ไอพีโอน้องใหม่ VRANDA ลงสังเวียนเทรดวันแรก ลุ้นราคาวิ่งเหนือ 11 บ.

ไอพีโอน้องใหม่ VRANDA ลงสังเวียนเทรดวันแรก ลุ้นราคาวิ่งเหนือ 11 บ. โดยมีบล.บัวหลวงเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (3 พ.ค.62) บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA จะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)  ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจการท่องเที่ยวและสันทนาการ โดยมีจำนวนหุ้นจดทะเบียนกับตลท. และหุ้นชำระแล้ว จำนวน 319,681,672 หุ้น พาร์หุ้นละ 5 บาท คิดเป็นทุนชำระแล้ว 1,598,408,360 บาท หลังบริษัทเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 75,000,000 หุ้น ราคา 10 บาท/หุ้น ระหว่างวันที่ 24-26 เม.ย.62

ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.รับหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญของ บริษัท วีรันดา รีสอร์ท ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ VRANDA เข้าซื้อขายใน SET กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ หมวดธุรกิจการท่องเที่ยวและสันทนาการ กำหนดวันที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนและวันที่เริ่มทำการซื้อขาย วันที่ 3 พ.ค.62

อนึ่ง VRANDA ประกอบธุรกิจโรงแรม และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดพักอาศัย กลุ่มบริษัท มีโครงการโรงแรมทั้งหมด 6 แห่ง แบ่งเป็น โรงแรมที่เปิดดำเนินการ จำนวน 5 แห่ง คือ 1) โรงแรมวีรันดา รีสอร์ท หัวหิน 2) โรงแรมวีรันดา เดอะ ไฮ รีสอร์ท เชียงใหม่ 3) โรงแรมโซ โซฟิเทล แบงค็อก 4) โรงแรมวีรันดา รีสอร์ท พัทยา 5) โรงแรม ร็อคกี้ บูติค รีสอร์ท และโครงการโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจำนวน 1 แห่ง คือ โรงแรมเวอโซ หัวหิน และมีโครงการอาคารชุดพักอาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย จำนวน 3 แห่ง

โดยเป็นโครงการอาคารชุดพักอาศัยที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ จำนวน 2 แห่ง คือ โครงการวีรันดา ไฮเรสซิเดนซ์ เชียงใหม่ และโครงการวีรันดา เรสซิเดนซ์ พัทยา ขณะที่เป็นโครงการอาคารชุดพักอาศัยที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 1 แห่ง คือ โครงการวีรันดา เรสซิเดนซ์

อย่างไรก็ตามในวันแรกที่หุ้นของบริษัท เริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทอาจจะเสนอขายหุ้นสามัญเดิมที่ตนถืออยู่ต่อบุคคลในวงจำกัด จำนวนไม่เกิน 50 ราย รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 หุ้น หรือคิดเป็น 0.31% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ในราคาเสนอขายจะเท่ากับราคาเสนอขาย IPO

ด้านนายวีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร VRANDA เปิดเผยว่า เมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมามีจุดเริ่มต้นมาจากการพัฒนาโรงแรมแห่งแรกภายใต้ชื่อ “วีรันดา รีสอร์ท หัวหิน” โดยนำประสบการณ์จากโรงแรมในต่างประเทศรูปแบบ Boutique Hotel มาปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวยึดหลักความเป็นผู้นำด้าน “Designed Brand”

สำหรับโรงแรมของ VRANDA มีเป้าหมายชัดเจนในการเจาะกลุ่มลูกค้าระดับลักชัวรี่ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติในระดับราคาห้องพักเฉลี่ย 4,300 บาท/คืน ปัจจุบันเปิดบริการแล้ว 5 แห่ง ประกอบด้วย วีรันดา รีสอร์ท หัวหิน, วีรันดาไฮ รีสอร์ท เชียงใหม่, โซ โซฟิเทล แบงค็อก, วีรันดา รีสอร์ท พัทยา และแบรนด์ที่ซื้อกิจการเข้ามาอย่าง ร็อคกี้ บูติค รีสอร์ท ที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี

ส่วนโรงแรมที่อยู่ระหว่างพัฒนาอีก 1 แห่ง คือ โรงแรมเวอโซ หัวหิน คาดว่าจะสร้างเสร็จและเปิดให้บริการช่วงต้นปี 63

“จุดเริ่มต้นก่อนที่จะเข้ามาทำธุรกิจ “วีรันดา รีสอร์ท” ผมเองเรียนมาในสายบริหารธุรกิจด้านการเงิน เคยทำงานในวงการวาณิชธนกิจ ก่อนกลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านเปิดโรงแรม 3 ดาวในจังหวัดเชียงใหม่ จึงได้เรียนรู้หลักการบริหารโรงแรม และเข้ามาดูแลธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของครอบครัว ซึ่งวันนี้ทั้ง 2 ธุรกิจได้ขายกิจการไปหมดแล้ว

และมีโอกาสเข้าไปทำงานใน บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR  ทำให้เรียนรู้เรื่องไลฟ์สไตล์มาร์เก็ตติ้ง ประสบการณ์ทั้งหมดได้มาปรับใช้กับโรงแรม วีรันดา รีสอร์ท หัวหิน ซึ่งเป็นโครงการแรก เราพยายามออกแบบให้มีความแตกต่าง ให้พื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่กว่าโรงแรมอื่น และได้รับความนิยมค่อนข้างรวดเร็ว หลังจากนั้นมีโครงการอื่นๆ เพิ่มเข้ามา” นายวีรวัฒน์ กล่าว

ด้านนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า บริษัทฯ มั่นใจว่า บมจ.วีรันดา  รีสอร์ท จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุน เนื่องจากเป็นบริษัทฯที่มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคตและเชื่อว่า VRANDA จะเป็นหุ้นที่มีศักยภาพในระยะยาว และเป็นหนึ่งในหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก

สำหรับการจัดสรรหุ้น IPO ครั้งนี้ นอกจากกระจายสัดส่วนที่เน้นสถาบัน หุ้นในส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายที่ถือหุ้นของบริษัทฯ จำนวน 100,000 หุ้นขึ้นไป  ได้ตกลงที่จะล็อกตามกฎหมายที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และที่ปรึกษาทางการเงินทั้งหมดที่ผู้ถือหุ้นเดิมถืออยู่ ส่งผลให้หุ้นที่กระจายในตลาดรอบนี้เพียง 24% เท่านั้น ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนในการเข้าทำการซื้อขายหุ้นครั้งนี้

ขณะเดียวกัน บทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ประเมินมูลค่าเหมาะสมของหุ้น VRANDA ไว้ที่ 3,714-3,840 พันล้านบาท หรือ 11.62-12.01 บาท/หุ้น  คิดเป็น PER ที่ 23.7-24.5 เท่า โดยมีปัจจัยบวกดังนี้ 1) การเติบโตอย่างยั่งยื่นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย, 2) การเติบโตของแบรนด์ VERANDA ในประเทศไทยอย่างโดดเด่น โดยในปี 2561 ราคาห้องเฉลี่ยสูงกว่า CENTEL 15% และ ERW 60% (สำหรับโรงแรมในไทย) และมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวในประเทศมากที่สุดในกลุ่ม (ลดความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอตัว), 3) โมเดลธุรกิจแบบผสม

โดยมีรายได้จากการขายอสังหาฯ ด้วย และมีแผนที่จะขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, 4) โอกาสในการขยายธุรกิจสูงจากการเปิดโรงแรมใหม่, การโอนคอนโดใหม่ และการเปิดร้านอาหาร 4 แห่งในปี 2019, และ 5) คาดกำไรเติบโตเฉลี่ย 11% ในปี 2019-21

Back to top button