รัฐบาลผสมด้วยเล่ห์

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือกประธานสภา เริ่มต้นด้วยความวุ่นวาย แม้ท้ายที่สุด ชวน หลีกภัย ชนะขาด พร้อมข้อสงสัยว่าใน  7  พรรคมี  “งูเห่า”


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือกประธานสภา เริ่มต้นด้วยความวุ่นวาย แม้ท้ายที่สุด ชวน หลีกภัย ชนะขาด พร้อมข้อสงสัยว่าใน  7  พรรคมี  “งูเห่า”

นั่นเป็นภาพสะท้อนว่า พรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลได้แน่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกฯ คนต่อไป แต่ภายในรัฐบาลจะปั่นป่วน ภายนอกก็เต็มไปด้วยภาพลบ

มีอย่างที่ไหน พปชร.ขอเลื่อนประชุมด้วยเหตุผลว่า คนในพรรคตัวเองยังเห็นไม่ตรงกัน (ที่จะให้ชวนเป็นประธาน) พอประธานให้ลงมติ เลื่อน-ไม่เลื่อน ทั้ง พปชร. ปชป. ก็ขานเสียงเดียวกัน (ไม่เว้นแม้อภิสิทธิ์) แต่พอดี  5  ส.ส.จงใจโหวตผิด บังคับให้ฝ่ายว่าที่รัฐบาลต้องจำใจสามัคคีเลือกชวน  ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเพิ่งประกาศชื่อ สุชาติ ตันเจริญ

แต่จู่ ๆ  ชวน ก็โผล่มา คว้าพุงปลา นั่งเก้าอี้ประธาน ซ้ำยังบอกว่าการรับตำแหน่งประธานสภา ไม่มีข้อต่อรอง ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ในการร่วมรัฐบาล และไม่เกี่ยวข้องกับการได้ตำแหน่งรัฐมนตรีของคนในพรรค

แปลอีกอย่าง คือพรรคประชาธิปัตย์ขอเก้าอี้ประธานสภา เป็นมัดจำไว้ก่อน แต่การต่อรองเก้าอี้เพื่อร่วมรัฐบาลยังไม่จบ ตามที่ประกาศอย่างเปิดเผยก่อนนี้ว่า ต้องการ รมว.มหาดไทย พาณิชย์ พลังงาน แม้อาจถอยบ้าง ก็ต้องเอาให้คุ้ม

คุ้มอะไร คุ้มกับการที่อภิสิทธิ์ประกาศไว้ “ไม่เอาตู่” แต่พอ  52  เสียง  ปชป.เป็นตัวชี้ขาด ก็สามารถโก่งราคาค่ากลืนคำพูด

นี่เองที่ทำให้ ส.ส.พปชร. บางกลุ่มกัดฟันกรอด ๆ  เพราะรู้สึกว่า ปชป. เอาเปรียบ เล่นแง่ ไม่น่าคบ แต่ไม่มีทางเลือก ก็จำใจยกมือให้ชวน ปล่อยให้ลูกพรรค ปชป.ลอยหน้าลอยตาโต้เพื่อไทยว่า ส.ส.เลือกชวนเพราะศรัทธา

ในสายตา พปชร. ปชป.ไม่น่าคบ ได้โอกาสก็ขี่คอ แต่ไม่มีทางเลือก ในสายตา ปชป. เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อเอาตำแหน่งสำคัญ ฉวยโอกาสนี้โชว์เหนือ เก็บคะแนน ช่วงชิงฐานเสียงคืนจากทั้งอนาคตใหม่และพลังประชารัฐ ในกรุงเทพฯ และภาคใต้

ถามว่ารัฐบาลผสมอย่างนี้จะอายุยืนหรือไม่ ทุกฝ่ายก็รู้ดี เป็นการร่วมกันเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์และแย่งชิงฐานเสียงในระยะสั้น ช่วงชิงกันเองด้วย แม้แต่ในพรรค พปชร.ซึ่งกว้านดูด ส.ส.เข้ามา แต่ละกลุ่มก๊วนก็หวังตำแหน่ง คอยดูการจัดตั้งรัฐบาล จัดสรรตำแหน่ง จะเต็มไปด้วยข่าวแย่งชิงอย่างที่ประยุทธ์ต้องกุมขมับ

นี่ไม่ใช่ภาพรัฐบาลผสมอย่างที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฝัน ซึ่งคงต้องการย้อนยุคไปสมัยพลเอกเปรม ที่พรรคการเมืองมีอำนาจต่อรองน้อย ฝ่ายค้านไม่เข้มแข็ง ประชาชนไม่ต่อต้าน ไม่ตื่นตัว

ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ประยุทธ์ไม่สามารถสั่งรัฐมนตรีซ้ายหันขวาหันเหมือนที่ตั้งเองมา  5  ปี ไม่สามารถทำอะไรตามใจ ถ้าไม่ผ่านการบริหารจัดการในพรรคร่วม ไม่สามารถปรับทัศนคติฝ่ายค้าน ไม่สามารถปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ในสื่อหรือสังคมออนไลน์ แม้คุมอำนาจความมั่นคงไว้แน่นหนา

ทุกอย่างจะย้อนเข้าตัวหมด ตั้งแต่ต้น ลองไล่ดูสิว่าการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จได้อย่างไร หนึ่ง เพราะสูตร กกต.ทำให้  7 พรรค  253  เสียง เหลือ  246  สอง เพราะกติกา  250  ส.ว. ตั้งพวกพ้องพี่น้องทหารข้าราชการ มาเลือกตัวเองเป็นนายกฯ ทำให้ชนะตั้งแต่ในมุ้ง สาม เพราะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย กลืนคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน แต่ก็ไม่แน่ว่าเข้าร่วมด้วยความจริงใจ เป็นมิตรแท้ หรือหวังช่วงชิงเอาคืน

ความไม่ชอบธรรมเหล่านี้ยิ่งลากถูกันไป ก็ยิ่งตกต่ำ และเข้าสู่ทางตันยิ่งกว่าเดิม

Back to top button