BANPU รูด 3% นิวโลว์รอบ 4 เดือน นลท.วิตกกำไรไตรมาส 1/62 ต่ำคาด โบรกฯแนะถือเป้า 19.30 บ.

BANPU รูด 3% นิวโลว์รอบ 4 เดือน นลท.วิตกกำไรไตรมาส 1/62 ต่ำคาด โบรกฯแนะถือเป้า 19.30 บ. ล่าสุดอยู่ที่ 15.40 บาท ลบ 0.50 บาท หรือ 3.14% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 329.75 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ล่าสุด ณ เวลา 11.33 น. อยู่ที่ 15.40 บาท ลบ 0.50 บาท หรือ 3.14% สูงสุดที่ 15.60 บาท ต่ำสุดที่ 15.30 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 329.75 ล้านบาท ทั้งนี้ ราคาหุ้น BANPU ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือนนับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 14.70 บาท เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2562

โดย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ถือ” BANPU ราคาเป้าหมาย 19.30 บาท/หุ้น โดย BANPU รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/62 เท่ากับ 916 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 1,263 ล้านบาทในไตรมาส 1/61 ที่มีการบันทึกรายจ่ายค่าปรับคดีหงสา 2,714 ล้านบาท (ลดลง 38.4% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน ) ซึ่งต่ำกว่าที่ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และตลาดคาดที่ 1,558 ล้านบาท/1,785 ล้านบาท

ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจถ่านหินที่แย่กว่าคาดทั้งปริมาณและราคาขายเฉลี่ย ธุรกิจถ่านหิน EBITDA ลดลง 30.1% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน เป็น 153 ล้านเหรียญ กดดันจากราคาขายเฉลี่ย (ASP) ของ ITM ที่ลดลง 6.3% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน เหลือ 72.4 เหรียญต่อตัน ส่งผลให้ GPM ลดเหลือ 35% จาก 39% ในไตรมาส 4/61 ปริมาณขายลดลง 22.5% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน เป็น 5.9 ล้านตัน CEY ในออสเตรเลียปริมาณขายลดลง 46.8% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน เป็น 2.0 ล้านตัน จากการย้าย Longwall เหมือง Mandalong  ASP ลดลง 6.0% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน เป็น 99 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน GPM ลดลงเหลือเพียง 8% จาก 28% ในไตรมาส 4/61

ส่วนธุรกิจเหมืองในประเทศจีน มีส่วนแบ่งกำไรคงที่ที่ 26 ล้านเหรียญ BPP ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าหงสาเท่ากับ 23 ล้านเหรียญ และโรงไฟฟ้า BLCP เท่ากับ 12 ล้านเหรียญ ธุรกิจไฟฟ้าในประเทศจีน (CHP) มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านเหรียญ จากความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำที่เพิ่มขึ้นในฤดูหนาว รวมถึงต้นทุนถ่านหินที่เริ่มลดลง  รายการพิเศษที่สำคัญ ได้แก่ การขายเหมือง Mannering ในออสเตรเลีย รับรู้กำไร 42 ล้านเหรียญ

ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/62 คาดปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน หนุนโดยธุรกิจไฟฟ้าหลังเข้าสู่ช่วง High Season ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย ขณะที่ธุรกิจถ่านหินคาดทรงตัวเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาที่ลดลงจะถูกชดเชยจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล

อย่างไรก็ตามจากผลประกอบการไตรมาส 1/62 ปกติ (ตาม MD&A) คิดเป็น 21.5% ของประมาณการ เบื้องต้นยังคงประมาณการไม่เปลี่ยนแปลง และยังคงแนะนำ ถือ ราคาเป้าหมาย 19.30 บาท (SOTP) เพื่อรอการปรับโครงสร้างธุรกิจลดถ่านหินลง และเน้นธุรกิจก๊าซฯ มากขึ้น เชิงกลยุทธ์เรามองว่า BPP น่าสนใจมากกว่า

Back to top button