่เพื่อกลับไปยังสหรัฐเข้าซื้อตราสารหนี้ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นต่อไป

ด้านหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง นอกจากตลาดหุ้น และตลาดเก็งกำไรจะปั่นป่วนแล้ว ยังทำให้ดุลการค้าและชำระเงินของทุกประเทศทั่วโลกเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย

ความสำคัญเช่นนี้ จึงทำให้การขึ้นหรือไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดมีความสำคัญอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ครั้งนี้ แม้จะมีการคาดเดาล่วงหน้าว่า เฟดจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งการจ้างงาน ความเชื่อมั่น และตัวเลขการซื้อขายหรือลงทุน  แข็งแกร่งต่อเนื่อง แต่ยังโตช้ากว่าคาดตลาดเงินและตลาดทุนก็ยังคงรอคอยอย่างใจจดใจจ่อไปต่างๆ นานา เพื่อรับมือ

การรอคอยเพื่อกำหนดกลยุทธ์เก็งกำไรอย่างนี้ ไม่ได้เหมือนกับการรอคอยในละครเสียดสีเหนือจริงของวามูเอล เบ็กเก็ต เรื่อง คอยโกโดต์” ซึ่งลงเอยด้วยไม่มีโกโดต์เลยแม้แต่น้อย เพราะเป็นการรอคอยที่มีผลได้หรือเสียแอบแฝงอยู่ด้วย ทำนองเดียวกับคนซื้อสลากกินแบ่งหรือใต้ดินรอคอยการจับรางวัลทุก 2 สัปดาห์นั่นเอง

ครั้งนี้ นักวิเคราะห์ที่มีเหตุมีผลหลายสำนัก จะบอกว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม และหลีกเลี่ยงการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อใด จนกว่าจะมั่นใจในภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นแต่มีประเด็นย่อยที่ต้องจับตา ได้แก่

การเปิดเผยการคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐชุดใหม่ ที่จะช่วยบ่งชี้ถึงจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตเพื่อให้คนที่มีฉายาเรียกว่า ”นักอ่านริมฝีปากเฟด” ได้ทำการถอดรหัส เพราะว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังไม่แข็งแกร่งเต็มที่ และแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับเงินเฟ้อเป้าหมายของเฟดที่ 2% จากการลดลงของราคาพลังงาน

เฟดจะใช้ถ้อยคำที่ยืดหยุ่นมากน้อยแค่ไหน ในการผูกมัดตนเองเพื่อชี้ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เพราะยิ่งยืดหยุ่นมาก แสดงว่าเฟดต้องการเวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบหลายตลบถึงเงื่อนไขของเศรษฐกิจที่อาจเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถควบคุมได้หลายด้านแต่ถ้าใช้คำที่ยืดหยุ่นต่ำ แสดงว่าโอกาสที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม เป็นไปได้มาก

การพิจารณาของเฟดครั้งนี้ น่าจะเป็นเหมือนเดิม คือพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นหลัก ปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเสียหายของเศรษฐกิจชาติต่างๆ หรือตลาดอื่นๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว จะถูกถือเป็นเรื่องรองลงไป เพราะเฟดถือว่าภารกิจของตนเองต้องรับผิดชอบต่อสหรัฐเป็นหลัก ไม่อาจก้าวล่วงไปถึงอธิปไตยทางเศรษฐกิจเหนือชาติอื่นๆ

นั่นหมายความว่า ชาติต่างๆ หรือตลาดต่างๆ ต้องรับผิดชอบกันเอาเอง และหาทางปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ไม่เกี่ยวกับเฟด 

หากพิจารณาถึงรายละเอียดที่ระบุเพิ่มเติมก่อนหน้านี้โดยผู้ที่เป็นกรรมการของเฟดหลายคน ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ณ สิ้นปี 2558 จะอยู่ที่ 0.625% ความกังวลว่าเฟดจะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงมีลักษณะ ”มโนกันเอง” มากกว่า

การประเมินว่า เฟดจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วมากนัก เพราะไม่มีแรงกดดันรุนแรง น่าจะทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกสงบเยือกเย็นได้ระดับหนึ่ง ไม่ตื่นตระหนกรุนแรง

เพียงแต่ ความสงบของตลาดหุ้น ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นผลดีต่อตลาดตราสารหนี้ด้วย เพราะการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของทั่วโลก (รวมทั้งไทย) ที่ขยับขึ้นไปแล้ว เป็นการส่งสัญญาณล่วงหน้าถึงการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินในตลาดตราสารหนี้ ไม่ใช่ในตลาดหุ้น

เช้าวันพฤหัสบดีนี้ เราก็อาจจะได้เห็นศัพท์แสงแปลกใหม่ๆ จากนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ที่แถลงผลการประชุม  เพื่อส่งสัญญาณบางอย่างเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในระยะเวลาเกือบ 9 ปี  แต่ไม่มีสาระสำคัญรูปธรรมอะไร เพราะดูเหมือนเฉพาะหน้านี้ เรื่องของกรีซจะสำคัญกว่าเรื่องของเฟดชั่วขณะ

 

 

Back to top button