เดิมพันของ ทรัมป์ กับ สี

ตามกำหนดการอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะพบปะกันในเดือนนี้ เพื่อให้มีการบรรลุข้อตกลงทางการค้า หลังจากเสร็จสิ้นการเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับกลางและสูงของสหรัฐฯ และจีน ใน 3 สัปดาห์ก่อนหน้ากับสัปดาห์ที่แล้ว โดยไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ตามกำหนดการอย่างเป็นทางการ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะพบปะกันในเดือนนี้ เพื่อให้มีการบรรลุข้อตกลงทางการค้า หลังจากเสร็จสิ้นการเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับกลางและสูงของสหรัฐฯ และจีน ใน 3 สัปดาห์ก่อนหน้ากับสัปดาห์ที่แล้ว โดยไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

การประชุมระหว่าง ปธน.ทรัมป์ และ ปธน.สี จิ้นผิง ในเดือนนี้ ถือว่าเป็นเดิมพันที่มีความสำคัญต่อการเจรจาแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากหากทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าก่อนวันที่ 2 มี.ค. ปธน.ทรัมป์ ก็จะเดินหน้าเพิ่มการเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีน มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 25% จากเดิม 10% ในขณะนี้

มุมมองแบบโลกสวยคือ พบปะกันทั้งที ย่อมเกิดการ “หมูไป ไก่มา” บ้างเพื่อรักษาฟอร์ม แต่หากพิจารณาสาระของความขัดแย้งทางการค้าสหรัฐฯ-จีน ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและมิติทางความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ ถือว่าใครถอยคนนั้นอาจจะมีปัญหา เก้าอี้ทางอำนาจในประเทศอาจสั่นคลอนได้

ในทางยุทธศาสตร์ สหรัฐฯ ต้องทำให้ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นจีนจากการครองอำนาจนำด้านเทคโนโลยีทางการผลิตและทางทหารบรรลุผลให้ได้ โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงว่าต้นทุนในการสกัดกั้นครั้งนี้จะสูงเพียงใด (ทำนองเดียวกันกับหลักการทรูแมน หรือ Truman Doctrine ที่สหรัฐฯ ประกาศจะขัดขวางลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุกพื้นที่ ทุกสถานการณ์ โดยไม่คำนึงถึงต้นทุน และ Plaza Accord 1985 ที่สหรัฐฯ ขัดขวางการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น)

ผู้นำของสหรัฐฯ (ไม่เฉพาะตัวทรัมป์แค่นั้น) มีมุมมองว่า กฎระเบียบขององค์การการค้าโลก ณ ปัจจุบัน ภายใต้กรอบ “ฉันทามติวอชิงตัน” หลังจบสิ้นสงครามเย็น ไม่สามารถเข้ามาจัดการหาทางออกให้กับปัญหาสงครามการค้า ณ ขณะนี้ได้

ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ ในกรณีของเรื่องภายในประเทศ องค์การการค้าโลกไม่สามารถเข้าไปวางกฎเกณฑ์ในเรื่องบางเรื่องได้ โดยเฉพาะ 6 เรื่องของประเทศจีน ดังนี้

1) รัฐบาลจีนเข้าไปเป็นเจ้าของบริษัทโฮลดิ้งที่ทำการควบคุมธุรกิจด้านผลิตอุตสาหกรรมหลัก ๆ หลายอุตสาหกรรม

2) รัฐบาลจีนผ่านทาง Central Huijin Investment เป็นผู้ลงทุนที่สามารถควบคุมสถาบันการเงินหลักภายในประเทศจีนได้

3) National Development and Reform Commission (NDRC) หรือหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจของจีนมีอิทธิพลและสามารถควบคุมการดำเนินกิจการต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนได้อย่างกว้างขวาง

4) ภาคธุรกิจและภาครัฐมีสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น

5) รัฐบาลสามารถเข้าไปควบคุมการแต่งตั้งผู้บริหารและการบริหารงานของภาคเอกชนได้

6) ผู้บริหารเอกชนของบริษัทขนาดใหญ่จีนหลาย ๆ คนก็เป็นสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และมีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับรัฐบาล ทำให้สหรัฐฯ มองว่าการแข่งขันกับจีน คือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะไม่ใช่เอกชนแข่งกับเอกชน แต่เป็นเอกชนต้องไปต่อสู้กับรัฐบาล ซึ่งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขององค์การการค้าโลกยังไม่สามารถเข้ามาจัดการประเด็นเหล่านี้ได้

มุมมองของสหรัฐฯ เท่ากับหากจีนยอมโอนอ่อนตามเพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า จะส่งผลเสียให้เป้าหมาย Made in China 2050 เป็นไปได้ต่ำลง ขัดแย้งกับมติวันที่ 11 มีนาคม 2560 ของสภาประชาชนจีนหรือรัฐสภาของจีน ที่มอบภารกิจใหญ่ให้สี จิ้นผิง กำหนดทิศทางของประเทศ

ยกระดับเป็นเจ้าเทคโนโลยีของโลก ใช้แนวคิดการพัฒนาใหม่ที่เน้นวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โปร่งใส และกระจายประโยชน์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสำคัญคือ

– ผลิตและวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีสิทธิบัตรเป็นอันดับหนึ่งของโลก (แต่ Citation Index ยังต่ำกว่า) โดยที่อดีตผู้บริหารของ Google เตือนว่าธุรกรรมนี้ จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ภายในปี 2565

– ผลิตและวิจัยอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้านิวเคลียร์ชั้นนำของโลก

– ผลิตและวิจัยขีปนาวุธ ขีปนาวุธข้ามทวีป ขีปนาวุธที่นำทางด้วยเลเซอร์, เรดาร์, กล้องถ่ายรูป, GPS, ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน

– ผลิต Super Computer ซึ่งคำนวณเร็วเป็นที่หนึ่งของโลกตั้งแต่ปี 2557 ด้วยการออกแบบ Circuit ของตัวเอง แม้ยังต้องใช้ CPU, GPU ของสหรัฐฯ (ของจีนเองยังพัฒนาไม่หยุด)

– เป็นผู้นำด้านการผลิตแผงวงจรไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ของโลก

– เป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก และเป็นผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์พลังไฟฟ้าอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่เร่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่รถยนต์ชั้นนำของโลก

ผลิตภัณฑ์ที่จีนต้องการ “ฝ่าข้ามขีดจำกัด” ดังกล่าว ถือเป็นการท้าทายสหรัฐฯ โดยตรง คำถามคือในสถานการณ์ที่ทั้งทรัมป์และสีเผชิญกับการ “ถอยไม่ได้” นี้ จะวิน-วินกันอย่างไร

โจทย์ยากกว่าข้อสอบโอเน็ตนี้ ทรัมป์หรือสีต้องเลือก ทำให้นักลงทุนถูกบังคับต้องเลือกด้วย ไม่ว่าจะชอบหรือไม่

Back to top button