KKP-DELTA-BPP จ่อหลุด SET50 จับตาเร่งดันมาร์เก็ตแคปหนีตกชั้นก่อนหุ้น“เสี่ยเจริญ”เข้าเทรด!

KKP-DELTA-BPP จ่อหลุด SET50 จับตาเร่งเครื่องดันมาร์เก็ตแคปหนีตกชั้นก่อนหุ้น “เสี่ยเจริญ”เข้าเทรด!


นางสาววีณา เลิศนิมิตร กรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เปิดเผยว่า ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ AWC ที่ 6 บาทต่อหุ้น โดยจะเปิดให้นักลงทุนทั่วไปจองซื้อหุ้นได้ในระหว่างวันที่ 25-27 กันยายนนี้ และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ภายในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2562

ทั้งนี้ AWC จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายไอพีโอในครั้งนี้ แบ่งเป็น จัดสรรให้นักลงทุนทั่วไปและสถาบัน จำนวน 6,957 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 22.47% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Overallotment Option หรือ Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น โดยจะนำเงินที่ได้รับจากการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไปใช้ในกลไกการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนเกี่ยวกับเสถียรภาพของราคาหุ้นในช่วง 30 วันแรกหลังเข้าจดทะเบียนซื้อขาย

ขณะที่ปัจจุบันมีนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ประเภท Cornerstone Investor จำนวน 13 ราย ได้ตกลงจองซื้อหุ้นสามัญของบริษัทที่เสนอขายครั้งนี้เป็นจำนวนรวม 3,454,000,000 หุ้น หรือประมาณ 50% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานและศักยภาพในการเจริญเติบโตของ AWC

ทั้งนี้ AWC มีทุนจดทะเบียนก่อนขายไอพีโอ 24,000 ล้านบาท ซึ่งหลังจากขายหุ้นไอพีโอจะมีทุนจดทะเบียนจะเพิ่มเป็น 32,000 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 92,000 ล้านบาท และหลังจากการเข้าลงทุนตามแผนหลังการขายหุ้นไอพีโอสินทรัพย์จะเพิ่มเป็น 115,000 ล้านบาท

“AWC ถือเป็น Landmark ของหุ้นไอพีโอในปีนี้ ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในปีนี้และในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา และหากนึกถึง Hospitality Tourist โรงแรมระดับ Midscale ที่มีจำนวนห้องพักเกือบ 8,000 ห้อง Flagship Lifestyle อย่าง Asiatique และออฟฟิศที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ อย่าง Empire Tower ก็ต้องนึกถึง AWC ทำให้มั่นใจว่าศักยภาพของ AWC จะทำให้นักลงทุนตอบรับที่ดี และหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ AWC น่าจะเป็นหุ้นที่มี Marketcap ใหญ่ที่สุดในตลาด” นางสาววีณา กล่าว

ด้านนางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ในการระดมทุนจากการขายหุ้นไอพีโอในครั้งนี้ จะนำไปใช้ใน 3 ส่วน ประกอบด้วย

  1. เป็นเงินลงทุนในการเข้าซื้อกิจการและปรับปรุงทรัพย์สินในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ จำนวน 12 โครงการ ราคาประเมินรวม 25,000 ล้านบาท ได้แก่ โรงแรม 4 แห่งที่เปิดดำเนินการอยู่ และโรงแรมอีก 8 แห่งที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งจะเป็นโครงการใหม่ ๆ ที่เข้ามาเสริมในพอร์ตของ AWC หลังระดมทุนขาย IPO
  2. ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับธนาคาร ซึ่ง ณ สิ้นปี 2561 บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 2.5 เท่า บริษัทมีความตั้งใจจะดูแลโครงสร้างเงินทุนให้แข็งแกร่ง และลดหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  3. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ทั้งพัฒนาและปรับปรุงทรัพย์สินของบริษัท เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนให้กับบริษัทและผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น

 

AWC จ่อเข้าใน SET50 ทันที

แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์รายหนึ่ง กล่าวว่า หุ้นบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เมื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันแรกจบ พอวันรุ่งขึ้นหุ้นจะถูกเลือกให้เข้าคำนวณในดัชนี SET50 ทันที (ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศให้รับทราบก่อน) เนื่องจาก AWC มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปประมาณ 1.92 แสนล้านบาท (คำนวณจาก 32,000 ล้านหุ้น ในราคาไอพีโอหุ้นละ 6 บาท)

ทั้งนี้ ถือว่าเป็นไปตามเกณฑ์ของหุ้นที่จะเข้าคำนวณในดัชนี SET50 ข้อ 4.4 การเปลี่ยนแปลงรายชื่อหลักทรัพย์ระหว่างรอบ และ 4.4.1 หลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนใหม่ (New Issue) และ 4.4.1.1 หากหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนใหม่เป็นหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่ (เช่น เป็นหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะมีมูลค่าตลาดมากกว่า 1% ของมูลค่าตลาดรวมของหลักทรัพย์ที่รวมในการคำนวณ SET Index หรือคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ในช่วง 20 ลำดับแรกของหลักทรัพย์ในดัชนี SET50/ดัชนี SET100) ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำหลักทรัพย์ดังกล่าวมารวมในการคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 โดยจะประกาศให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้าเป็นการทั่วไป ทั้งนี้มาร์เก็ตแคปตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 17.3 ล้านล้านบาท

สำหรับเกณฑ์การเข้าคำนวณในดัชนี SET50 และ SET100 ของตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ จะการทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี SET50 ดัชนี SET100 และดัชนี SETHD จะดำเนินการทุกครึ่งปี ในช่วงเดือนมิถุนายน (สำหรับรายชื่อที่ใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี) โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่ 1 มิถุนายนปีก่อนหน้า ถึง 31 พฤษภาคมของปีที่ทำการคัดเลือก และช่วงเดือนธันวาคม (สำหรับรายชื่อที่ใช้ในช่วงครึ่งแรกของปีถัดไป) โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่ 1 ธันวาคมปีก่อนหน้า ถึง 30 พฤศจิกายนของปีที่ทำการคัดเลือก

ส่วนเกณฑ์ที่นำมาใช้ เช่น เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน, เป็นหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) สูงสุด 200 ลำดับแรก, เป็นหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (Free-float) ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนชำระแล้ว ฯลฯ

 

ทั้งนี้หลังจากหุ้น AWC เข้าคำนวณในดัชนี SET50 แล้วจะต้องมีหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม SET50 ถูกปรับออกมา โดยหากดูเฉพาะมาร์เก็ตแคปที่ต่ำสุดใน SET50 นั้นพบว่า หุ้นธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP มีมาร์เก็ตแคป ณ วันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ลำดับสุดท้ายคือ KKP มูลค่า 57,1585 ล้านบาท, ลำดับถัดขึ้นมา คือ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA มูลค่า 60,498 ล้านบาท และบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP มูลค่า 61,020 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่นำมาใช้เป็นองค์ประกอบคัดเลือกหุ้นเข้าและออกในกลุ่มดัชนี SET50 ด้วย

นอกจากนี้ ตามข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของ AWC ระบุว่า สัดส่วนการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 8,000 ล้านหุ้น จะจัดสรรให้กับนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกันจำนวน 5,661.76 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 82.10% แบ่งเป็นนักลงทุนสถาบันในประเทศ จำนวน 1,887 ล้านหุ้น คิดเป็น 27.84% และนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ จำนวน 3,774.76 ล้านหุ้น คิดเป็น 54.26%

ขณะเดียวกันการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Overallotment Option หรือ Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น มาจากการยืมหุ้นจากนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และธุรกรรมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน อาจทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มนายเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ลดต่ำลงกว่า 75% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นจนถึงหรือมากกว่า 75% เมื่อมีการคืนหุ้นให้นายเจริญฯ ซึ่งจะทำให้นายเจริญ สิริวัฒนภักดี มีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งของ AWC ทั้งหมด (Mandatory Tender Offer)

โดยปัจจุบันนายเจริญจะดำเนินการยื่นคำขอผ่อนผันการทำเทนเดอร์ทั้งหมดของ AWC ซึ่งอาจตกลงกับผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Overallotment Agent) เพื่อปรับลดจำนวนหุ้นที่จะยืม เพื่อที่จะไม่ทำให้นายเจริญมีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ AWC

Back to top button