สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยติดลบ

ช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% หลังจากวันที่ 7 ส.ค. 62 ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติแบบไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 3 เสียง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% หลังพบว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าประเมินไว้ก่อนหน้านี้ 3.3% อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย 1% การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกรอบ 4 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนเม.ย. 58


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

ช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% หลังจากวันที่ 7 ส.ค. 62 ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติแบบไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 3 เสียง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% หลังพบว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าประเมินไว้ก่อนหน้านี้ 3.3% อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย 1% การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกรอบ 4 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนเม.ย. 58

ช่วงเดียวกันนี้เอง ธนาคารพาณิชย์ของประเทศเดนมาร์ก มีการนำเสนอสินเชื่อบ้านแบบ “ดอกเบี้ยติดลบ” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ติดลบ 0.5% ต่อปี

เริ่มจากวันที่ 5 ส.ค. 62 ทาง Jyske Bank ธนาคารใหญ่อันดับ 3 ประเทศเดนมาร์ก มีการเปิดตัวสินเชื่อบ้านระยะยาว 10 ปี ดอกเบี้ยติดลบ 0.5% ถัดมาวันที่ 7 ส.ค. 62 ธนาคารนอร์เดีย ประกาศนำเสนอสินเชื่อบ้านระยะยาว 20 ปี อัตราดอกเบี้ย 0% และสินเชื่อบ้านระยะยาว 30 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 0.5%

โดย Jyske Bank ระบุว่า ผู้กู้ที่ได้ดอกเบี้ยติดลบนี้ ยังชำระหนี้ตามปกติทุกเดือน แต่ยอดหนี้คงค้างจะลดลงแต่ละเดือนมากกว่าที่ผู้กู้ชำระคืน สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยติดลบนี้เป็นสินเชื่อระยะสั้น จึงไม่สามารถนำไปผ่อนบ้านได้หมด ดังนั้นจึงเป็นเพียงสินเชื่อที่เสริมเข้ามาเพื่อนำไปใช้ในการซ่อมแซมบ้านหรือชำระหนี้บางส่วนซึ่งเป็นเงินกู้ที่มีดอกเบี้ยสูง

“มิกเกล โฮเอจห์” นักเศรษฐศาสตร์ด้านที่อยู่อาศัยของ Jyske Bank อธิบายว่า “ธนาคารไม่ได้ให้เงินแก่ลูกค้าโดยตรงแต่ทุกเดือนยอดหนี้จะลดลงมากกว่าที่ผู้กู้ชำระคืนมา”

การให้สินเชื่อดอกเบี้ยติดลบ ในแง่ของผู้กู้ดูเหมือนกับว่า ผู้กู้จะได้เงินติดมือกลับไปด้วย จากการขอสินเชื่อบ้าน แทนที่จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธนาคารตามปกติ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะผู้กู้ต้องมีภาระค่าธรรมเนียมการใช้เงินกู้ ยังเป็นหนี้จากสินเชื่อไม่ใช่ได้รับเงินเลย

สำหรับธนาคารพาณิชย์ การใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบดูเหมือนว่า ธนาคารหรือผู้ให้กู้ไม่สามารถทำกำไรได้เลย แต่ความเป็นจริงอาจไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเดนมาร์ก ถือเป็นตลาดใหญ่ของตราสารหนี้ ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ( Mortgage-Backed Bonds(MBB) ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน 200 ปี และจัดเป็นแหล่งกระจายความเสี่ยงของบรรดานักลงทุนสถาบัน

กรณีดอกเบี้ยติดลบโดยทั่วไปเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ผู้ปล่อยกู้ระมัดระวังกับทิศทางตลาด ธนาคารพาณิชย์บางแห่งพร้อมรับผลขาดทุนเล็กน้อยช่วงนี้ ด้วยการนำเสนอดอกเบี้ยต่ำหรือดอกเบี้ยติดลบ มากกว่าที่จะเสี่ยงให้ผู้กู้ได้สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูงแต่ผู้กู้ไม่มีความสามารถที่จะชำระคืนได้ในอนาคต

นั่นจึงเสมือนเป็นการจูงใจให้มีการกู้เงิน เพื่อนำไปลงทุนจากนั้นเงินจะกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเงินที่ใช้จ่ายออกไป จะหมุนเวียนหลายรอบ จึงก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั่นเอง..!!

Back to top button