กับดักราคาน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันดิบจะถึง 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลหรือไม่.!? กลายเป็นประโยคคำถามง่าย ๆ แต่หาคำตอบได้ยากเหลือเกิน หลายคนมองว่าปีนี้ไม่น่าเห็น..บางคนมองว่าอาจได้เห็นแต่ยืนระยะไม่ได้ หรือบางส่วนมองเชิงบวกว่าน่าจะทะลุ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

ราคาน้ำมันดิบจะถึง 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลหรือไม่.!? กลายเป็นประโยคคำถามง่าย ๆ แต่หาคำตอบได้ยากเหลือเกิน หลายคนมองว่าปีนี้ไม่น่าเห็น..บางคนมองว่าอาจได้เห็นแต่ยืนระยะไม่ได้ หรือบางส่วนมองเชิงบวกว่าน่าจะทะลุ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลได้

กับดักหรือปัจจัยเชิงลบและบวก หนีไม่พ้นเรื่องภายในกลุ่มโอเปกเองและมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สอดแทรกเพิ่มขึ้นเข้ามาระหว่างช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วย

กรณี “กลุ่มโอเปกและพันธมิตร” มีการปรับลดกำลังการผลิตอาจไม่เพียงพอที่จะยกระดับราคาน้ำมันขึ้นมาได้ โดยตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา มีการลดกำลังผลิตรวมกันประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ดูน้อยไป เนื่องจากตัวเลขสต๊อกน้ำมันทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นมาตลอด โดยเฉพาะ OECD Stocks ที่เพิ่มขึ้นตลอดช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นตัวชี้วัดได้ว่าทั่วโลกผลิตน้ำมันออกมาเกินความต้องการนั่นเอง

มีการประเมินกันว่า ช่วงปีหน้าทั้งสหรัฐฯ และกลุ่มนอนโอเปก มีแนวโน้มผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ประมาณความต้องการใช้เพิ่มขึ้นแค่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงเป็นแรงกดดันให้กลุ่มโอเปกจำเป็นต้องลดกำลังการผลิต แต่ท่าทีของหลายประเทศ เริ่มส่งสัญญาณชัดว่าลดกำลังการผลิตมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว..!!

กรณี “คว่ำบาตรอิหร่าน” ถือเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อราคาน้ำมัน เพราะนั่นหมายถึงตัวเลขซัพพลายในตลาดหายไปกว่า 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน บทพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์ให้เห็นแล้วว่า ทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นแตะระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลมาแล้ว

แต่หาก “ยกเลิกคว่ำบาตรอิหร่าน” จะกลายเป็นปัจจัยเชิงลบต่อราคาน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะนั่นหมายถึงปรากฏการณ์ซัพพลายล้นตลาดขึ้นมาทันที ประเมินกันว่าหากอิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง อาจได้เห็นราคาน้ำมันหลุดระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เท่ากับว่าตัวเลข 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อาจต้องจำใจลืมกันไปเลยทีเดียว

กรณี “สงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน” ถือเป็นปัจจัยแทรกซ้อน ที่พร้อมกดดันราคาน้ำมันได้ตลอด มาถึงวันนี้ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าสงครามการค้าทั้ง 2 ประเทศ จะจบลงอย่างไร.! หรืออาจยืดเยื้อจนไม่จบเลยเป็นไปได้ทั้งนั้น แม้ว่าจะมีนักวิเคราะห์หลายสำนักออกมาประเมินว่า “การเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะจบลงปีนี้” ก็ตาม

แต่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างขึ้นหลังเสือด้วยกันทั้งคู่ โอกาสที่จะตกลงกันได้ง่าย ๆ แทบจะมองไม่เห็นเลย เนื่องจากไม่ใช่การเจรจาเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศเท่านั้น แต่เป็นเรื่องผูกโยงไปถึงความมั่นคงของชาติ การแย่งชิงตำแหน่งผู้นำของโลกด้านเทคโนโลยี

กรณีเลวร้ายสุดจีนอาจต้องยอมให้ตัวเลข GDP เติบโตต่ำกว่า 5-6% ประมาณ 1-2 ปี เชื่อว่าจีนยอมได้ อย่าลืมว่า “สี จิ้นผิง” ผูกติดอยู่กับตำแหน่ง ยาวนานกว่า “ทรัมป์” จึงมองว่า จีนอาจยอมเจ็บตัวเพื่อยื้อไปจนกว่า จะมีการเปลี่ยนทางการเมืองในสหรัฐฯ  ดีกว่าเร่งรีบยอมรับเงื่อนไขที่ต้องผูกมัดระยะยาว

นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งของ “กับดัก” ที่จะตอบโจทย์ได้ว่าราคาน้ำมันจะถึง 70 ดอลลาร์สหรัฐหรือไม่..!??

Back to top button