TMB กับธนชาต

ดีลการควบรวมของธนาคารทั้ง 2 แห่งนี้ ใกล้เข้ามาทุกขณะ


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ดีลการควบรวมของธนาคารทั้ง 2 แห่งนี้ ใกล้เข้ามาทุกขณะ

ประเด็นนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” นำเสนอมาตั้งแต่ต้น

ทว่า ในช่วงนั้นบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างออกมาปัดข่าว และบอกว่า ยังไม่มีอะไร แต่ก็ไม่มีใครถึงกับปฏิเสธ ส่วนข้อมูลที่เราได้รับมานั้น มีความคืบหน้าไปมาก

ต่อมาในที่สุด หลายฝ่ายค่อย ๆ เริ่มออกมายอมรับ

ทั้งกระทรวงการคลัง กลุ่มธนชาต และทีเอ็มบี

เดิมนั้น “กลุ่มธนชาต” เข้ามาคุยกับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ทีเอ็มบี (TMB) มาสักระยะแล้ว

ขณะที่มีกระแสข่าวว่า “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง อยากให้ไปควบรวมกับกรุงไทยมากกว่า

แต่เข้าใจว่า ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันมาก และกรุงไทยที่มีความเป็นรัฐวิสาหกิจสูง น่าจะยากต่อการควบรวมกับแบงก์ที่มีความเป็นเอกชนไปแล้วอย่างทีเอ็มบี

เมื่อพิจารณาดูถึง “ความเป็นไปได้” และ “ความเป็นไปไม่ได้” แล้ว

ความเป็นไปไม่ได้น่าจะมีมากกว่า และเป็นที่มาของการส่งสัญญาณไฟเขียวให้แบงก์สองแห่งควบรวมกัน

คลังเองนั้น พยายามหาทางออกเกี่ยวกับการถือครองหุ้นในทีเอ็มบีมานานมาก

อยากจะขายก็ขายไม่ได้

นั่นเพราะต้นทุนของคลังสูงถึง 3.80 บาท

หากนับจากที่คลังเข้ามาถือหุ้น ราคาหุ้น TMB เคยขึ้นไปสูงสุด 3.24 บาท เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2557

แต่หลังจากนั้นราคาปรับลงมาตลอด

ดังนั้น คลังจึงแทบไม่มีโอกาสที่จะขายหุ้นทีเอ็มบีออกมาเลย

และแน่นอนว่าหากใครขายราคาต่ำกว่านี้ (3.80 บาท) มีโอกาส “ติดคุก” หัวโตแน่นอน เพราะมีคนจ้องรอเช็กบิลกันอยู่แล้ว

ถามว่าทำไมคลังจึงต้องขาย…?

อาจจะมีคำถามกลับไปว่า แล้วทำไมคลังจะต้องถือหุ้นอยู่ในธนาคารพาณิชย์ทั้งสองแห่ง (กรุงไทย-ทีเอ็มบี) พร้อม ๆ กัน

หากย้อนอดีตกันไปสักนิด

จะรับทราบว่า คลังไม่ได้ตั้งใจอยากเข้ามาถือหุ้นในทีเอ็มบีอะไรเลย

นั่นเป็นเพราะว่าเหตุการณ์มันบังคับไง และพอสถานการณ์ทีเอ็มบีดีขึ้น ก็ยังถอนหุ้นออกมาไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ เพราะราคาหุ้น หรือต้นทุน “ผูกมัด” อยู่

ส่วนตัวนั้นเชื่อว่า คลังพยายามหาทางออกมานานแล้ว

และทางออกที่ว่านี้คือต้องนำทีเอ็มบีไปควบรวมกับแบงก์ใดแบงก์หนึ่ง

ส่วนการออกกฎหมายเพื่อให้สิทธิทางภาษีกับธนาคารที่ควบรวมกันนั้น เป็นการรองรับดีลนี้โดยเฉพาะหรือไม่

เรื่องนี้ไม่สามารถยืนยันได้

เอาเป็นว่าเชื่อตามที่ขุนคลัง อภิศักดิ์ บอกไว้แล้วกันว่า คือ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้แบงก์ควบรวมกัน หวังเสริมแกร่งทางการเงิน ให้แบงก์มีขนาดใหญ่และแข่งขันในระดับภูมิภาคได้

ย้อนกลับมาที่ความคืบหน้าการควบรวมกัน

ล่าสุดตามที่ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” รายงานและเกาะติดเรื่องนี้มาโดยตลอด

ดีลใกล้จะเสร็จแล้วล่ะ

ประเด็นต่าง ๆ (น่า) จะได้ข้อยุติไปแล้วเมื่อวานนี้ที่มีการประชุมร่วมกันของ 3 หน่วยงาน

นั่นคือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. และธนาคารทหารไทย หรือ TMB

ส่วนกลุ่มธนชาต ก็น่าจะให้ “คำตอบสุดท้าย” มายังคลังแล้ว

มาถึงสูตรการควบรวมกันซักหน่อย

ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ว่าจะเป็นสูตรไหน

เพียงแต่ตั้งธงกันไว้ว่า ผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่าย จะต้องได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะ “คลัง” ที่อาจจะต้องใส่เงินเพิ่มทุนเข้าไป และหลังควบรวมกัน มูลค่าของหุ้นจะต้องดีขึ้นกว่าเดิม

ที่สำคัญหุ้นต้องไม่เกิดไดลูท

ส่วนสัดส่วนการถือหุ้น คลังนั้นไม่ซีเรียส คือจะต่ำกว่า 25.9% ก็ได้

เพราะไม่ต้องคงสัดส่วนเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนกับบริษัทอื่นที่คลังถือหุ้นอยู่

ดีลนี้ว่ากันว่า จะต้องผ่านไปให้ได้

และจะแล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้

นอกจากสูตรที่นำมาใช้ควบรวมกัน ยังมีอีกประเด็นที่หลายคนอยากรู้ นั่นคือ ชื่อธนาคารหลังการควบรวมจะใช้ชื่ออะไร

A+B = A หรือ A+B = B หรืออาจจะเป็น A+B = C

ความน่าจะเป็นที่สุดคือชื่อ TMB ยังมีอยู่ต่อไป

Back to top button