เงาทะมึนพายุใหม่

ข่าวดีเรื่องการเจรจาแก้ปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ข่าวดีเรื่องการเจรจาแก้ปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

ที่ดันราคาและดัชนีหุ้นทั่วโลก 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถูกลืมในทันทีเมื่อมีข่าวร้ายแทรกขึ้นมา 2 ข่าวพร้อมกันวานนี้

ข่าวแรก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า สหรัฐฯ เตรียมเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) คิดเป็นมูลค่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์

ทรัมป์ได้ทวีตข้อความยืนยันว่า สหรัฐฯ เตรียมเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก EU คิดเป็นมูลค่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากที่องค์การการค้าโลก (WTO) มีคำตัดสินระบุว่า การที่ EU ให้เงินอุดหนุนแอร์บัส ได้ส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ

ทางด้านสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมเรียกเก็บภาษีนำเข้าเฮลิคอปเตอร์โดยสาร ชีส ไวน์ ชุดสกี รถจักรยานยนต์บางประเภท และสินค้าประเภทอื่น ๆ วงเงินประมาณ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อตอบโต้การที่ EU ใช้มาตรการอุดหนุนแอร์บัส บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินคู่แข่งของบริษัทโบอิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ระบุว่า จะล้มเลิกแผนการดังกล่าวก็ต่อเมื่อ EU ยกเลิกมาตรการให้เงินอุดหนุนต่อแอร์บัส โดยสหรัฐฯ และ EU ต่างก็กล่าวหาแต่ละฝ่ายว่า ให้เงินอุดหนุนที่ผิดกฎหมายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์แก่โบอิ้งและแอร์บัส เพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขันในวงการธุรกิจผลิตเครื่องบิน

หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากเป็นหุ้นที่อ่อนไหวต่อข้อพิพาทการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้แนวต้านของดัชนีดาวโจนส์แข็งแกร่งขึ้น โดยไม่ต้องเอ่ยถึงดัชนีตลาดหุ้นในยูโรโซนที่รับผลโดยตรง

ข่าวที่สอง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ สู่ระดับ 3.3% จากเดิมที่ระดับ 3.5% โดยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า รวมทั้งการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ขณะเดียวกัน IMF ยังเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่มีการทำข้อตกลง ความไม่แน่นอนทางการเมืองขณะที่หลายประเทศทั่วโลกจัดการเลือกตั้ง และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียตะวันออก

นอกจากนี้ IMF คาดการณ์การขยายตัวของสหรัฐฯ ในปีนี้ ที่ระดับ 2.3% และคาดว่ายูโรโซนมีการขยายตัว 1.3% โดยลดลง 0.2% และ 0.3% ตามลำดับจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ม.ค.

รายงานของ IMF ระบุว่า ดุลความเสี่ยงยังคงอยู่ในช่วงขาลง และการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นจะทำให้มีการดีดตัวขึ้นของต้นทุนของสินค้านำเข้าขั้นกลาง, สินค้าทุน และราคาสินค้าขั้นสุดท้ายสำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้า และความกังวลเกี่ยวกับการตอบโต้ทางการค้า จะทำให้การลงทุนลดลง, ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก และการขยายตัวของประสิทธิภาพการผลิตชะลอตัวลง ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของภาคเอกชนลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน และฉุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ IMF ยังเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่มีการทำข้อตกลง, ความไม่แน่นอนทางการเมือง ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกจัดการเลือกตั้ง และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียตะวันออก

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจาก IMF ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ส่วนดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกก็ออกอาการอ่อนตัวรับข่าวทันที

ท่าทีในเชิงลบของ IMF ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแนวโน้มของขีดจำกัดขาขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชัดเจนยิ่งขึ้น

ล่าสุดวานนี้ สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน ร่วงลง 538,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 7.1 ล้านตำแหน่งในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค.ปีที่แล้ว

ข้อมูลดังกล่าวสอดรับกับตัวเลขเมื่อเดือนที่ผ่านมาที่ระบุว่า ระดับหนี้สาธารณะล่าสุดของรัฐบาลกลางและท้องถิ่นสหรัฐฯ ที่สูงเกิน 100% ของจีดีพี ซึ่งเคยและยังคงถูกจุนเจือด้วยการออกพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลที่มีลูกค้าในต่างประเทศในฐานะ “ตัวประกัน” แม้จะยังไม่ถึงขั้นที่ถือว่าอันตราย แต่ก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นห่วงโซ่ คือ 1) เฟดถูก “ขึงพืด” จำกัดขีดความสามารถในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่ส่อเค้ามา 2) ค่าดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากผลของอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ต่ำติดพื้นเรื้อรัง 3) ปริมาณเงินที่ถูกพิมพ์เพิ่มทุกเดือนตามมาตรการ QE ของยูโรโซน และธนาคารกลางญี่ปุ่นยังทำให้เงินท่วมโลกไปอีกยาวนานอย่างน้อยก็ถึงสิ้นปีนี้ หรือกลางปีหน้า

แรงกดดันให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้า ๆ และค่าดอลลาร์ยังต่ำเตี้ยนี้ ไม่ใช่ความลับอะไร เพราะตัวเลขการถือครองพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันทั้งระยะกลางและระยะยาว จากบรรดา “เจ้าหนี้ขาประจำ” ทั้งหลายอย่าง ธนาคารกลางชาติต่าง ๆ ไพรเวทแบงก์ และวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ญี่ปุ่นทั้งหลาย เป็นตัวเลขที่ปิดไม่มิด

เงินทุนที่ไหลออกจากตราสารหนี้อเมริกันนี้ มุ่งเป้าไปที่ตลาดตราสารหนี้ในเอเชีย และค่าเงินเยนเป็นสำคัญ แม้จะมีความเสี่ยงไม่น้อย แต่ก็ดีกว่าถือพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันที่มีเค้าลางสุ่มเสี่ยงมากขึ้นจนไม่คุ้มค่า

สัญญาณจากภาพรวมทางเศรษฐกิจมหภาคนี้ บอกล่วงหน้าว่าโอกาสทำกำไรของหุ้นหลักในตลาดหุ้นทั่วโลกจะเปราะบางอย่างมาก แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีช่วงเวลารับผลร้ายที่ต่างกันไป

คำเตือนจาก IMF ถึงเมฆหมอกทะมึนของเศรษฐกิจ อาจจะบอกรายละเอียดไม่ได้มาก แต่นักลงทุนที่ชาญฉลาดและมีประสบการณ์ย่อมรู้ดีว่า อย่าออกเรือยามพายุตั้งเค้า

เว้นเสียแต่นักลงทุนที่บ้าบิ่นจะถือคติ พายุมา เรือน้อยต้องออกจากฝั่งซึ่งคงต้องปล่อยไปตามกรรม

Back to top button