จาก “ผู้ถือหุ้น” ถึง “ก.ล.ต.”: ล่าต้นตอชนวนวิกฤติ IFEC

จาก “ผู้ถือหุ้น” ถึง “ก.ล.ต.”: ล่าต้นตอชนวนวิกฤติ IFEC


ผู้สื่อข่าวรายงาน กรณีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ “วิกฤตการณ์ IFEC” ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายในวงกว้าง

โดยระบุว่า ที่ผ่านมา นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ หรือ “หมอวิชัย” อดีตประธานกรรมการ IFEC สร้างความเสียหายให้กับบริษัทเป็นอย่างมาก ทั้งการไม่นำส่งงบการเงิน ไม่ชำระหนี้ ขัดขวางการจัดประชุมผู้ถือหุ้น คัดค้านการจดทะเบียนกรรมการ อีกทั้งยังยื่นเรื่องขอศาลแพ่งคุ้มครองไม่ให้กรรมการชุดใหม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาของบริษัท

สืบเนื่องจากกรณีที่ IFEC ได้ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น (B/E) และหุ้นกู้ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2559 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการตรวจสอบข้อมูล พร้อมทั้งข้อเท็จจริง โดยพบว่า นายวิชัยได้นำหุ้น บริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์แคปแมเนจเม้นท์ จำกัด (ICAP) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นของโรงแรมดาราเทวี ไปเป็นหลักประกันให้เจ้าหนี้ คือ บริษัทหลักทรัพย์แลนด์ แอนด์เฮ้าส์ จำกัด ยึดจากหนี้ตั๋ว B/E ที่มีมูลค่าเพียง 100 ล้านบาท เนื่องจากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น ส่งผลให้นายวิชัยถูกตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใส

ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การกระทำดังกล่าวเป็นธุรกรรมที่อดีตประธาน IFEC และกรรมการบางส่วน ดำเนินการโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ เนื่องจากขณะนั้น IFEC ไม่มีกรรมการตรวจสอบร่วมอยู่ในคณะกรรมการ ประกอบกับการทำธุรกรรมในครั้งนั้น ไม่ได้ผ่านการรับรองหรืออนุมัติจากผู้ถือหุ้น แต่อย่างใด

ขณะที่ต่อมา พบการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E เพิ่มเติมในช่วงต้นปี 2560 คิดเป็นมูลค่าถึง 200 ล้านบาท โดยมี บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โซลาลิส จำกัด (ชื่อเดิม) เป็นเจ้าหนี้ และภายหลังยังตรวจสอบพบหนี้ตั๋วบี/อี ที่ต้องชำระเพิ่มขึ้นเป็น 3.50 พันล้านบาท รวมถึงหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนพฤศจิกายน 2560 อีก 3 พันล้านบาท รวมเป็น 6.50 พันล้านบาท ส่งผลให้ IFEC ประสบปัญหาสถานะทางการเงิน และไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงเป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่งขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามการซื้อขายทันที

โดย IFEC ถูกพักการซื้อขาย ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2560 เป็นต้นมา…

ทั้งนี้ ภายหลังจากการตรวจสอบของ สำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสร็จสิ้นลง นายวิชัย ถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษในวันที่ 5 กันยายน 2560 กรณีกระทำทุจริต โดยแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ เพื่อตัวเองหรือบุคคลอื่น เป็นเหตุให้ไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนได้ ตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

ต่อมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561นายวิชัย ถูกสำนักงานก.ล.ต.กล่าวโทษเป็นครั้งที่ 2 กรณีกระทำทุจริตต่อหน้าที่ จากการไม่เปิดเผยข้อมูลการผิดนัดชำระตั๋วแลกเงิน (B/E) จนเป็นเหตุให้หุ้น IFEC ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP ซึ่งการถูกห้ามซื้อขายส่งผลให้นายวิชัยได้ประโยชน์ โดยหุ้น IFEC ที่นายวิชัยถือครองและเป็นหลักประกันบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทมาร์จิ้นรวมกว่า 57.46 ล้านหุ้นจึงไม่ถูกบังคับขาย ส่งผลให้นายวิชัยยังคงสภาพการเป็นผู้ถือหุ้น IFEC ซึ่งสามารถลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการในการประชุมผู้ถือหุ้นจำนวน 3 ครั้งในปี 2560 เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองได้ ดังนั้น ก.ล.ต.จึงกล่าวโทษนายวิชัยต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย

อย่างไรก็ดี เกิดการตั้งคำถามขึ้นว่า การกระทำของ นายวิชัย ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นกว่า 30,000 คน ต้องได้รับความเสียหายมูลค่าเกินกว่า 6 พันล้านบาท หรือไม่ อีกทั้งยังมียอดผิดนัดชำระเจ้าหนี้ตั๋วแลกเงิน (B/E) อีก 3 พันล้านบาท และเจ้าหนี้หุ้นกู้อีก 3 พันล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ได้ออกมาเรียกร้องเพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแล คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดำเนินการตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลือ

“ถึงแม้นายวิชัย จะถูก ก.ล.ต. กล่าวโทษไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ขณะนี้ นายวิชัย ยังนั่งบริหารงานเป็นกรรมการในบริษัทลูกราว 45 บริษัท ซึ่งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการทำให้หมอวิชัย ยังคงอยู่ในตำแหน่งกรรมการบริษัทย่อย​ที่มีเงินรายได้ประมาณ 40 ล้านบาทต่อเดือน IFEC ที่เป็นบริษัทแม่ได้รับความเสียหาย​ โดยเฉพาะปัญหาที่ไม่สามารถจัดทำงบการเงิน​ เพราะไม่สามารถรับรู้ฐานะกิจการของบริษัทย่อยได้ ผู้ถือหุ้นจึงหวังให้ท่านเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้รับทราบปัญหาของ IFEC และเร่งผลักดันให้บริษัทเดินหน้าแก้ไขปัญหาโดยเร็ว” ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งกล่าว

ทั้งนี้ เป็นที่น่าจับตาว่า นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการก.ล.ต. คนใหม่ ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน นายรพี สุจริตกุล ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2562 ที่ผ่านมา จะสามารถแก้ปัญหา และช่วยเหลือผู้ถือหุ้นรวมถึงเจ้าหนี้ของ IFEC ได้อย่างไร เนื่องจากประเด็นดังกล่าวถือเป็นการกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อการเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างมาก

Back to top button