จับตาน้องใหม่ป้ายแดง PR9 เทรดวันแรกลุ้นยืนเหนือ 13 บาท

จับตาน้องใหม่ป้ายแดง PR9 เทรดวันแรกลุ้นยืนเหนือ 13 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (30 ต.ค.) บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) หรือ PR9 เข้าซื้อขายใน SET ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจการแพทย์ โดยมีจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนกับตลท. และหุ้นชำระแล้ว 780 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท คิดเป็นทุนชำระแล้ว 780 ล้าบาท หลังเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 180 ล้านหุ้น และมีจำนวนหุ้นสำหรับการจัดสรรส่วนเกิน จำนวน 20 ล้านหุ้น ราคาเสนอขาย IPO หุ้นละ 11.60 บาท

ทั้งนี้ PR9 ประกอบกิจการสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ในลักษณะโรงพยาบาลทั่วไป (General Hospital) ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลพระรามเก้า”

โดย นายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ กรรมการผู้อำนวยการ PR9 เปิดเผยว่า การนำหุ้นสามัญของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนสำหรับขยายการให้บริการอย่างต่อเนื่องจากแผนการก่อสร้างอาคารใหม่และการปรับปรุงอาคารโรงพยาบาลปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้มีความสามารถในการให้บริการรวมจำนวน 313 เตียง ภายในปี 2565 รวมถึงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการและกระบวนการทำงาน เพื่อก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลดิจิทัลและการเติบโตในระยะยาว

PR9 มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ กลุ่มคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ และครอบครัว ถือหุ้นรวม 39.50% UBS AG London 1.79% และกลุ่มครอบครัวภู่ประเสริฐ ถือหุ้นรวม 1.48% การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E ratio) ที่ 34.10 เท่า โดยคำนวณจากผลกำไรสุทธิ 4 ไตรมาสที่ผ่านมา (ไตรมาส 3 ปี 2560 ถึงไตรมาส 2 ปี 2561) หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.34 บาท ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิของบริษัทหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินสำรองตามที่กฎหมายกำหนด

ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า โรงพยาบาลพระราม 9 เปิดให้บริการทางการแพทย์มามากกว่า 26 ปี เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2535 โดยตั้งอยู่ในใจกลางเมืองใหม่ New CBD ที่ปัจจุบันมีความหนาแน่นของประชากรสูง มีจำนวนเตียงจดทะเบียนทั้งหมด 166 เตียง เปิดให้บริการแก่ผู้ป่วยใน หรือ IPD จำนวน 163 เตียง และห้องตรวจสำหรับผู้ป่วยนอก หรือ OPD รวม 114 ห้อง

โดยมี 2 สถาบันทางการแพทย์ที่สำคัญ ได้แก่ สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไตพระรามเก้าและสถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า โดยจุดเด่นของโรงพยาบาลอยู่ที่ ศูนย์เปลี่ยนไตที่มีชื่อเสียงและได้การรับรองจาก JCI โดยในปี 2559 โรงพยาบาลได้รับการรับรองมาตรฐาน CCPC เรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนไต

ส่วนสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าโรงพยาบาลเป็นผู้นำเรื่องไต คือ โรงพยาลบาลมีจำนวนผู้ป่วยไตที่ได้รับการปลูกถ่ายในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2543-2560 โรงพยาบาลอยู่ที่อันดับ 5 และในปี 2560 ก็ยังคงมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนไตเป็นอันดับที่ 5 มีจำนวน 738 และ 82 คนตามลำดับ ซึ่งอันดับ 1-4 เป็นโรงพยาบาลของรัฐ ได้แก่ รามาธิบดี ศิริราช ศรีนครินทร์ ขอนแก่น และ จุฬาลงกรณ์ นอกจากนี้นโยบายหนึ่งที่สำคัญของโรงพยาบาล คือ เน้นการให้บริการที่ค่าบริการสมเหตุสมผลและมีความคุ้มค่า

สำหรับกลุ่มผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท คือ กลุ่มคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ และครอบครัว มีสัดส่วนการถือครองหุ้น 51.18% และคาดว่าจะมีสัดส่วนหลังจาก IPO เป็น 38%-39%  ในขณะที่กลุ่มแพทย์ผู้ก่อตั้งและผู้ที่เกี่ยวข้อง 7 ราย เดิมมีสัดส่วนการถือหุ้น 4.8% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.2%-5.3% หลัง IPO ในขณะที่ผู้ถือหุ้นใหม่จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 21.5%-23.4% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

ขณะที่โครงสร้างรายได้ของโรงพยาบาล มากกว่าครึ่งมาจาก OPD แต่หากจะแบ่งตามประเภทของสถาบันการแพทย์และศูนย์การแพทย์ รายได้จากสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไตพระราม 9 มีสัดส่วน 13%-15% สถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระราม 9 มีสัดส่วน 12%-13% ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิกมีสัดส่วน 5% และศูนย์ศัลยกรรมมีสัดส่วน 10%-11% และอื่นๆ 56%-60% นอกจากนี้หากจะแยกตามประเภทของห้องพักผู้ป่วย รายได้จาก ICU/CCU ที่มีเพียง 24 ห้องแต่สามารถสร้างรายได้ 28%-30% ของรายได้รวม

ส่วนแนวโน้มการเติบโตในอนาคต โรงพยาบาลได้ก่อสร้างอาคารใหม่และปรับปรุงอาคารปัจจุบันเพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการที่สูงขึ้น โดยประเมินว่าในปี 2562 โรงพยาบาลจะมีห้องพักผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นจากอาคารแห่งเดิมเพิ่มขึ้นจาก 122 ห้อง เป็น 140 ห้อง และห้องพักจากอาคารใหม่มีเพิ่มขึ้น 59 ห้อง ในขณะที่ปี 2563 จะมีการเพิ่มห้อง ICC และ CCU จากเดิม 24 ห้องเพิ่มขึ้นเป็น 48 ห้อง ซึ่งในส่วนนี้เดิมเป็นรายได้ที่สำคัญของโรงพยาบาล ในขณะที่ปี 2565 จะมีการขยายจำนวนเตียงจดทะเบียนจาก 166 เตียงในปัจจุบัน เป็นประมาณ 313 เตียง โดยอัตราการเข้าใช้บริการของผู้ป่วยใน ตอนนี้อยู่ที่ระดับ 69.5% ในปีก่อน

ฐานะการเงินบริษัทดีและผลประกอบการเติบโต ปัจจุบันโรงพยาบาลไม่มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ย และการเติบโตของกำไรสุทธิของบริษัทฯ ใน ปี 2558 ปี 2559 และปี 2560 มีจำนวน 189.3 ล้านบาท 259.8 ล้านบาท และ 262.3 ล้านบาท ตามลำดับ หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย CAGR 17.7% ต่อปี ถือว่าเป็นการเติบโตที่ดี

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวรายหนึ่ง เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า ราคาหุ้น PR9 มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นแตะ 13.60 บาท จากราคา IPO ที่ 11.60 บาท โดยภาพรวมผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลพระรามเก้านั้นเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง

Back to top button